Site icon Thumbsup

สรุป 10 สถิติไม่ธรรมดา 1 ปี Uber Eats ไทย

Uber Eats เริ่มให้บริการที่กรุงเทพมหานครเมื่อมกราคม 2017 ถือเป็นการแจ้งเกิดหลังจากเริ่มให้บริการครั้งแรกในโลกเมื่อปี 2014 ในโอกาสที่ Uber Eats ครบ 1 ขวบปีเต็ม สถิติไม่ธรรมดาจึงถูกเปิดเผยจนเรียกความสนใจได้จากทุกวงการ

1. กรุงเทพฯเป็นเมืองอันดับ 5 ในเอเชีย ต่อจากสิงคโปร์ โตเกียว ฮ่องกง และไทเป ที่ Uber Eats เปิดให้บริการ ปัจจุบัน Uber Eats ให้บริการในมากกว่า 200 เมือง 80,000 ร้านค้าทั่วโลก

2. สำหรับปีแรกปีเดียวในกทม. Uber Eats จัดส่งอาหารได้มากกว่า 1 ล้านจาน พันธมิตรโตจากที่เริ่มต้น 100 ร้านอาหาร ตอนนี้เป็น 1,300 ร้าน

3. อาหารฮิตที่ถูกสั่งมากที่สุด 4 กลุ่มท็อป คือ 1 อาหารไทย 2 อาหารตะวันตก 3 อาหารญี่ปุ่น 4 อาหารจีน

4. มื้ออาหารยอดนิยมที่ชาว Uber Eats สั่งมากที่สุดคือ:

อันดับ 1 มื้อเสาร์-อาทิตย์ เน้นอาหารพิเศษกว่าวันธรรมดา
อันดับ 2 มื้อเย็น เน้นความหลากหลายของอาหาร จุดนี้ผู้บริหารบอกว่าลูกค้า Uber Eats เน้นชุดเซ็ต ที่ราคาสมเหตุสมผลในมื้อนี้
อันดับ 3 มื้อกลางวัน เน้นอาหารจานเดียว
อันดับ 4 มื้อดึก เน้นอาหารมื้อเบา โจ๊ก ขนมหวาน

5. เมนูนิยมคือ ก๋วยเตี๋ยว ยอดสั่งสูงสุดเกิน 100,000 ชามแล้ว อันดับ 2 คือเบอร์เกอร์ อันดับ 3 คือส้มตำ

6. จุดขายที่ Uber Eats เน้นในปีนี้ คือความง่ายใน 3 ส่วน ได้แก่ แอปพลิเคชันที่ใช้งานง่าย, อาหารที่เลือกได้ง่าย มีหลายระดับ และจุดที่ 3 คือการจัดส่งรวดเร็ว

7. ปีนี้ สิ่งที่ Uber Eats ต้องการจะทำมี 4 ส่วน คือ:

1 “ทุกมื้อทุกวัน” : Uber Eats ต้องการเป็นตัวเลือกที่คนคิดถึงเมื่อหิว ตอบโจทย์การสั่งอาหารทุกรูปแบบ ราคาทุกระดับ
2 “ทุกที่” : Uber Eats มีแผนขยายพื้นที่เต็มกทม. 100% ให้รองรับหลากหลาย
3 ความแม่นยำ : Uber Eats ต้องการให้ลูกค้าติดตามเส้นทางอาหารได้ตลอดเวลา
4 ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี : Uber Eats จะเน้นจัดการข้อมูล เพื่อเสนออาหารที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่ลูกค้าชอบ จุดนี้ลูกค้าสามารถใส่ข้อมูลสิ่งที่ชอบและไม่ชอบในอาหาร ตามที่ต้องการได้ละเอียด

8. พันธมิตรร้านค้าที่ร่วมมือกับ Uber Eats เชื่อว่าได้รับผลดีเรื่องการขยายฐานลูกค้าทั้งหมด โดยสามารถเพิ่มฐานลูกค้าได้ในรัศมีมากกว่า 5 กิโลเมตร

9. Uber Eats มีการจับมือกับกรมธุรกิจการค้า ตอบโจทย์กลุ่ม SME โดยปี 2018 Uber Eats จะประสานงานให้พันธมิตรมีข้อมูลเชิงลึก เพื่อให้ร้านสามารถปรับปรุงตัวเองได้ตามความเห็นของลูกค้า

10. ตลาดเดลิเวอรี่ไทย รวมทั้งกลุ่มออฟไลน์ที่ซื้ออาหารกลับบ้าน พบว่ามีมูลค่ามากกว่า 26,000 ล้านบาทในปี 2017 (ข้อมูลจากยูโรมอนิเตอร์) คาดว่าจะเติบโตอีกในปีนี้