Site icon Thumbsup

ของมันต้องมี หรือคิดไปเอง กลยุทธ์การตลาดเทศกาล 11.11 ที่คุณอาจมองข้าม

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมากระแสช้อปปิ้งออนไลน์ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าได้ผ่านมือถือทั้งง่ายและสะดวก กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยยิ่งกว่าเดิม โดยเฉพาะเทศกาลเลขคู่ตั้งแต่ 1.1 ไปจนถึง 12.12 ที่ธุรกิจและแบรนด์ต่างจัดโปรโมชั่นกระหน่ำลดราคากันอย่างไม่ตกขบวน

ผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็คงไม่อยากพลาดโอกาสสำคัญ ยิ่งมาเจอกับคำโฆษณาอย่าง ‘ลดสูงสุด 90%’, ‘วันนี้วันเดียวเท่านั้น’, ‘FLASH SALE!’ ยิ่งกระตุ้นความอยากได้อยากมี ถ้าพลาดไปก็ต้องจ่ายราคาแพงกว่านี้ ว่าแล้วก็ต้องหยิบของใส่ตระกร้าสินค้าเพิ่ม รู้ตัวอีกทีเงินก็ตัดบัตรไปเสียแล้ว

แต่ถ้ามาคิดดูให้ดีๆ แบรนด์ส่วนใหญ่ก็จัดโปรลดราคาบ่อยอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น New Year Sale, Summer Sale, Mid Year Sale, Winter Sale บางแบรนด์ลดสัปดาห์เว้นสัปดาห์เสียด้วยซ้ำ เลยเกิดคำถามว่าการตัดสินใจซื้อสินค้า แบรนด์เป็นคนกำหนดหรือเราเป็นคนกำหนด

ซื้อทั้งๆ ที่ไม่ได้ต้องการ

ถ้าเราวางแผนจะซื้อหรือมีของที่อยากได้อยู่แล้วก็ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ของในราคาพิเศษ แต่ถ้าไม่ใช่คุณอาจเกิดพฤติกรรมแบบ “FOMO” หรือ Fear Of Missing Out กลัวว่าตัวเองจะตกกระแส หรือพลาดอะไรบางอย่างไป การลดราคาครั้งนี้ก็เช่นกัน ทำให้ใครหลายคนเผลอตัวไปซื้อทั้งๆ ที่ไม่ได้ต้องการ

พฤติกรรมแบบ “FOMO” ลดได้ด้วยการถามตัวเองว่าต้องการซื้อจริงหรือคิดไปเอง เทศกาลลดราคานั้นเป็นเพียงกลยุทธ์การตลาดอย่างหนึ่ง การกำหนดเกณฑ์การช้อปขั้นต่ำเพื่อให้ส่งฟรี การขีดฆ่าราคาเดิมแล้วใส่ราคาใหม่ที่ลดลงด้วยสีแดง การกำหนดระยะเวลาที่ต้องซื้อตอนนี้เท่านั้นถึงจะได้ราคานี้ ทำให้หลายคนคิดว่ายอมจ่ายเงินตอนนี้ หรือเพิ่มเงินอีกไม่กี่บาทก็ได้ของที่คุ้มค่าคุ้มราคา

แต่หากลองหันไปมองรองเท้า กระเป๋า เสื้อผ้ามากมายที่เคยซื้อมาก่อนหน้านี้ ของที่บางอย่างเคยอยากได้สุดๆ ในอดีตอาจกลายเป็นของรกบ้าน ถูกดองอยู่ตามมุมต่างๆ เกะกะจนไม่รู้จะเก็บไว้ตรงไหน คิดย้อนไปก็ได้แต่ตั้งคำถามว่าซื้อมาทำไมนะ

สรุปได้ว่า หากเรากำลังซื้อของที่เราไม่ได้ต้องการหรือจำเป็นต้องมี ก็อาจมองได้ว่าเสียเงินไปเปล่าๆ แม้ว่าดีลจะลดราคาพิเศษแค่ไหนก็ตาม ดังนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อควรชั่งใจคิดให้ดีก่อนว่าของชิ้นนี้สำคัญจริงไหม จำเป็นต้องซื้อตอนนี้เลยรึเปล่า รวมถึงอีกหลายๆ คำถามซึ่งขึ้นอยู่กับสถานะการเงินของของแต่ละคน