Site icon Thumbsup

“ทักษะเฉพาะด้าน + ทักษะทางสังคม” หนทางรอดจากการถูกแย่งงานโดยปัญญาประดิษฐ์

pexels-photo-57825-large-1

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังกังวลว่า งานที่คุณทำอยู่นั้นจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ – ปัญญาประดิษฐ์ – ระบบอัตโนมัติ – หรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้หรือไม่ เรามีผลการศึกษาของ World Economic Forum เกี่ยวกับรูปแบบของงานในอนาคต และทักษะที่จำเป็น ซึ่งจะช่วยให้คุณรอดพ้นจากการถูกแย่งงานโดยหุ่นยนต์มาฝากกันแล้ว

โดยทาง World Economic Forum ได้เปิดเผยผลการศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบงานในอนาคต (Future of Jobs) และระบุว่า ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ นาโนเทคโนโลยี และปัจจัยอื่น ๆ ทางด้านสังคมและเศรษฐกิจจะเป็นตัวแปรที่ทำให้ธุรกิจเลิกจ้างแรงงานคนได้มากถึง 5 ล้านตำแหน่งภายในปี ค.ศ. 2020 เลยทีเดียว

ส่วนข่าวดีก็คือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเหล่านี้จะสร้างตำแหน่งงานใหม่ ๆ ให้กับตลาดได้ถึง 2.1 ล้านตำแหน่งเช่นกัน แต่ตำแหน่งงานที่จะเกิดขึ้นใหม่นี้ล้วนต้องการความสามารถเฉพาะด้านเช่น วิศวกรรมศาสตร์, คณิตศาสตร์, สถาปัตยกรรมศาสตร์ และด้าน Computing ซึ่งหากภาครัฐและองค์กรธุรกิจไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงนี้ ก็เตรียมตัวรอรับวิกฤติที่จะตามมาได้เลย

“ปัญหาใหญ่ที่จะตามมาหากประเทศไม่สามารถปรับตัวได้ทันก็คือ ปัญหาการว่างงาน และปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมจากช่องว่างด้านรายได้ที่ห่างกันออกไปเรื่อย ๆ” Klaus Schwab ผู้ก่อตั้ง และประธาน World Economic Forum เผย

แต่ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นก็คือ เรื่องของทักษะที่คนทำงานในยุคนี้ควรติดอาวุธให้กับตัวเอง เพื่อให้ตนเองนั้นยังมีคุณค่าในยุคต่อไป ทักษะที่ว่านั้นกลับเป็นทักษะด้านสังคมอย่างการแบ่งปัน และการเจรจาต่อรอง ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ David Deming จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเห็นว่า สำคัญไม่แพ้ความสามารถเฉพาะทางอย่างวิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์เลย

เหตุที่กล่าวเช่นนั้นเนื่องจากมีการพบว่า ตำแหน่งงานที่รับเฉพาะผู้มีความสามารถทางคณิตศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียวได้ถูกเลิกจ้างและเปลี่ยนไปใช้งานระบบอัตโนมัติแล้ว ซึ่งผลกระทบส่วนใหญ่เกิดกับลูกจ้างธนาคาร อย่างไรก็ดี งานที่มีผลกระทบน้อยอย่างการเป็นผู้ดูแลเด็กนั้น ก็ใช่ว่าจะเป็นอาชีพที่ปลอดภัยสำหรับอนาคต เนื่องจากมีผู้ที่สามารถทำงานได้ในอาชีพดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการตัดราคาค่าแรงกันนั่นเอง

ทางออกของปัญหานี้จึงอาจต้องหวังพึ่งสถาบันการศึกษาและครอบครัวในการสร้างสมดุลให้กับเด็ก ๆ ในด้านการพัฒนาทักษะทางคณิตศาสตร์ – วิศวกรรมศาสตร์ – สถาปัตยกรรมศาสตร์ – การเขียนโปรแกรมควบคู่กับการพัฒนาทักษะทางด้านสังคม เช่น การแบ่งปัน การอยู่ร่วมกับผู้อื่น การทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นสิ่งที่ปัญญาประดิษฐ์ยังเรียนรู้ไม่ได้นั่นเอง

ที่มา World Economic Forum