Site icon Thumbsup

ประเมินภาพ “โซเชียลอีคอมเมิร์ซ” ไทยประจำปี 2013

RoSC_Graphic_FINAL-720x320

ปี 2013 เป็นปีที่หลายคนยอมรับว่าวงการ social e-commerce ในประเทศไทยนั้นขยายตัวชัดเจน ผลจากบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนอุปกรณ์พกพาอย่าง 3G และอัตราการใช้งานโทรศัพท์มือถือมากกว่า 131% ของประชากรรวม บนสัดส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศมากกว่า 52 ล้านราย

เพื่อประเมินภาพรวมในปีนี้ สำนักข่าว Tech in Asia จึงนำข้อมูลจากสมาคมอีคอมเมิร์ซไทย (Thai E-Commerce Association) มาประมวลให้เราเห็นอีกครั้งว่า ธุรกิจออนไลน์และบริการอีคอมเมิร์ซจะเติบโตมากกว่า 30% ในปี 2013 เพิ่มขึ้นจาก 119 แสนล้านบาทในปี 2012

รายงานระบุว่า 1 ใน 4 เทรนด์โซเชียลอีคอมเมิร์ซที่เป็นทิศทางร้อนแรงในปี 2013 ที่ผ่านมาคือ F-commerce หรือการค้าขายบนเครือข่ายสังคม Facebook ผลจากผู้ใช้งาน Facebook ในไทยมากกว่า 24 ล้านคน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ใช้จะสรรหากิจกรรมนอกเหนือจากการแชร์ภาพหรืออ่านโพสต์ จุดนี้น่าเสียดายที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลว่า ผู้ใช้ Facebook ไทยนั้นสร้างเพจขึ้นมาค้าขายในปี 2013 มากกว่าปี 2012 เท่าใด แม้จะเห็นได้ชัดว่าผู้ประกอบการไทยวางจำหน่ายสินค้าหลากหลายบน Facebook และลงโฆษณาบน Facebook ต่อเนื่อง

เทรนด์อันดับ 2 คือการเติบโตของ Instagram commerce แรงผลักดันสำคัญของเทรนด์นี้คือความนิยมของ Instagram ที่ดูเหมือนจะไม่แพ้ Facebook ข้อมูลล่าสุดระบุว่า Instagram มีผู้ใช้มากกว่า 1.4 ล้านคนในประเทศไทย ทำให้คนไทยพยายามเปลี่ยน Instagram เป็นร้านจำหน่ายเสื้อผ้าหรือแม้แต่วิตามิน แถมห้างในกรุงเทพฯยังเป็นสถานที่ยอดนิยมที่ผู้ใช้ถ่ายภาพแล้วอัปโหลดขึ้นสู่ Instagram ประจำปี 2013 ด้วย

เช่นเดียวกับ 2 เทรนด์ที่แล้ว เทรนด์อันดับ 3 อย่าง M-commerce หรือการค้าผ่านระบบอุปกรณ์โมบายนั้นเป็นทิศทางที่เติบโตทั่วภูมิภาคไม่เฉพาะประเทศไทย จุดนี้สำนัก Tech in Asia ยกตำแหน่งราชา m-commerce ในไทยขณะนี้ให้ Line แอพพลิเคชันรับส่งข้อความแชตที่พิสูจน์ให้โลกเห็นมาแล้วว่าสามารถใช้เป็นแหล่งค้าขายสินค้าได้จริงและได้ผลดี

ในจำนวนผู้ใช้ Line มากกว่า 230 ล้านคนทั่วโลก ผู้ใช้ที่อยู่ในประเทศไทยนั้นมีมากกว่า 18 ล้านคน ถือเป็นตัวเลขที่รองจากประเทศผู้ใช้งาน Line มากที่สุดอย่างญี่ปุ่นเท่านั้น

เทรนด์ที่ 4 คือ Specialist e-commerce รายงานระบุว่าปี 2013 คือปีที่ร้านค้าประเภท specialist e-store ซึ่งเป็นร้านออนไลน์ที่จำหน่ายและให้คำแนะนำแก่ผู้บริโภคแบบเฉพาะทางนั้นก่อตั้งขึ้นในประเทศไทยแบบมากหน้าหลายตา โดยเทรนด์นี้เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นแล้วในเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ก เกาหลี หรือญี่ปุ่น สำหรับไทย เชื่อว่าเทรนด์นี้จะมาแรงแน่เพราะสามารถลดความกังวลเรื่องการจ่ายเงินออนไลน์ของผู้บริโภคในไทยได้ รวมถึงการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับผู้ค้าในไทยด้วย

ที่มา : Tech in Asia