Site icon Thumbsup

3 วิธีใช้ “VR” พลิกแบรนด์ให้มีชัยในเชิงธุรกิจ

ตัวอย่างการใช้งานแว่น HoloLens จาก Microsoft หนึ่งในผู้พัฒนาเทคโนโลยี VR ในปัจจุบัน
ตัวอย่างการใช้งานแว่น HoloLens จาก Microsoft หนึ่งในผู้พัฒนาเทคโนโลยี VR ในปัจจุบัน

ประเด็นของ Virtual Reality เป็นที่พูดถึงกันมาอย่างต่อเนื่องในโลกเทคโนโลยี ซึ่งค่ายยักษ์ใหญ่ส่วนมากต่างมองเห็นถึงศักยภาพ “เปลี่ยนโลก” ของ VR กันทั่วหน้า และมีการลงทุนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น Google, Microsoft, Facebook, Sony, Samsung, HTC ฯลฯ

แต่ในมุมมองของผู้บริโภค ภาพของการใช้งาน VR ในเชิงพาณิชย์ได้แจ่มชัดขึ้นมากใน พ.ศ. นี้ ทั้งจากการมาถึงของภาพยนตร์เรื่อง “Demolition Man” หรือเกม Pokemon Go ซึ่งนี่จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้มองทะลุเข้าไปถึงเทคโนโลยี VR ว่าจะสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง ได้แก่

1. ใช้ VR ดึงดูดใจผู้บริโภค

กรณีของ Pokemon Go เป็นตัวอย่างที่ดี เมื่อในปัจจุบันเริ่มมีภาคธุรกิจใช้เกมดังกล่าวดึงดูดผู้บริโภคให้เข้ามายังร้านค้าของตนเองมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น อาจมีร้านกาแฟร้านหนึ่งปรากฏขึ้นในเกมและนำเสนอเมนูกาแฟให้แก่ผู้เล่นภายในเกม ซึ่งเมนูกาแฟนี้อาจทำให้ผู้บริโภครู้สึกอยากลองสั่งกาแฟจากร้าน ๆ นี้ในโลกแห่งความเป็นจริงขึ้นบ้างก็ได้

2. การได้ทดลองก่อนซื้อ

เทคโนโลยี VR คือตัวช่วยชั้นดีของภาคธุรกิจในการดึงดูดใจ และเสนอให้ผู้บริโภคได้ทดลองก่อนซื้อไปใช้งาน ยกตัวอย่างเช่น ค่าย Audi ที่ให้ลูกค้าทดลองขับรถผ่านเทคโนโลยี VR ซึ่งสามารถทดลองขับได้หลายรุ่น รวมถึงยังสามารถนำเสนอออปชันที่กำลังพัฒนาอยู่ใส่ลงไปให้ลูกค้าได้เห็นก่อนก็ได้เช่นกัน นอกจากนั้น VR ยังทำให้การทดลองขับรถในสภาพเช่น ขับรถบนพื้นผิวดวงจันทร์ หรือขับรถออฟโรด ฯลฯ เป็นจริงได้อย่างง่ายดาย

หรือในกรณีอย่างการซื้อบ้านสักหลัง หรือการจองที่พักตากอากาศ ซึ่งในอดีต ผู้บริโภคทราบดีว่า เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วกับการจะได้สัมผัสบรรยากาศจริงก่อนจ่ายเงิน แต่ด้วยเทคโนโลยี VR ผู้บริโภคในยุคต่อไปจะสามารถมองเห็นภาพของโปรดักซ์ได้ก่อน ทั้งการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงออปชันต่าง ๆ ของบ้าน – ที่พักนั้น ๆ

3. ใช้ VR สร้างประสบการณ์พิเศษ

ด้วยเทคโนโลยี VR ธุรกิจสามารถสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภคเกิดความประทับใจในตัวโปรดักซ์ได้มากขึ้น เช่นกรณีของ Patron ผู้ผลิตเตกีล่าที่ถ่ายทอดประสบการณ์ในการผลิตเตกีล่าผ่านมุมมองของผึ้งให้ลูกค้าได้ชม หรือกรณีของ The North Face (แบรนด์ผลิตภัณฑ์เพื่อกิจกรรม Outdoor) ที่ให้ผู้บริโภคได้สัมผัสประสบการณ์ฤดูหนาวของเนปาลได้ เป็นต้น ซึ่งในอนาคต การสร้างประสบการณ์ผ่านอุปกรณ์ VR นี้จะกลายเป็นโปรดักซ์ทางการตลาดที่สำคัญของภาคธุรกิจ

แต่คำทำนายนี้จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อ ต้นทุนในการใช้งานเทคโนโลยีลดลงมากกว่านี้ เพราะปัจจุบัน ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กยังไม่สามารถเข้าถึง VR ได้เพราะมีต้นทุนที่สูงกว่างบประมาณของธุรกิจขนาดเล็กนั่นเอง

ที่มา inc