Site icon Thumbsup

เปิดผลประกอบการ 4 สายการบิน ขาดทุนยับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563

วิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้กระทบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างหนัก โดยเฉพาะ ‘สายการบิน’ ที่ไม่สามารถให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศได้ในช่วงไตรมาส 2 และไม่สามารถให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศได้จนปัจจุบัน

สะท้อนได้จากผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 โดยทั้ง 4 สายการบินยังเผชิญกับตัวเลขที่ติดลบ ซึ่งอาจต่อเนื่องไปจนถึงปี 2564 หากยังไม่มีมาตรการรองรับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติเพิ่มเติม

เริ่มที่การบินไทย แม้ว่าจะเข้ากระบวนการล้มละลายเพื่อฟื้นฟูกิจการ พร้อมกับหารายได้มาประคองหลายช่องทาง แต่ดูเหมือนว่าการดำเนินธุรกิจยังไม่เป็นที่น่าพอใจสักเท่าไหร่นัก โดยผลประกอบการในไตรมาส 3/2563 พบว่ามีรายได้รวมอยู่ที่ 3,727 ล้านบาท ลดลง 91% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน และบริษัทมีการดำเนินขาดทุนสุทธิ 21,536 ล้านบาท รวมผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรกขาดทุน 49,560 ล้านบาท

ส่วนไทยแอร์เอเชีย มีผลประกอบการในไตรมาส 3/2563 มีรายได้รวมอยู่ที่ 2,403.2 ล้านบาท ลดลง 75% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน และบริษัทขาดทุนอยู่ที่ 1,836.8 ล้านบาท รวมผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรกขาดทุน 3,719 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ธุรกิจของไทยแอร์เอเชียเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวดูได้จากรายได้ในไตรมาส 3/2563 ที่เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้

ด้านสายการบินบางกอกแอร์เวย์ในไตรมาส 3/2563 มีรายได้รวมอยู่ที่ 903 ล้านบาท ลดลง 86.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน และขาดทุนอยู่ที่ 1,569 ล้านบาท ลดลง 2,805% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน รวมผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรกขาดทุน 4,882 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทได้กลับมาเปิดเส้นทางการบินภายในประเทศเป็นหลัก พร้อมกับปรับแผนเส้นทางบิน และเพิ่มเที่ยวบินให้มีความเหมาะสมต่อความต้องการเดินทาง

สุดท้ายสายการบินนกแอร์  มีผลประกอบการในไตรมาส 3/2563 ขาดทุนสุทธิ 1,466.66 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 134.89% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 624.40 ล้านบาท ส่งผลให้งวด 9 เดือน มีผลขาดทุน 3,935.96 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 143.66% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีผลขาดทุน 1,615.31 ล้านบาท

สาเหตุของการขาดทุนมาจากหลายปัจจัย

จำนวนผู้โดยสาร สถานการณ์โควิด-19 ทำให้จำนวนผู้โดยสารทางอากาศโดยรวมทั้งภายในและระหว่างประเทศลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

การแข่งขันภายในประเทศ อัตราการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการสายการบินทุกสายการบินได้ถูกจำกัดการบินเพียงภายในประเทศ อันเป็นผลให้ราคาค่าตั๋วและอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารลดลง

แม้ว่าธุรกิจสายการบินจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ราคาหุ้นขึ้นตอบรับกับข่าวดีของการพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 แต่ในระยะยาวแล้ว บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (ทอท.) คาดการณ์ว่าวิกฤตครั้งนี้จะยังส่งผลกระทบไปอีกอย่างน้อยถึงปี 2565 กว่าที่จำนวนผู้โดยสารจะกลับมาสู่ภาวะก่อนเชื้อไวรัสระบาด