Site icon Thumbsup

ฟัง 4 มุมมองผู้เชี่ยวชาญ ร่าง พ.ร.บ. อีคอมเมิร์ซไม่ตอบโจทย์ธุรกิจ e-Business จริงหรือ (2)

ฟังจากมุมที่ 1 ซึ่งเป็นทัศนะของคุณวรวุฒิ อุ่นใจเกี่ยวกับมุมมองของภาคเอกชนในเรื่องที่น่ากังวลใจเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่…) พ.ศ. ….” หรือ พ.ร.บ. อีคอมเมิร์ซ กันไปแล้ว ต่อไปเป็นมุมมองจากคุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ TARAD.com ที่จะมาบอกว่า ภาครัฐควรหาตัวจริงเข้ามาทำงาน พร้อม ๆ กับ “สื่อสาร” กับภาคเอกชนและประชาชนให้มากขึ้น 

“อยากให้ภาครัฐมีตัวจริงของคนที่ทำด้านอีคอมเมิร์ซเข้ามา หรืออย่างน้อยก็ขอให้เคยซื้อของอีคอมเมิร์ซบ้าง เคยส่งของบ้าง เพราะคนที่จะมาผลักดันด้านอีคอมเมิร์ซแต่ไม่เคยซื้อของทางอีคอมเมิร์ซเลย มันก็จะผลักดันได้ยากมาก ๆ” 

คอมเมนท์จากคุณภาวุธเปรียบได้กับการมองภาครัฐที่ยิ่งใหญ่ด้วยอำนาจแต่ก็เหมือนตาบอดเพราะมองเทรนด์อนาคตได้ไม่ชัดเจน ทำให้ไม่รู้ว่าจะเดินทางไหนดี กับภาคเอกชนที่รู้ว่่าควรจะเดินทางไหนดี แต่ไม่มีอำนาจมากเท่า ซึ่งถ้าสองทีมนี้จับมือกันได้ก็มีโอกาสรอดมากขึ้นนั่นเอง

คุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ TARAD.com

“เรามีเฟรมเวิร์กด้านอีคอมเมิร์ซแล้ว แต่ที่อยากเสริมคืออยากให้เอกชนเข้ามาทำงานกันให้มาก ๆ เมื่อเอกชนใกล้รัฐ เราสามารถบอกได้ว่า เทคโนโลยีนี้กำลังมาแล้วนะ เอาเข้ามาใช้ไหม ผมว่ารัฐตอนนี้รับฟังนะ แล้วเอกชนก็ต้องกล้าบอก ซึ่งการเดินไปด้วยกันในลักษณะนี้ ผมว่าเราไปรอด”

“ที่ผ่านมาเราไม่ได้คุยกัน รัฐจะออกกฎหมายอะไรบางอย่าง เอกชนก็แบบ จะออกมาทำไม ดังนั้นเราต้องสื่อสารกันให้มากขึ้น ยิ่งสื่อสารกันมากขึ้นจะยิ่งเข้าใจกัน รวมถึงต้องมีการออกแบบโครงสร้างบางอย่างให้เอกชนเข้ามาทำงานกับรัฐให้มากขึ้นด้วย”

จุดที่คุณภาวุธมองเห็นและอยากให้ได้รับการสนับสนุนให้เข้ามาช่วยงานภาครัฐให้มากขึ้นคือบรรดาสตาร์ทอัปของไทยที่หลายทีมมีความสามารถไม่เป็นรองต่างชาติ แต่เด็กกลุ่มนี้ ปัจจุบันยังไม่มีโอกาสหรือพื้นที่ดี ๆ ให้ได้แสดงความสามารถกับภาครัฐ ซึ่งคุณภาวุธเชื่อว่าหากดึงเข้ามาได้ ประเทศไทยจะมีการพัฒนาที่ก้าวกระโดดได้เลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในขณะที่โลกกำลังหมุนไปเรื่อย ๆ และการแข่งขันก็ดุเดือดขึ้นเรื่อย ๆ นั้น อีกสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปก็คือไลฟ์สไตล์ของคนไทยที่ยึดโยงเข้ากับ Social Media มากขึ้น ซึ่งในจุดนี้ คุณไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ได้ชี้ว่า คนในแต่ละ Gen กำลังมี Social Media ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตัวเองกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น YouTube, Facebook, LINE ฯลฯ ซึ่งเมื่อคนไปอยู่กันบน Social Media มากขึ้น คดีความก็เกิดบน Social Media มากขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง ซึ่งถือเป็นความท้าทายของนักกฎหมายสมัยใหม่มากว่าจะเตรียมพร้อมกับพยานหลักฐานดิจิทัลอย่างไร

คุณไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ

“กฎหมายยังเป็นหมิ่นประมาทเหมือนเดิม แต่ปัญหาก็คือ เวลามีคดีความหมิ่นประมาท เรารู้ไหมว่าบนโลกอินเทอร์เน็ต คน ๆ นั้นเป็นใคร หรือในกรณีของการต้องสืบพยานในชั้นศาล ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานที่ดูแลหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นทางการ รวมถึงไม่มีผู้เชี่ยวชาญสำหรับตรวจสอบหลักฐานในชั้นศาล ดังนั้น เราจะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรินท์ออกมานั้น ไม่ได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลง”

นอกจากนั้น คุณไพบูลย์ยังได้ชี้ถึง 2 ส่วนในด้านกฎหมายที่ต้องได้รับการอัปเดตอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถตามทันกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นั่นคือ ความรู้ความเข้าใจของบุคลากรด้านยุติธรรม เช่น ผู้พิพากษา เกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยี และอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ ที่ต้องได้รับการอัปเดตอย่างต่อเนื่องด้วย โดยการอัปเดตนั้น บางครั้งอาจต้องเริ่มจากเรื่องพื้นฐานเช่น การใช้งาน Facebook, การรู้จักกับคุ้กกี้ หรือการถูกเจาะระบบ (Hack) กันเลยทีเดียว

สุดท้ายกับคุณมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ประจำสำนักประธานศาลฎีกาที่ออกมาชี้เลยว่า ศาลเองก็กำลังได้รับผลกระทบจากการมาถึงของเทคโนโลยีในแง่มุมต่าง ๆ เช่นกัน

“ตอนนี้ e ทุกอย่าง ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเรา เป็นพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ทั้งหมด ปัญหาของศาลคือคดีที่ใช้หลักฐานดิจิทัลจะมาที่ศาลไหนก็ได้ จึงถือเป็นความท้าทายว่าเราจะฝึกผู้พิพากษาทั้ง 4,500 คนให้เข้าใจกฎหมายใหม่ ๆ ทุกเรื่องได้อย่างไร หรือต่อไปเราจะมีรถที่รับส่งคนได้โดยที่ไม่มีคนขับ ถามว่าความรับผิดตรงนี้จะเป็นอย่างไรถ้าหากเกิดการเฉี่ยวชน หรืออุบัติเหตุ เช่นเดียวกับท่านที่สวมกำไลข้อมือสุขภาพ ถ้ามันบอกว่า คุณต้องกินน้ำตาลเพิ่ม ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ น้ำตาลคุณสูงอยู่แล้ว กรณีแบบนี้ใครรับผิด และรับผิดอย่างไร”

“ผู้เชี่ยวชาญบ้านเราที่จะพิสูจน์หลักฐานดิจิทัลยังขาดแคลน และระบบในการหาพยานหลักฐานดิจิทัลก็ยังเป็นปัญหา ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถส่งผลต่อคำตัดสินของศาลได้”

อย่างไรก็ดี ศาลได้มีการพัฒนาระบบต่าง ๆ เพื่อเสริมการทำงานของศาลในยุคอิเล็กทรอนิกส์อยู่มากมาย เช่น ระบบบันทึกเสียง – ระบบบันทึกภาพ ไปจนถึงห้องพิจารณาคดีความอิเล็กทรอนิกส์

คุณมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ประจำสำนักประธานศาลฎีกา

จากภาพรวมทั้งหมดนำมาสู่บทสรุปจากคุณไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติที่เราเชื่อว่าหลาย ๆ ฝ่ายควรต้องหันมาฟังนั่นคือการเรียกร้องให้เกิดการรวมศูนย์ รวมหน่วยงานเข้ามาทำงานร่วมกันภายใต้แม่ทัพอย่าง ETDA ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ซ้ำซ้อน ไม่ต่างคนต่างทำแล้ว ยังเป็นการจัดทัพด้าน e-Business ที่เหมาะสมทั้งด้านบุคลากร และความเชี่ยวชาญด้วย

“ต้องบอกว่าธุรกิจ e-Business นั้น Generation-Gap มีผลอย่างมาก คนยุค BabyBoomer กำลังออกกฎให้กับคน Gen Y, Z ปฏิบัติ มันจูนกันไม่ลง และผมเชื่อว่าปัญหานี้จะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย ถ้ารัฐบาล Handle ไม่ดี เราคงไม่อยากให้ Gen Y – Z เป็น Gen ที่เกลียดรัฐบาลที่สุด หรือเป็นกลุ่มที่ไม่เข้าใจรัฐบาล และรัฐบาลก็ไม่เข้าใจเขา สิ่งเหล่านี้ผมว่ารัฐบาลต้องจูนให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น คนที่ประกอบธุรกิจ e-Business มีส่วนในการออกกฎน้อยมาก ๆ และคนที่ออกกฎก็คือคนที่ไม่เข้าใจธุรกิจของเราเลย แต่ออกกฎหมดเลย ให้เราต้องเดินตามทุกอย่าง” 

“ถามว่า ผู้ประกอบการไทยจะแข่งกับต่างชาติได้ไหม ตอบเลยว่าไม่ได้ เพราะกฎกติกาเราก็ถูกเขียนมาให้แพ้ตั้งแต่ต้นแล้ว สิ่งที่เราเอกชนมองก็คือ ทำอย่างไรให้รัฐเข้าใจเอกชน ทำอย่างไรให้เรามีแต้มต่อเหมือนที่ผู้ประกอบการสิงคโปร์ – ไต้หวัน – จีนมี แต่เรื่องนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้ารัฐไม่เปิดให้คนรุ่นใหม่เข้าไปนำเสนอ” 

ย้อนกลับไปอ่านภาค 1