Site icon Thumbsup

4 ปัจจัยที่ทำให้ Startup ล้มเหลว

ช่วงนี้ขอเกาะกระแส “Taamkru” Startup เนื้อหอมที่เพิ่งประสบความสำเร็จ ได้รับเงินลงทุนมูลค่า 620,000 เหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ19.8 ล้านบาท) เห็นเคสที่ประสบความสำเร็จแล้ว ก็มาดูปัจจัยที่ทำให้ไม่สำเร็จจาก entrepreneur.com กันบ้าง

การเริ่มต้นทำธุรกิจอาจจะเป็นหนึ่งในเรื่องที่ยากที่สุดที่คุณเคยทำ ไม่ต้องพูดถึงรายได้พันล้านเหรียญ เพียงแค่ทำให้มันดูเหมือนจะประสบความสำเร็จบ้างก็เป็นเรื่องไม่ง่ายแล้ว ดูเหมือนว่าความล้มเหลวจำนวนมากที่เกิดขึ้นในโลกของ Startup จะมีที่มาจากหลายสาเหตุ แต่ โดยมากแล้วมันก็ไม่พ้นปัญหา 4 อย่างนี้หรอก

1. คุณผลิตสินค้าผิด
ความผิดพลาดที่ใหญ่ที่สุดที่เจ้าของธุรกิจคนหนึ่งจะทำได้คือการพยายามขายอะไรที่ตลาดไม่ต้องการ เมื่อคุณเริ่มคิดไปเองเกี่ยวกับความต้องการของผู้คน นั่นหมายถึงคุณกำลังฆ่าตัวตายทางธุรกิจ การเข้าไปหา insight จากพฤติกรรมของผู้ใช้งานหรือกลุ่มคนที่เราอยากได้มาเป็นลูกค้าคือหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการที่จะสร้างอะไรบางอย่างที่คนยอมจ่ายเงินเพื่อมันหรือใช้มัน

คุณต้องทำการบ้านอย่างหนัก ออกไปข้างนอก พูดคุยกับผู้คนว่าคุณกำลังจะทำอะไร แล้วถามพวกเขาว่าจะใช้มันหรือไม่ การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการในตัวผลิตภัณฑ์ให้มากพอก่อนที่จะลงมือทำมันออกมาจะช่วยลดความเสี่ยงได้มากในการทำให้ผู้คนหันมาใช้มัน

Startup เจ๋งๆ ส่วนมากจะเริ่มจากอะไรที่ผู้ก่อตั้งมี Passion ที่จะสร้างมันขึ้นมา ลองเริ่มหาไอเดียจากอะไรที่คุณต้องการ เอาไปทดสอบกับคนอื่นๆ และโฟกัสไปที่การทำให้มันยอดเยี่ยม

2. คุณไม่สามารถปรับตัวหรือเปลี่ยนทิศทางได้เมื่อจำเป็น
เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลง แต่คุณไม่หยุดทำตามไอเดียตั้งต้นแล้วหันไปทำอะไรที่ควรจะทำเสียก่อน นั่นเป็นสัญญาณว่าจุดจบใกล้เข้ามาแล้ว

Startup ส่วนมากที่ล้มเหลวมักจะมีเป้าหมายที่แน่ชัดมากเกินไป มากจนเปลี่ยนแปลงไม่ได้ สิ่งที่จำเป็นคือแผนที่ปรับเปลี่ยนได้ตามสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทหน้าที่ ผู้นำ เป้าหมาย และทีมงาน ต้องเปิดรับข้อตกลงใหม่ๆ ในกรณีที่อะไรๆ ไม่เป็นไปปตามแผนที่วางไว้แต่แรก และส่วนมากมันก็ไม่เป็นไปตามแผนนั่นแหละ

แล้วเป้าหมายทางธุรกิจของคุณควรจะยืดหยุ่นแค่ไหน? Startup ที่ประสบความสำเร็จจะสามารถเปลี่ยนทิศทางและไอเดียเกี่ยวกับความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้งาน การปรับเปลี่ยนเล็กๆ น้อยๆ ในสิ่งที่เราอยากจะขายมันไม่ใช่เรื่องแปลกหรอก

3. ตลาดของคุณไม่ใหญ่พอ
ถ้าอยากประสบความสำเร็จ คุณต้องมีตลาดที่ใหญ่พอ แล้วตลาดของคุณในตอนนี้ใหญ่แค่ไหนล่ะ? คุณจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไรในตลาดที่มันไม่โตขึ้นจริงๆ ? คุณอาจจะสร้างผลิตภัณฑ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจได้ แต่ถ้าตลาดของคุณมันไม่โตขึ้น มันก็เป็นอุปสรรคต่อการรักษาธุรกิจอยู่ดี

เจ้าของธุรกิจบางคนเชื่อว่าโอกาสทางการตลาดนั้นอาจจะซ่อนอยู่และพร้อมที่จะเติบโตขึ้นมา ดังนั้นพวกเขาจึงกระโดดเข้ามาในตลาดนั้น  ความเป็นจริงก็คือมันมีเหตุผลดีๆ มากมายว่าทำไมตลาดนั้นจึงไม่ดึงดูดให้ Startup ลงมาเล่น สิ่งที่ควรทำคือลงมือสำรวจและเกาะให้ติดตลาดที่มีโอกาสจะเติบโตได้

4  คุณใช้เงินจำนวนมากเร็วเกินไป
การระดมทุนคือขั้นตอนที่ยาก และ Startup ส่วนมากก็ไม่ประสบความสำเร็จในขั้นตอนนี้เลยด้วยซ้ำ ถ้าธุรกิจ Startup ของคุณใช้เงินมากเกินไป และคุณก็ยังไม่รู้ว่าจะหาเงินทุนก้อนใหม่ได้เมื่อไร คุณควรจะกังวลได้แล้วนะเพราะการใช้เงินแบบไม่คิดหน้าคิดหลังไม่ควรจะเกิดขึ้นในธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ

ถ้าคุณรู้เส้นทางที่จะเดินต่อและรู้ว่าเงินกำลังจะหมดลง สิ่งที่ควรทำคือแผนสำหรับกอบกู้สถานการณ์นั้น โฟกัสไปที่การควบคุมค่าใช้จ่าย เรื่องตลกคือ Startup ส่วนมากจะควบคุมค่าใช้จ่ายก่อนที่จะได้รับเงินลงทุน แต่ทันทีที่พวกเขาได้เงินมาแล้ว ความประหยัดก็หายวับไปในทันที