Site icon Thumbsup

4 ข้อคิดก่อนทำการตลาดด้วยเกมบน Facebook

editorial note: บทความนี้คือบทความพิเศษ (ที่เราเรียกว่า Guest Post) จาก BankDebuzโดย ส่งมาให้กองบรรณาธิการ thumbsup อัพโหลดขึ้นให้ชาว thumbsuper โดยเฉพาะ สิ่งที่เขาเขียน ไม่สะท้อนแนวคิดของกองบรรณาธิการ thumbsup เป็นเพียงมุมมองของคนทำงานคนหนึ่งที่ผ่านงานมาอย่างเชี่ยวกรากโดยตรงกับ อุตสาหรรมเกม และ Digital Content ที่ต้องการแบ่งปันความคิดผ่านทางบทความ ข่าว ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกมไทยให้สื่อหลักที่ ไม่ใช่สื่อเกมได้รับรู้ ว่าแล้วก็อ่านกันได้โดยพลัน

ช่วงนี้กระแสการใช้ Facebook พื่อเป็นสื่อในการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้ากำลังมาแรง และเป็นที่นิยมในหลายๆ สินค้าและบริการ ทำให้การใช้เพียงแค่ Page บน Facebook ก็ดูธรรมดาเกินไป เนื่องจากไม่มีลูกเล่นไม่สามารถทำอะไรได้มาก หลายๆ หน่วยงานจึงจ้างนักพัฒนาให้พัฒนา App บน Facebook ให้เพื่อสามารถนำเสนอตรงใจแก่บรรดานักการตลาดทั้งหลาย และ App ประเภทที่ถูกจริตเหล่านักการตลาดทั้งหลายค้นไม่พ้น?เกม?

ผมได้รับโทรศัพท์แทบทุกๆ สัปดาห์ให้ช่วยเข้าไปนำเสนอการทำเกมบน Facebook ให้หน่วยงานต่างๆ บทสนทนามักจะเริ่มต้นว่าราคาเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะถามราคาก่อนคุยรายละเอียด ผมก็มักตอบไปว่าบอกไม่ถูกต้องคุยรายละเอียดกันว่าประมาณไหน ?ก็อย่างอสุราหรือPetsWarเนี่ยต้นทุนเท่าไหร่? ผมก็เลยบอกไปว่าถ้าอสุราก็ 10 ล้านถ้า PetsWar ก็ 1 ? 2 ล้านบาท จากนั้นคนที่โทรมาก็วางสาย ส่วนใหญ่ถ้าโทรมาหาแล้วเจอผม ฟังผมพูดซะจนเลิกคิดทำไปหลายบริษัทแล้ว สำหรับหน่วยงานใดที่ไม่ได้สนใจการใช้เกมบน Facebook ให้มีประสิทธิผล ต้องการเพียงไม่ให้หน่วยงานของท่านตกกระแส ขอแค่มีเกมขึ้นมาเพื่อไม่ให้เจ้านายด่า หรือเพื่อแค่ให้ไม่น้อยหน้าบริษัทอื่น หรือแค่สร้าง Brand Awareness ไม่คิดจะขายของจริงๆ จังๆ หรือใช้เพื่อทำ CRM บทความนี้ไม่มีความจำเป็นอะไรครับผ่านไปสนใจเรื่องอื่นดีกว่า แต่ถ้าหากสนใจในผลลัพธ์ว่ามันจะต้องช่วยขายของได้จริง ช่วยให้ลูกค้าประทับใจบทความนี้จำเป็นอย่างที่สุด

1. ควรจ้างบริษัททำเกมอย่าจ้างบริษัททำเว็บ
คนส่วนใหญ่จะเข้าใจเอาเองว่าการทำแอพพลิเคชั่นบน Facebook ก็ไม่ต่างอะไรกับการทำเว็บ ภาษาที่ใช้พัฒนาก็ไม่พ้น HTML JavaScript หรือ Flash มีการใช้ฐานข้อมูล MySQL บริษัทดิจิตอลเอเจนซี่ทั้งหลายส่วนใหญ่รับงานมาก็เลยมาจ้างบริษัททำเว็บต่ออีกที นึกว่าหมู ที่ไหนได้ ผมเคยเห็นเกม Facebook ที่ลงทุนไปเป็นล้านแต่จ้างบริษัทที่ไม่มีประสบการณ์การทำเกมอย่างจริงจัง ทุกวันนี้เกมยังเปิดไม่ได้เลย อยากจะบอกว่าเกมอย่าง FarmVille ที่ดูเหมือนง่ายๆ ไม่มีอะไร จริงๆ มันก็คือเกมออนไลน์ดีๆ นี่เองซึ่งในทางเทคนิคเราต้องออกแบบระบบให้รองรับผู้เล่นพร้อมกันมากๆ หากออกแบบเหมือนทำเว็บธรรมดารับรองจอดสนิทอย่าคิดเปิดเลย ที่สำคัญบริษัทที่ทำเกมเขาจะรู้จักกลไกของเกมที่ทำให้เกมสนุกเรื่องพวกนี้ถ้าไม่เข้าใจมันเลยก็จะมานั่งงงว่าเกมเราก็หน้าตาดี กระแสก็แรง คนก็มาเล่นเยอะ แต่ทำไมคนมาเล่นกันแป็บๆ ก็เลิก

2. เตรียมงบประมาณสำหรับการประชาสัมพันธ์ไว้ด้วย
?ทำเกมแบบที่ว่าไม่ยากครับ แต่หาคนมาเล่นยากกว่า พี่มีงบทำประชาสัมพันธ์เกมแค่ไหนเอ่ย? นี่คือประโยคมาตรฐานของผมที่ดับฝันนักการตลาดมานักต่อนัก หลายคนจะคิดอยากได้เกมคล้ายๆ FarmVille มาใช้กับสินค้าตัวเองคนก็จะแห่แหนเข้ามาใช้สินค้าหรือบริการคุณอย่างล้นทะลัก ขอเถอะครับเกมสารพัด Farm เนี่ยคนเขาไม่มาเล่นหรอกไปเล่นตัวต้นฉบับไม่ดีกว่าเหรอ ถ้าจะมาเล่นเพราะเอาของมาแจกมาล่อ ไม่ต้องทำเกมก็ได้ผลเหมือนกันไม่เปลืองเงินด้วยถ้าคนเขามาเล่นเพราะแจกของ ขนาด Zynga เจ้าพ่อเกมยังต้องมีงบโฆษณาให้คนมาเล่นเกมเลย อย่าคิดว่ามีเกมแล้วคนจะตื่นเต้นอยากเล่นเกมจนแห่เข้ามานะครับ ปีก่อนมีเกมสำหรับเครื่องดื่มยี่ห้อหนึ่ง นั่นเขามีลงโฆษณาทีวีพร้อมกับผลิตภัณฑ์ด้วยนะครับถ้าไม่มีการลงโฆษณาระดับนั้นก็หาคนเล่นได้ยาก

3. ผู้บริหารระดับสูงต้องสนับสนุน
?ผมว่าน่าจะมีของมาแจกบ้างนะครับ พี่จะเอาอะไรมาแจก? หลายครั้งฝ่ายการตลาดไม่มีอำนาจตัดสินใจว่าของแจกกิจกรรม รางวัลต่างๆ จะเอามาจากไหน อย่างไร เท่าไหร่ ถ้าไม่ได้การสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูงขององค์กรก็จะงงๆ ว่าทำเกมแล้วไปไหน บางครั้งผู้บริหารใจถึงจัดหนัก ถ้าคนเล่นน้อยไม่มีปัญหาแต่ถ้าเล่นมากแจกด้วยเงื่อนไขนี้เจ๊งแน่ๆ ก็ต้องมากำหนดกันให้ดี ผมเคยออกแบบเกมให้การชักชวนเพื่อนมาเล่นเกมสามารถนำมาคำนวณเป็นส่วนลดที่จุดซื้อสินค้า แต่เนื่องจากบริษัทนั้นใหญ่เกินไปมีหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้องเลยไม่สามารถทำได้

4. มีคนในรับผิดชอบทุกโพสต์ทุกเม้นต์
อยากจะบอกว่าเกมเป็นแค่เครื่องมือ และก็ต้องมี “คน” มาเป็นคนใช้เครื่องมือนั้น ถ้าคาดหวังว่าทำเกมแล้วจะจบหมดหน้าที่ปล่อยให้เกมทำงานของมันไป อย่างนี้พังแน่นอน เราต้องจัดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบเกมเป็นการเฉพาะครับต้องตอบคำถาม บางครั้งอาจมีเรื่องการร้องเรียนเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ (ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับตัวเกม) ก็ต้องสามารถประสานงานรับเรื่องส่งต่อให้ผู้รับผิดชอบได้ วิธีการตอบหรือโพสในหน้า Facebook นั้นสำคัญมากๆ สามารถส่งผลให้ลูกค้ารู้สึกถึงภาพลักษณ์ขององค์กร บุคลิกลักษณะของ Brand ดังนั้นไม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของบริษัทที่ทำเกมเป็นคนทำ

ปรากฏการณ์เห่อทำเกมบน Facebook นี้ทำให้ผมย้อนนึกไปถึงการเห่อทำเกมมือถือเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่ทำครั้งเดียวไม่มีทำอีกเพราะเมื่อทำแล้วก็รู้ตัวว่าไม่ได้ผลอะไร ว่าไปแล้วก็เหมือนมุกใหม่ให้เราเสียเงิน การเริ่มด้วย Brand Awareness มันต้องจบที่ Profit ครับ สุดท้ายนี่อยากจะบอกว่า “เกม” ไม่ใช่คำตอบในการดึงคนเข้ามาหาสินค้าหรือบริการของท่าน “กลไกของเกม” ต่างหากทีสามารถทำได้แล้วมันคืออะไร

โปรดติดตามตอนต่อไป