Site icon Thumbsup

เปิดใจ 500tuktuks มีหวังส่งสตาร์ทอัพไทยให้ถึงยูนิคอร์นหรือไม่

วงการสตาร์ทอัพที่นับว่าเป็นหนึ่งในอาชีพที่คนรุ่นใหม่ใฝ่ฝันอยากจะเข้ามาทำกันมาก เพราะมองว่าเป็นงานอิสระ เงินทุนสูง รวมทั้งมีโอกาสปั้นจนเป็นธุรกิจใหญ่ได้ไม่ยาก อีกทั้งมีช่องทางเงินสนับสนุนทั้งจากหน่วยงานรัฐและเอกชนจำนวนมา แต่ 2 หนุ่ม 1 สาวนักปั้นสตาร์ทอัพอีกหนึ่งรายของวงการ อยากจะบอกว่า ไม่เป็นความจริง เพราะการเข้าสู่วงการนี้ ต้องทำงานหนัก ความอดทนสูง รวมทั้งต้องสู้กับปัญหามากกว่าอาชีพพนักงานออฟฟิศทั่วไป เพราะทั้งการสร้างโปรดักส์ให้สำเร็จ รักษาฐานลูกค้า และในขณะเดียวกันก็ต้องบริหารทีมให้เป็นด้วยนั้น ไม่ง่าย

ย้อนเรื่องราวของ 500Tuktuks เกิดจากการร่วมมือกันของ 2 ผู้บริหารกองทุนคนไทยไฟแรงอย่าง กระทิง พูนผล และ ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ซึ่งทั้งสองคนนั้น คนหนึ่งเป็นเจ้าของโรงเรียนบ่มเพาะสตาร์ทอัพ ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นสตาร์ทอัพรุ่นบุกเบิกอย่าง Ookbee ร่วมกับ ไคลี อึง หนึ่งในทีม 500startup ที่มาร่วมกันปั้น 500Tuktuks ขึ้นมาเมื่อปีพ.ศ. 2558 โดยในขณะนั้นถือว่าเป็นเวอร์ชั่นบริษัทลูก 500Startups ของ Dave McClure ที่เคยตั้งเป้าว่าจะลงทุนใน 500Startup ทั่วโลก แต่ตอนนี้ก็เข้าไปลงทุนกว่า 2,000 สตาร์ทอัพแล้ว

ตอนนั้นทั้ง 2 ผู้บริหาร หอบเงินมา 300 ล้านบาทหรือ 10 ล้านเหรียญสหรัฐและได้เข้าลงทุนใน 3 บริษัท คือ บลิสบี (Blisby) เว็บไซต์ตลาดออนไลน์ที่รวมของแฮนด์เมดและงานฝีมือจากศิลปินไทย โอมิเซะ (Omise)ผู้ให้บริการเพย์เมนต์เกตเวย์และฮับบ้า (Hubba) พื้นที่เช่าสำหรับทำงานและสัมมนา หรือ Co-working Space ซึ่งแต่ละบริษัทจะลงหุ้นประมาณ 5% หรือมูลค่า 1-3 ล้านบาท/ราย และในระยะเวลา 3 ปี ก็ได้ลงทุนตามเป้าคือ 50-60 ราย ในกองทุน 1 ซึ่งจนถึงตอนนี้ได้ใช้งบลงทุนไปกว่า 400 ล้านบาทจากเงินก้อนแรก 550 ล้านบาท คิดเป็น 80-90% ของกองดังกล่าว ซึ่งเงินที่เหลือจากกองแรกนี้จะเก็บไว้สำหรับหนุนสตาร์ทอัพที่ลงทุนไปแล้ว เพื่อให้เดินหน้าต่ออย่างแข็งแรง

ต่อยอดเงินทุนกอง 2

ส่วนกอง 2 ที่ได้จากพาร์ทเนอร์ใหม่ๆ ในไทยนั้น ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มเซ็นทรัล, กลุ่มธุรกิจ TCP, บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน), บริษัท วัชรพล จำกัด ในเครือหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด ด้วยความเป็นองค์กรใหญ่ ทำให้มีมูลค่าเม็ดเงินที่มากกว่ากองแรก รวมทั้งได้จดทะเบียนในตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกาแล้ว ทำให้ไม่อาจเปิดเผยเม็ดเงินที่แต่ละบริษัทเข้ามาลงทุนได้ แต่ตัวเลขไม่น้อยกว่ากอง 1 แน่นอน

ต้องยอมรับว่าใน 3 ปีที่ผ่านมาจะเห็นกองทุนแบบ Cvc  (corporate venture capital) ที่เข้ามาลงทุนสตาร์ทอัพเยอะขึ้น แต่ก็จะเลือกในสายงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตนเอง ในขณะที่ 500tuktuks เปิดกว้างในทุกอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัพสายไหนถ้าน่าสนใจก็เข้าไปลงทุน เรียกว่าเป็นอิสระในการเลือกสตาร์ทอัพมากกว่า แต่เมื่อมีพาร์ทเนอร์เข้ามา ก็อาจจะกรองในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของพาร์ทเนอร์มากขึ้น แต่ก็ยังยึดหลักเดิมคือ หากเป็นสตาร์ทอัพที่น่าสนใจและมีโอกาสที่จะเปลี่ยนโลกได้ก็จะเข้าไปลงทุน

ตั้งเป้าลงทุน ใน 150 สตาร์ทอัพ

สำหรับแนวทางการคัดเลือกบริษัทที่จะเข้าไปลงทุน คือ

1.เป็นบริษัทที่มีทีมงานที่ดี

2.มีสินค้าที่ชัดเจนและมีฐานลูกค้าบ้างแล้ว

3.มีรูปแบบธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตได้

โดยธุรกิจของสตาร์ทอัพที่มีความน่าสนใจ จะต้องรองรับเทรนด์การใช้งานมือถือที่เพิ่มขึ้นในประเทศ ซึ่งสตาร์ทอัพที่สนใจจะมองไปในเรื่อง Deep Tech, IoT, AI, Robot แต่ก็ไม่ทิ้งในกลุ่ม Food/Bio/AgriTech, TravelTech, Disruptive Digital Technology, Logistics, FinTech/ InsurTech, Retail/eCommerce, Health, Energy, PropTech เช่นกัน

ทางผู้บริหารกองทุนยังมองว่า สตาร์ทอัพไทยมีศักยภาพและมีโอกาสเติบโตเพราะอัตราการเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทยนั้นสูง รวมทั้งโอกาสทดลองใช้เครื่องมือใหม่ๆ มีสูง แต่ก็ยังไม่มีรายใดเข้าตาใดอย่างมากเหมือนอย่างประเทศเพื่อนบ้าน ที่ไปถึงจุดยูนิคอร์นแล้วอย่าง Gojek, Grab หรือ SEA ซึ่งต้องพยายามกันต่อไป แต่คงไม่ใช่ระยะเวลา 2-3 ปีนี้อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม สตาร์ทอัพที่เข้ามาร่วมใน 500tuktuks กอง 2 นั้น จะมีความพิเศษมากกว่าเดิมคือจะมีการดึงพาร์ทเนอร์เข้ามาช่วยในเรื่องของ Training มากขึ้น จากเดิมที่จะเป็นเมนเทอร์เพียง 3 คน หรือคนในกองทุน แต่ครั้งนี้จะเปิดกว้างให้เข้าถึงข้อมูลของพาร์ทเนอร์ทั้งในไทยและต่างประเทศมากขึ้น โดยมีทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้ามาให้ความรู้ เช่น

ใครที่สนใจอยากสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกของ 500tuktuks สามารถเข้าไปติดตามได้ทาง Facebook ได้เลยค่ะ