Site icon Thumbsup

รวม 6 ความเคลื่อนไหวสำคัญในแวดวง e-Commerce ปี 2017

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในปี 2017 นี้เป็นปีที่เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจ e-Commerce มากเป็นอันดับต้น ๆ อีกปีหนึ่งเลยทีเดียว โดยมีรายงานการศึกษาของ Google และ Temasek เผยว่าตลาด e-Commerce ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโตจนมีขนาดกว่า 88.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025 (ปัจจุบันตลาดมีขนาดอยู่ที่ 10.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น)

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดการเติบโตนั้นมาจากปัจจัยที่ผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้เวลาในการช้อปปิ้งออนไลน์มากกว่าผู้บริโภคในประเทศสหรัฐอเมริกาเกือบ 2 เท่าตัว โดยใช้เวลาเฉลี่ย 140 นาทีต่อเดือน ขณะที่อเมริกันชนใช้เวลาเพียง 80 นาทีต่อเดือนเท่านั้น หรือหากแยกเป็นเฉพาะประเทศไทย ก็พบว่ามีหลาย ๆ ตัวเลข และเหตุการณ์ที่น่าสนใจอยู่มากทีเดียว เริ่มจาก

1. คนไทยสนใจเทศกาล 12.12 แซงหน้าเทศกาล 11.11

จากการศึกษา Google Trends พบว่างานเซลล์สินค้า 12.12 ของ Lazada ซึ่งเป็นร้านค้าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยนั้นพุ่งนำเทศกาลคนโสด 11.11 โดยดัชนี search interest index ที่เป็นตัวชี้ความสนใจของคนไทยต่อ Lazada วันที่ 12 ธันวาคมนั้นสูงถึง 100 คะแนนซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบปี ส่วนดัชนี search interest index ในวันที่ 11 พฤศจิกายนนั้นอยู่ที่ 93 คะแนน

ทั้งนี้ หากเทียบกับการโปรโมตแล้วจะพบว่า ความยิ่งใหญ่ของงาน 11.11 นั้นมีเหนือกว่ามาก และได้รับการโปรโมตในทุกช่องทาง โดยมีแม่ทัพเป็นเว็บออนไลน์ชื่อดังจากจีนอีกด้วย

2. อีเวนท์ Online Sale ในบ้านเรามีคนสนใจไม่น้อย

หาก Alibaba จะจัดเทศกาลคนโสดของตัวเองขึ้นมา ร้านอย่าง Lazada ของไทยก็สามารถจัดเทศกาลออนไลน์เซลล์กระตุ้นยอดขายได้เช่นกัน เช่น งาน 5th Lazada Birthday Sale เมื่อวันที่ 21 – 23 มีนาคม ก็พบว่ามีการค้นหาชื่อร้าน Lazada มากกว่าช่วงเวลาปกติ นอกจาก Lazada แล้วยังมีเทศกาล Carnival Summer Sale ของห้าง Central ที่จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นยอดขายระหว่างวันที่ 1 – 12 เมษายนที่ห้าง Central World นั้น ก็สามารถเรียกความสนใจจากคนบนโลกออนไลน์ได้เช่นกัน โดยดัชนี search interest index ของร้านค้า Central Online ในช่วงต้นเดือนเมษายนเพิ่มสูงขึ้นเป็น 23 คะแนน ขณะที่ค่าเฉลี่ยในช่วงเวลาปกติอยู่ที่ 18 คะแนนเท่านั้น

อีกหนึ่งร้านค้าออนไลน์ชื่อดังอย่าง Shopee ก็ได้มีการจัดแคมเปญกระตุ้นยอดขายเช่นกันในวันที่ 9 เดือนกันยายนภายใต้แคมเปญ 9.9 Mobile Shopping Day ซึ่งนำดาราดังอย่างณเดชน์ คูกิมิยะและอุรัสยา สเปอร์บันด์มาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของ Shopee เพื่อเรียกความสนใจจากเทศกาลออนไลน์ดังกล่าว คนไทยหันมาให้ความสนใจร้านค้า Shopee มากขึ้น เห็นได้จาก search interest index ในเดือนสิงหาคมจนถึงปัจจุบันที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงต้นปีที่ผ่านมา

3. Lazada VS Shoppee แอปพลิเคชันช้อปปิ้งออนไลน์แห่งปี 2017

จากการศึกษาพบว่าในปี 2017 ที่ผ่านมา แอปพลิเคชันสำหรับการช้อปออนไลน์นั้นมีการเปลี่ยนแปลงแย่งชิงตำแหน่งกันอย่างเข้มข้น โดยผลการศึกษาบน App Store และ Google Play พบว่า เป็นการแข่งขันที่ดุเดือดระหว่าง Lazada และ Shopee ซึ่งบน App Store นั้น Shopee นำหน้าขึ้นมาเป็นที่หนึ่งบน App Store ตั้งแต่ไตรมาสที่สอง ของปีนี้ ทิ้ง Lazada ให้เป็นที่สอง แต่ในฟากของ Google Play Store นั้น Lazada ยังครองที่หนึ่งเอาไว้อย่างเหนียวแน่น

ส่วนอันดับรอง ๆ ลงมานั้น มีทั้ง Chilindo ที่มาแบบเงียบ ๆ ด้วยการไต่อันดับขึ้นมาอยู่ที่ 3 ทั้งใน App Store และ Google Play และยังมีทั้ง Aliexpress คู่แข่งรายใหม่ จาก Alibaba ที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในปีหน้านี้ว่า Aliexpress จะสามารถขึ้นครองใจคนไทยได้ถึงตำแหน่งไหน หรือแอปพลิเคชันของ Pomelo ที่ติดอันดับมาได้อย่างรวดเร็วไม่แพ้กัน สุดท้ายที่น่าจับตามองคือ 11 Street ที่มีการอัดเงินทุนโปรโมทแบรนด์อย่างหนักในช่วงต้นปีที่ผ่านมา จนแอพฯติดอันดับที่ 3 ทั้งใน App Store และ Google Play แต่ในช่วงครึ่งปีหลังนั้น 11 Street ก็ต้องหล่นจากท็อป 5 ใน App Store และลงเป็นอันดับที่ 4 บน Google Play

4. e-Commerce ไทยมี Social Media เป็นเพื่อนคู่คิด

จากการศึกษาร่วมกับบริษัท Socialbakers ซึ่งเป็นผู้นำในด้านโซเชียลมีเดียพบว่า ในปี 2017 มีรายชื่อร้านค้าออนไลน์ที่ติดอันดับยอดผู้ติดตามบน Facebook มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Lazada ที่ใช้กลยุทธ์แบบ regional strategy คือการรวมเพจของทุกประเทศเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ดี Lazada Thailand ก็ยังเป็นที่หนึ่งนำแฟนเพจร้านช้อปปิ้งออนไลน์อื่น ๆ ในประเทศไทย สาเหตุมาจาก Lazada นั้นใช้ Facebook เป็นหนึ่งในเครื่องมือช่วยกระตุ้นยอดขาย ไม่ว่าจะเป็นการไลฟ์สดขายสินค้า, การโปรโมทเทศกาลออนไลน์ต่าง ๆ, การนำเสนอส่วนลดและสินค้าลดราคาแบบ Flash Sale นี่จึงเป็นจุดเด่นที่ดึงดูดคนให้มากดไลค์ให้เพจ Lazada เพื่อติดตามดีลต่าง ๆ นั่นเอง

ส่วนแฟนเพจของ Chilindo นั้นมีการโปรโมทที่แอ็กทีฟกว่าเพจอื่น ๆ กล่าวคือมีการโพสต์รูปภาพและวิดีโอที่น่าสนใจ เช่น การนำเสนอสินค้าใหม่ ๆ ที่กำลังเป็นกระแสหรือการใช้เกมสร้าง engagement กับลูกเพจ อีกทั้ง Chilindo ยังเข้าใจถึงความตลกและขี้เล่นของคนไทย ในปีที่ผ่านมาจึงมีโพสต์ขำ ๆ มาให้ลูกเพจได้ร่วมแสดงความเห็นอยู่เสมอ

อีกหนึ่งแฟนเพจที่น่าจับตามองที่สุดก็คือ We Mall ซึ่งมีการสร้างจุดเด่นเป็นร้านขายสินค้าออนไลน์แบรนด์เนมแห่งแรกในประเทศไทย กล่าวคือ We Mall จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของนักช้อปออนไลน์ที่ชื่นชอบแบรนด์เนม และความสะดวกสบายในโลกยุคดิจิทัลด้วยรูปแบบการโปรโมทสินค้าแบรนด์เนมอย่างต่อเนื่องบน Facebook จึงทำให้คนไทยเชื่อว่าจะได้รับสินค้าที่มีคุณภาพจาก We Mall

5. การรุกตลาดของ Central

ในปีนี้มีความเคลื่อนไหวของ Central ออกมามากมาย ตั้งแต่ข่าวใหญ่อย่างการจับมือระหว่าง Central และ JD.com เพื่อผันตัวเองเข้าสู่ Cyber Trade พร้อมควักเงินทุนลงไปอีก 17,500 ล้านบาท เพื่อช่วยพัฒนาธุรกิจ B2C และธุรกิจ B2B นอกจากการผนึกกำลังกับ JD.com แล้ว ปี 2017 ยังถือเป็นปีที่ Central ขยายธุรกิจอีกผ่านหลายข่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าซื้อ Zalora แล้วเปลี่ยนเป็น Looksi ในไทย แถมยังเป็นแหล่งเงินทุนกับธุรกิจ e-Commerce ชื่อดังมากมาย หนึ่งในนั้นคือ Pomelo ร้านค้าแฟชั่นที่หลายคนรู้จัก

ฮง โชล จอน (กลาง) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 11street ประเทศไทย

6. แบรนด์เกาหลี 11 Street เจาะตลาดไทยอย่างเป็นทางการ

เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ชื่อของ 11 Street ก็ปักหลักลงในไทยเป็นสาขาที่ 5 อย่างเต็มตัวตามหลังเกาหลีใต้, มาเลเซีย, ตุรกี และอินโดนีเซีย ซึ่งการที่ 11 Street เลือกประเทศไทยเป็นกลุ่มเป้าหมาย ทำให้ 11 Street ต้องแข่งขันกับ e-Commerce ทั้งสัญชาติไทยและต่างชาติที่มีเงินสนับสนุนมาก เห็นได้ชัดจากการที่ผู้บริหารเริ่มวางกลยุทธ์ทางการตลาดให้ครอบคลุมมากขึ้น พร้อมวางแผนโปรโมทอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา 11 Street เพิ่งได้มีการจับมือกับ True Shopping ร้านขายของใช้ภายในบ้านชื่อดังในการขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม

ในภาพรวมคงต้องบอกว่าปี 2017 ก็เป็นอีกปีหนึ่งที่มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้นมากมายในตลาด e-Commerce  ของไทย โดยมีอัตราการเติบโตขึ้นจากปีที่แล้วถึง 9.86%  ยิ่งถ้าเจ้าไหนทำการตลาดแบบ Micro-Moments ที่สนองตอบความต้องการของลูกค้าที่อยากซื้อสินค้าทันที ยิ่งจับกลุ่มลูกค้าเหล่านี้ได้อยู่หมัด

แต่ใจความสำคัญของการช้อปออนไลน์ไม่ได้อยู่ที่สินค้าเพียงอย่างเดียว ระบบ Delivery และ e-payment ก็สำคัญ ดังนั้นในปี 2018 ที่จะถึงจึงเป็นอีกปีที่น่าจับตามองว่าตลาด e-Commerce ในประเทศไทยจะเดินไปในทิศทางใด และจะมีผู้แข่งขันหรือบริการใดที่จะเข้ามาเสริมให้ตลาด e-Commerce ของไทยดุเดือดขึ้นหรือไม่ คงต้องติดตามดูกัน

ที่มา: iPriceThailand