Site icon Thumbsup

6 ข้อควรรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีนที่เปลี่ยนไป

ในวันที่ใคร ๆ ก็มองนักท่องเที่ยวจีนเป็นกลุ่มเป้าหมาย และมีการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจไทยหาทางเจาะตลาดนักท่องเที่ยวจีนให้ได้ ผ่านบริการชำระเงินที่ชาวจีนนิยมใช้อย่าง Alipay หรือ WeChat Pay ไปจนถึงการลงโฆษณาบนแพลตฟอร์ม Social Media ที่ชาวจีนใช้งานอย่างล้นหลาม แต่นั่นอาจไม่ใช่ทั้งหมด เพราะบางทีแม้จะหาทางดึงนักท่องเที่ยวจีนมาได้แล้วก็ยังไม่อาจสร้างความประทับใจได้ หากยังไม่เข้าใจในพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีนในบริบทอื่น ๆ ที่เปลี่ยนไป 

มุมอื่น ๆ ของนักท่องเที่ยวจีนที่เราจะนำมาฝากกันวันนี้มาจากผลการสำรวจข้อมูลการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีน (CITM) โดย Hotels.com ที่ทำการสำรวจนักท่องเที่ยวจากสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 3,000 รายที่เดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ และข้อมูลจากโรงแรมและที่พัก 3,800 แห่งในเว็บไซต์ Hotels.com ทั่วโลก รวมถึงข้อมูลของ Hotels.com โดยตรง และบริษัทวิจัยตลาด โดยพบว่า

มีการแบ่งนักท่องเที่ยวจีนได้เป็น 5 กลุ่มจากพฤติกรรมการท่องเที่ยว

  1. กลุ่มเที่ยวแบบเจาะลึก (30%) ส่วนใหญ่เกิดในยุค 70 หรือเป็นกลุ่มมิลเลนเนียล และมองว่าการท่องเที่ยวเป็นสิ่งสำคัญของชีวิต โดยกลุ่มนี้จะใช้เงินประมาณ 26% ของรายได้ไปกับการท่องเที่ยว และปัจจัยเรื่องราคาไม่มีผลต่อการตัดสินใจ
  2. กลุ่มท่องเที่ยวเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ของครอบครัว (30%) เป็นกลุ่มที่เกิดในยุค 60 – 70 รายได้ปานกลาง ชอบใช้เวลาเดินทางท่องเที่ยวกับครอบครัว มักใช้จ่ายอย่างประหยัดประมาณ 407 เหรียญสหรัฐต่อวัน หรือประมาณ 13,667 บาท
  3. กลุ่มท่องเที่ยวเพื่อเปิดประสบการณ์ชีวิต (14%) เกิดในยุค 80 – 90 อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ มีรายได้ดี ใช้จ่ายเงินประมาณ 29% ของรายได้ส่วนตัวไปกับการท่องเที่ยว ชอบพักโรงแรมบูทีค และเชื่อมั่นในคำแนะนำจากคนท้องถิ่นก่อนออกเดินทางจริง
  4. กลุ่มท่องเที่ยวเพื่อความสุขใจ (9%) เกิดในยุค 80 ใช้เงินเฉลี่ย 3,546 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 119,074 บาทไปกับการท่องเที่ยวในปี 2559 ชอบพักโรงแรมห้าดาว และกว่า 60% มีแนวโน้มจะใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า
  5. กลุ่มท่องเที่ยวแบบเรียบง่าย (17%) เกิดในยุค 90 ไม่ชอบท่องเที่ยวตามแบบแผน และใช้จ่ายเงินอย่างประหยัด มองหาโรงแรมที่มีวัฒนธรรมที่เข้ากันได้มากกว่าโรงแรมหลายดาว

 5 สิ่งที่นักท่องเที่ยวจีนต้องการที่สุดในการมาเที่ยวต่างแดน

1.        พนักงานโรงแรมที่พูดภาษาจีนกลางได้
2.        การรองรับวิธีชำระเงินของชาวจีน
3.        บริการรถรับส่งในพื้นที่
4.        มัคคุเทศก์ภาษาจีนกลาง
5.        ภัตตาคารหรือร้านอาหารจีนในโรงแรม

ทั้ง 5 ข้อนี้เป็นหนึ่งในคำร้องขอลำดับต้น ๆ ของลูกค้าชาวจีน แต่เป็นเรื่องที่บรรดาผู้ประกอบการโรงแรมไม่ค่อยให้ความสำคัญ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ผู้ประกอบการโรงแรมในไทยมีแผนที่จะยกระดับบริการให้ลูกค้าชาวจีนโดย 35% จะพุ่งความสำคัญไปที่โปรแกรมทางการตลาดเฉพาะกลุ่ม และ 38% มีแผนที่จะขยายสื่อ Social Media ของตนให้ครอบคลุมและเข้าถึงมากยิ่งขึ้น ในขณะที่มีเพียง 24% เท่านั้นที่มีแผนจะเพิ่มพนักงานที่พูดภาษาจีนกลางได้

เน้นรายละเอียดและวางแผนเที่ยวมากยิ่งขึ้น

นักท่องเที่ยวจีนรุ่นใหม่ในทุกช่วงวัยเดินทางบ่อยขึ้น และยาวนานขึ้น จำนวนครั้งโดยเฉลี่ยของการท่องเที่ยวต่อปีได้เพิ่มขึ้นจาก 3 ครั้ง เป็น 4 ครั้ง และจำนวนวันต่อการท่องเที่ยวหนึ่งครั้งเพิ่มขึ้นจาก 5 วันในปีที่แล้ว มาเป็น 7 วัน นักท่องเที่ยวจีนยังใช้โอกาสในการท่องเที่ยวแต่ละครั้งเพื่อเยือนเมืองหลาย ๆ แห่ง โดยกว่า 80% กล่าวว่าพวกเขาจะไม่พักอยู่แค่เมืองใดเมืองหนึ่งเท่านั้น

การใช้จ่ายเงินเฉลี่ยต่อวันในระหว่างการท่องเที่ยวก็เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ถึง 8% และกิจกรรมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ การรับประทานอาหาร การเยี่ยมชมทิวทัศน์ และกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจต่าง ๆ ในขณะเดียวกัน CITM กลับระบุว่า การช้อปปิ้งกลับลดจากปีที่แล้วถึง 35% เป็นการชี้ให้เห็นว่านักท่องเที่ยวจีนมีรูปแบบความชื่นชอบที่หลากหลาย และมีความรอบรู้ในเรื่องการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น

นิยมเที่ยวแบบแบ็คแพกมากขึ้น

Hotels.com ระบุว่า รูปแบบการท่องเที่ยวที่ชาวจีนชื่นชอบคือง่าย ๆ สบาย ๆ โดยมีแนวโน้มว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนจะทำการจองการเดินทางผ่านระบบกรุ๊ปทัวร์ลดลงเรื่อย ๆ ในอนาคต เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนรุ่นใหม่จะใช้เวลาในการหาข้อมูลออนไลน์มากขึ้น (ใช้เวลาประมาณ 12 วัน) และมักจะเริ่มวางแผนล่วงหน้าก่อนการเดินทางนานถึง 1 – 2 เดือน วิธีการสำรองที่พักที่ได้รับความนิยมสูงสุด และมีการใช้งานกันอย่างล้นหลาม คือการใช้แอปพลิเคชันบนมือถือ โดยผู้ตอบแบบสำรวจจำนวนสูงถึง 46% ได้ทำการสำรองที่พักผ่านมือถือในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โดยอีก 17% ใช้วิธีการจองผ่านเว็บไซต์บนคอมพิวเตอร์ ซึ่งถือเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมในอันดับที่สอง

ที่น่าสนใจก็คือ กลุ่มนักท่องเที่ยวสูงวัย หรือกลุ่มที่มีอายุระหว่าง 60 – 69 ปี และ 70 – 79 ปี ระบุว่าพวกเขาต้องการที่จะท่องเที่ยวแบบแบ็กแพ็กในอนาคต ซึ่งกลุ่มนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 15% และ 21% ตามลำดับ

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการโรงแรมในไทยพบว่าในปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยตนเองมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นถึง 68%

ประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจีน

ในการสำรวจยังพบว่า มี 11 ประเทศปลายทางที่เป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวจีนดังนี้

ลำดับที่ 1 ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา
ลำดับที่ 2 ออสเตรเลีย และแคนาดา
ลำดับที่ 3 เยอรมนี
ลำดับที่ 4 เยอรมนี
ลำดับที่ 5 มัลดีฟส์
ลำดับที่ 6 ญี่ปุ่น, นิวซีแลนด์, สิงคโปร์, ไทย และสหราชอาณาจักร

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ชาวจีนนิยมใช้ระหว่างท่องเที่ยว

ประกอบด้วย

ตัวเลขจาก CITM ระบุว่า ในปี 2559 มีผู้คนจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศจำนวน 122 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ถึง 4% และสูงกว่าปี 2554 ถึง 74% ในจุดนี้ นายอภิราม ชาวดรีย์ รองประธานและกรรมการผู้จัดการของ Hotels.com ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและลาตินอเมริกา กล่าวว่า “ศักยภาพการเติบโตทั้งในส่วนของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีน และอำนาจซื้อของพวกเขานั้นมีมากมายมหาศาล”

“ประเทศต่าง ๆ ใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถูกจับตามองว่าเป็นตลาดท่องเที่ยวที่กำลังจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวมาเยือนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในอนาคต ดังนั้น นอกเหนือไปจากการหาบริการที่หลากหลายเพื่อรองรับกับความต้องการในรูปแบบจำเพาะของนักท่องเที่ยวชาวจีนแล้ว การเตรียมพร้อมรับมือกับตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็วนี้จะเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งตลอดในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้านี้”

 

สำหรับใครที่ตั้งเป้าจะเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน หากพิจารณาข้อมูลนี้แล้วเกิดไอเดียดี ๆ อยากจะแบ่งปันความคิดเห็นกัน ทีมงานก็ต้องขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วยค่ะ


ที่มา: Hotels.com