Site icon Thumbsup

7 ข้อชวนคิด สำหรับคนทำงานสื่อเก่า ที่อยากเปลี่ยนถ่ายมาสู่การทำสื่อดิจิทัล

 
editorial note: บทความนี้คือบทความพิเศษ (ที่เราเรียกว่า Guest Post) จาก วชิรวิชญ์ กิติชาติพรพัฒน์ บรรณาธิการบทความจากสำนักข่าวออนไลน์ themomentum.co บทความนี้เขาส่งมาให้ กองบรรณาธิการ thumbsup อัพโหลดขึ้นให้ชาว thumbsup ที่กำลังทำงานอยู่ในสายสื่อดั้งเดิม และสนใจที่จะปรับตัวปรับใจเข้าสู่การทำงานยุคสื่อดิจิทัลโดยเฉพาะ บทความนี้คัดลอกจากส่วนหนึ่งของบทความ Co-Blogging บน thumbsup

ถ้าถามว่าจากคนทำสื่อเก่ามาทำสื่อดิจิทัล ปรับตัวอย่างไร

จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยทำสื่อมวลชนซึ่งเป็นสื่อเก่า (นิตยสาร) เมื่อ 3 ปีก่อน และตัดสินใจมาทำดิจิทัลเอเจนซี่ พบว่า การปรับตัวคือเรื่องสำคัญ และจะปรับตัวได้ต้องมองเห็นและยอมรับ ‘ความจริง’

ความจริงที่หนึ่ง – โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว สื่อเก่าไม่ใช่สื่อที่ฟังก์ชันอีกต่อไป แน่นอน ถ้าคุณเป็นสื่อมวลชน เมื่อมวลชนไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่คุณอยู่ คำถามคือคุณจะอยู่ที่เดิมแล้วสื่อสารกับมวลชนที่ค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ หรือจะย้ายตัวเองไปหามวลชนกลุ่มใหญ่ในโลกใบใหม่

ความจริงที่สอง – หากคุณต้องการสื่อสารกับมวลชน คุณจำเป็นต้องเปลี่ยน ‘พื้นที่’ การสื่อสาร เมื่อพื้นที่เปลี่ยน คุณต้องยอมรับว่า พื้นที่แต่ละแห่งมีลักษณะเฉพาะ โลกในกระดาษกับโลกออนไลน์ต่างกัน หรือแม้จะเป็นพื้นที่ในโลกออนไลน์ แต่โลกในเฟซบุ๊คกับทวิตเตอร์ก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ต้องทำความเข้าใจ (ด้วยการสังเกต ทดลอง และตั้งคำถาม) ในพื้นที่ใหม่ ว่าควรจะสื่อสารอย่างไร

ความจริงที่สาม – กล้าที่จะ ‘รื้อ’ วิธีการเก่าๆ ที่คุ้นชิน และกล้า ‘ทดลอง’ อะไรใหม่ๆ เช่น หากคุณเคยเป็นนักเขียนนิตยสาร เมื่อก่อนคุณอาจเริ่มเรื่องด้วยการเกริ่นประโยคสวยๆ ซึ่งเป็น ‘ขนบ’ ที่ได้รับความนิยม แต่ในโลกใหม่ ข้อความนั้นกลายเป็นความเยิ่นเย้อ

ความจริงที่สี่ – พฤติกรรมคนเปลี่ยนไปแล้ว การสังเกตสิ่งนี้ จะทำให้เห็นว่า เทคโนโลยีมีผลต่อวิถีชีวิตคนมากจริงๆ ขนาดของหน้าจอ ความเร็วและล้นของข้อมูลที่ไหลบ่า สมาร์ทโฟนที่ถ่ายรูป-วิดีโอ หรือฟังก์ชั่นใหม่ๆ ของเฟซบุ๊ค และอินเทอร์เน็ตที่เร็วขึ้น ล้วนมีผลกับพฤติกรรมของคน ดิจิทัลไม่ใช่ออนไลน์ แต่คือวิถีชีวิต และโลกยุคนี้ คือ ยุคของมัลติมีเดีย เพราะฉะนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้วิธีการสื่อสารในทุกรูปแบบ ทั้งภาพนิ่ง วิดีโอ การเขียนบทความ สคริปท์ สปอตวิทยุ ฯลฯ

ความจริงที่ห้า – ถ้าคุณเป็นสื่อมวลชน ที่มาทำงานเอเจนซี่ดิจิทัล (หมายถึงเอเจนซี่โฆษณา) นอกจากจะต้องเรียนรู้และเข้าใจเกมในโลกใหม่ สิ่งสำคัญคือการปรับ ‘วิธีคิด’ ว่า คุณต้องทำงานร่วมกับคนหลายฝ่าย และคอนเทนท์ที่ดีที่สุดไม่ใช่ของ ‘คุณ’ แต่เป็นของ ‘เรา’ ที่หมายถึงลูกค้า เออี ฝ่ายกลยุทธ์ นักการตลาด และเพื่อนร่วมงานที่เกี่ยวข้อง

ความจริงที่หก – จะเจอกับศัพท์แสงเฉพาะมากมาย ซึ่งหลายคำจำเป็นต้องรู้ เพื่อประโยชน์ของตัวเองและการติดต่องาน รวมถึงคุณอาจจะต้องทำงานบางอย่างที่ไม่เคยทำ เช่น การทำ content plan การเข้าประชุมระดมไอเดีย การนำเสนองาน การเข้าพบลูกค้า *วิธีคิดและวิธีการทำงานที่เปลี่ยนไป ทำให้ชีวิตหลายคนไม่ง่ายและอาจถอดใจ

ความจริงที่เจ็ด – โลกได้เปลี่ยนไปแล้วจริงๆ หากคุณอยากเป็นสื่อที่อยู่กับมวลชน หรือคอนเทนท์ครีเอเตอร์ที่ต้องการสื่อสารกับคนส่วนใหญ่จริงๆ แล้วล่ะก็ ถ้า ‘ใจ’ คุณมา ไอ้เรื่องการปรับตัวหรือเรียนรู้แม้จะไม่ง่าย แต่เชื่อสิว่ามันไม่ยาก สุดท้าย อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ แม้จะมีสถิติบอกว่า ทำแบบนี้ดี แบบนั้นดี แต่ความจริงคือไม่ใช่ว่าจะเป็นแบบนี้นเสมอไป แนะนำให้ทดลอง ลองทำ และอย่าลืมสังเกต ‘ความจริง’ ที่เกิดขึ้น เพราะความจริงและพฤติกรรมคนในโลกยุคนี้เปลี่ยนเร็วจริงๆ

ส่วนถ้าถามว่ามีแนะนำอะไรให้เพื่อนจากสื่อเก่าในการปรับตัวบ้าง ผมอยากให้เรายอมรับ ‘ความจริง’ ในวันนี้ และมองไปข้างหน้า ก่อนจะจบด้วยทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาร์ล ดาร์วิน

คนปรับตัวเท่านั้นที่อยู่รอด

ปล.จากประสบการณ์ในช่วงแรกๆ เพื่อนที่อยู่ในระยะปรับตัวอาจจิตตก หรือเหวอกับโลกใหม่ นอกจากพูด ‘ความจริง’ ให้เพื่อนฟัง บางเวลาคุณอาจต้องปลอบประโลมและปลุกเร้าเพื่อนบ้าง ถ้าชวนแล้วเพื่อนจากสื่อเก่ายังลังเล ก็จะแปะบทความนี้ให้เพื่อนอ่าน