Site icon Thumbsup

8 บทเรียนจากหนังสือที่หัวหน้าฝ่าย HR ของ Facebook แนะนำให้หัวหน้ามือใหม่อ่าน

เพราะหัวหน้าส่งผลต่อความสุขและความสำเร็จของพนักงาน มากกว่าวัฒนธรรมขององค์กรซะอีก

ตั้งแต่ปี 2008 ที่ Lori Goler  หัวหน้าฝ่ายบุคคลของ Facebook เข้าทำงาน โจทย์ที่เธอได้รับก็คือ ทำให้บริษัทเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับจุดแข็ง

เธอได้พบกับหนังสือ “First, Break All the Rules” เขียนโดย Marcus Buckingham และ Curt Coffman ซึ่งหนึ่งในผู้เขียนเป็นนักวิเคราะห์อยู่ที่ Gallup และศึกษาพฤติกรรมของคนระดับผู้จัดการกว่า 80,000 คน จาก 400 บริษัท

การแหกกฎที่ว่านี้ โดยสรุปคือหัวหน้าที่ดีจะให้ความสำคัญกับจุดแข็ง และละเลยกับจุดอ่อน แทนที่จะสร้างทีมให้ดีไปพร้อมๆ กัน นอกจากนี้ในหนังสือยังอธิบายว่า หัวหน้านั้นจะส่งผลต่อความสุขและความสำเร็จของพนักงาน มากกว่าวัฒนธรรมขององค์กรหรือผู้ก่อตั้งบริษัทซะอีก

Goler พบว่าหนังสือเล่มนี้มีประโยชน์อย่างมาก จึงเชิญให้ Buckingham มาเป็นผู้ปรึกษาที่ Facebook และตัวเธอเองก็แนะนำหนังสือเล่มนี้ให้กับผู้จัดการหน้าใหม่ในบริษัทอ่าน

และนี่คือ 8 บทเรียนที่น่าสนใจจากหนังสือเล่มนี้

1. ความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นคือสิ่งที่สำคัญของความสำเร็จ

Buckingham และ Coffer เขียน 12 คำถาม “เพื่อให้หัวหน้าได้รู้ทุกอย่างที่จำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับที่ทำงาน” ซึ่งพนักงานควรจะต้องตอบคำถามเหล่านี้ในเชิงบวก

  1. คุณรู้หรือไม่ว่าฉันกำลังคาดหวังอะไรจากงานของคุณ
  2. ฉันมีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสำหรับการทำงานหรือไม่
  3. ในทุกวัน ฉันมีโอกาสที่จะทำในสิ่งที่ฉันทำได้ดีที่สุดในที่ทำงานหรือไม่
  4. ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ฉันได้รับคำชม หรือได้รับการจดจำจากการทำงานได้ดีหรือไม่
  5. หัวหน้า หรือใครก็ตามในที่ทำงาน เป็นห่วงฉันในฐานะคนๆ หนึ่งหรือไม่
  6. มีใครในที่ทำงานให้การสนับสนุนในการพัฒนาของฉันหรือไม่
  7. ความคิดเห็นของฉันได้รับการรับฟังในที่ทำงานหรือไม่
  8. เป้าหมายของที่ทำงาน ทำให้ฉันรู้สึกว่างานที่ทำอยู่มีความสำคัญหรือไม่
  9. เพื่อนร่วมงานของฉันกำลังทำงานที่มีคุณภาพอยู่หรือไม่
  10. ฉันมีเพื่อนสนิทในที่ทำงานหรือไม่
  11. ในช่วง 6 เดือน มีใครในที่ทำงานพูดคุยเกี่ยวกับความก้าวหน้าในหน้าที่การงานกับฉันบ้างหรือไม่

2. หัวหน้าที่ดี ไม่ทำตามกฎเหล็ก

กฎเหล็กบอกไว้ว่า คุณควรจะทำในสิ่งที่อยากให้คนอื่นทำกับคุณ แต่ Buckingham และ Coffman มองว่ามันคือหลุมพรางอย่างหนึ่งของคนระดับหัวหน้า

มันอาจจะมาพร้อมเจตนาที่ดี แต่การให้พนักงานทำสิ่งที่เหมือนๆ กัน มีแต่จะทำให้พวกเขาความล้มเหลว ผู้เขียนอธิบายว่า ดังนั้นหัวหน้าที่ดีควรจะไม่ทำตามกฎเหล็ก แต่ให้ปฏิบัติกับแต่ละคนแตกต่างกันตามสิ่งที่อยากให้”เขา”ปฏิบัติกับคุณ โดยการมอง”เขา”เป็นรายคน

3. หัวหน้ากับผู้นำ ถ้ามองให้ดีแล้วมีความแตกต่างกันอยู่ แต่ทั้งคู่มีความสำคัญ

Buckingham และ Coffman เล่าว่า มีการสอนที่อธิบายว่า หัวหน้าก็เหมือนหุ่นยนต์ที่เคลื่อนไปมา ส่วนผู้นำคือคนที่ทำให้บริษัทเดินหน้าไปได้ ซึ่งหัวหน้าที่ดีคือคนที่มีศักยภาพในการเป็นผู้นำ แต่ทั้งสองกลับไม่เห็นด้วยกับการสอนนี้

พวกเขามองว่าหัวหน้ากับผู้นำ มีบทบาทที่แตกต่างกันในองค์กร และทั้งคู่มีความสำคัญ

“หัวหน้าที่เจ๋งจะมองเข้ามาดูข้างใน ส่วนผู้นำที่ยอดเยี่ยมคือคนที่มองออกไปข้างนอก”

ผู้นำจะไม่มีเวลามาดูแลความต้องการของพนักงานแต่ละคน เพราะพวกเขาต้องให้ความสำคัญกับการมองภาพใหญ่ มันจึงเป็นหน้าที่ของหัวหน้าที่จะเข้ามาดูแลจัดการความสัมพันธ์ภายในองค์กร และดูแลผลงานให้ดี

4. พนักงานควรถูกจ้างจากความสามารถพิเศษ

ประสบการณ์ ความฉลาด และความสามารถในการตัดสินใจคือปัจจัยที่สำคัญเมื่อบริษัทจะต้องเลือกจ้างใครสักคน แต่สิ่งต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างแรกควรจะเป็นความสามารถพิเศษ ซึ่ง Buckingham และ Coffman โต้แย้งว่า ความสามารถพิเศษในที่นี่ ควรจะหมายถึง รูปแบบความคิด ความรู้สึก พฤติกรรมที่คนนั้นทำเป็นประจำจนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างดี

ดังนั้น เมื่อมีคนมาสัมภาษณ์งาน หัวหน้าควรจะมองหาสิ่งที่บ่งชี้บุคลิกของแต่ละคน และคาดเดาพฤติกรรมที่เขาจะเป็นเมื่ออยู่ที่ทำงาน

5. พนักงานควรถูกชี้แนะจากผลลัพธ์ ไม่ใช่สอนทีละขั้นตอน

หัวหน้าที่ดีควรให้อิสระกับวิธีการทำงานของลูกน้อง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่วางร่วมกัน ผู้เขียนอธิบายว่า “วางเป้าหมายที่ใช่ แล้วปล่อยให้แต่ละคนหาหนทางเพื่อไปสู่เป้าหมายกันเอง”

6. หัวหน้าที่ดีจะใช้เวลาส่วนใหญ่กับคนเก่ง

Buckingham และ Coffman เขียนไว้ว่า มันเป็นเรื่องธรรมชาติที่หัวหน้ามักจะใช้เวลาส่วนใหญ่กับพนักงานที่ยังทำได้ไม่ค่อยดีนัก มากกว่าพนักงานที่ทำงานได้เก่งแล้ว แต่จากการวิจัยของพวกเขาพบในสิ่งที่ตรงกันข้าม เพราะคนที่ทำผลงานได้ดี จะมีความรับผิดชอบในการทำงานเพื่อให้บริษัทเดินหน้า

ผู้เขียนอธิบายว่า เมื่อหัวหน้าใช้เวลากับพนักงาน “สิ่งที่พวกเขาทำไม่ใช่การแก้ไข ซ่อมแซม หรือสั่งสอน แต่คือการล้วงเข้าไปถึงสมองของแต่ละคน และพยายามหาทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เพื่อดึงความสามารถที่แท้จริงของแต่ละคนออกมา”

7. เส้นทางสู่ความสำเร็จ ไม่ควรมีแค่หนทางเดียว

Buckingham และ Coffman แชร์หลายเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่ามีหลายบริษัทเลื่อนตำแหน่งให้กับพนักงานที่โดดเด่นไปอยู่ในที่ๆ พวกเขาไม่ได้ฝึกฝนความสามารถอย่างเต็มที่

การจะทำให้องค์กรเฟื่องฟู  บริษัทควรมีหลากหลายเส้นทางให้คนได้พัฒนา สร้างฮีโร่ในหลากหลายส่วน เพื่อให้พนักงานได้รับการตอบแทนที่ไม่ถูกตีกรอบจนเกินไป

8. การประเมิน ควรทำเป็นประจำและควรเป็นสิ่งที่ทำได้จริง

ไม่ควรให้การประเมินรายครึ่งปี หรือรายปี เป็นเรื่องแปลกใหม่ของพนักงาน ความถี่ของการพบปะแลกเปลี่ยนความเห็นขึ้นอยู่กับลักษณะธุรกิจของแต่ละบริษัท แต่ถ้าหัวหน้าสามารถคุยกับลูกน้องแบบหนึ่งต่อหนึ่งอย่างน้อยเดือนละครั้ง และหาเป้าหมายร่วมกัน ความสำเร็จก็จะตามมาได้ง่าย

นอกจากนี้ยังเป็นการดูแลความสัมพันธ์ให้เกิดการเปิดอกพูดคุย ซึ่งจะช่วยให้การทำงานเป็นทีมราบรื่นต่อไป

ที่มา : Business Insider