Site icon Thumbsup

9 หลักการทำงานดีๆ จากในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่คนรุ่นใหม่ควรนำมาปรับใช้ในชีวิตการทำงาน

ระยะเวลากว่า 70 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติปกครองประเทศไทยให้ประชาชนอยู่ดีกินดีและมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทยมาโดยตลอด เรียกได้ว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงอุทิศพระวรกายและกำลังพระสติปัญญาเพื่อดูแลประชาชนมาอย่างยาวนาน

ทางทีมงาน thumbsup จึงได้รวบรวมหลักแนวคิดการทำงานของพระองค์ท่าน มาเป็นแนวทางสำหรับคนรุ่นใหม่เพื่อนำไปปรับใช้กับชีวิตการทำงานทั้ง 9 เรื่องกันค่ะ

  1. ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ : ในการทำงานนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยากหรือง่าย ควรมีการวางแผนและเรียนรู้ข้อมูลต่างๆ ให้รอบด้านก่อน เพื่อที่จะได้มีข้อมูลมาเรียบเรียงและวิเคราะห์ได้อย่างตรงจุด ซึ่งการทำงานของรัชกาลที่ 9 นั้น ท่านจะทรงศึกษาข้อมูลให้ละเอียดรอบคอบและเป็นระบบก่อน เพื่อที่จะได้วางแนวทางในการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างถูกต้องและตรงกับสิ่งที่ประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ต้องการ
  2. ทำตามลำดับขั้นตอน : เมื่อเราได้รับมอบหมายหน้าที่มาแล้วนั้น ควรเรียงลำดับความสำคัญของปัญหาหรือสิ่งที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนก่อน ทุกงานที่หัวหน้ามอบหมายมานั้นจะมีลำดับความรวดเร็วที่ต่างกัน เราต้องวางแผนให้ดี จัดเตรียมลำดับของความเร่งด่วนและงานเล็กๆ ที่สามารถจัดการให้เสร็จสิ้นได้ก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหางานค้างหรือช้าจนเกินไป
  3. การมีส่วนร่วมและนึกถึงประโยชน์ส่วนรวม : ในการทำงานนั้น สิ่งที่พนักงานหรือคนในองค์กรควรมีร่วมกันคือการมีส่วนร่วมกับคนในองค์กรเพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ดังนั้น หัวหน้างานจึงต้องคำนึงถึงทุกคน เปิดโอกาสให้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น หรือแชร์ประสบการณ์ในมุมที่เขาถนัด เพื่อเปิดกว้างความคิดและรับรู้ถึงความสามารถใหม่ๆ ของแต่ละคน รวมทั้งต้องนึกถึงประโยชน์ขององค์กรในภาพรวมก่อน
  4. ขาดทุนคือกำไร : หลักการที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีต่อประชาชนคนไทยคือเรื่องของ “การให้” และ “การเสียสละ” ซึ่งเป็นการกระทำอันมีผลเป็น “กำไร” คือความอยู่ดีมีสุขของประชาชน ทำให้ประชาชนทุกคนรักและเคารพท่านเสมอ เมื่อนำมาเป็นหลักบริหารคนที่สำคัญของผู้บริหารยุคใหม่ “การแสดงความจริงใจ” และ “มีน้ำใจดุจพี่น้อง” ของผู้บริหาร คือสิ่งที่พนักงานต้องการจากหัวหน้าหรือผู้บริหาร เพราะชีวิตการทำงานไม่ได้มีแค่เรื่องของเงินเดือนหรือโบนัสเพียงอย่างเดียว แต่ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน การให้เกียรติและเคารพกันไม่ว่าจะอยู่ในตำแน่งใด ก็ทำให้พนักงานรักองค์กรและพร้อมทุ่มเทให้บริษัทอย่างจริงใจ
  5. ความเพียร : เพราะความเพียรทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ริเริ่มโครงการใหม่ๆ มากมายและเดินหน้าสานต่อโครงการเหล่านั้นจนประสบความสำเร็จ ส่วนคนทำงานนั้น หากองค์กรพร้อมสนับสนุนให้พวกเขาริเร่ิมที่จะเป็นนักธุรกิจพันธุ์ใหม่หรือ Start up ย่อมเกิดโอกาสในการสร้างสรรค์นวัตกรรมดีๆ มาช่วยในการเดินหน้าธุรกิจขององค์กรได้เช่นกัน
  6. ทำงานอย่างมีความสุข : การอยู่อย่างมีความสุข รักในงานที่ทำ ย่อมทำให้เราไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยแม้จะเจอปัญหาหรืออุปสรรคเข้ามา ดังนั้น หากคุณได้ทำงานในอาชีพที่คุณรัก หรือได้ทำงานในสายงานที่คุณอยากทำหรืออยากพัฒนาให้ธุรกิจนี้ดีขึ้น ขอให้ตั้งใจและมีความสุขกับสิ่งที่เราทำ
  7. การพึ่งพาตนเอง : พระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 ที่เคยบอกไว้ว่า “เราไม่ควรให้ปลาแก่เขา แต่ควรจะให้เบ็ดตกปลาและสอนให้รู้จักวิธีตกปลาดีกว่า” เป็นหนึ่งในหลักแนวคิดในการทำงานว่าหากตั้งใจในการทำงานชิ้นใดแล้ว ควรทำให้สำเร็จได้ด้วยตนเองไม่ใช่หวังพึ่งพาคนอื่น หากว่าเราไม่สามารถทำงานนั้นได้แล้ว จะไปคาดหวังให้คนอื่นมาช่วยทำนั้นไม่ได้หมายความว่างานชิ้นนั้นคือผลงานของเรา แต่เป็นความตั้งใจในการทำงานให้เสร็จสิ้นของคนอื่นมากกว่า
  8. ซื่อสัตย์ สุจริต : เรื่องของจิตใจคนยากแท้หยั่งถึง เราไม่มีทางรู้เลยว่าเพื่อนร่วมงานของเราในวันนี้ กำลังทุจริตในการทำงานอยู่หรือเปล่า หากพบเห็นคนที่ชักชวนไปในทางที่ผิดอยากให้ตักเตือนและปฏิเสธที่จะทำความผิด เพราะเมื่อความผิดถูกเปิดเผยงานที่เราเคยทำอย่างมีความสุขอาจตัดอนาคตของเราไปเลยก็ได้
  9. ปลูกป่าในใจคน : หากคิดว่าป่าเป็นต้นไม้ แน่นอนว่าเมื่อเราเริ่มปลูกจากต้นไม้เล็กๆ วันหนึ่งจะเติบโตจนกลายเป็นป่าที่ปกป้องและให้อากาศที่ดีต่อเรา แต่ถ้าเราคิดว่าต้นไม้คือพนักงาน แน่นอนว่าหากเราปลูกต้นไม้เหล่านี้ให้ดี พวกเขาจะช่วยให้ธุรกิจของเรามีความยั่งยืนเช่นกัน

 

ที่มา : สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ