Site icon Thumbsup

A-Z ด้านไอทีและดิจิทัลปี 2013 ในความคิดของ @charathBank (ตอนที่ 1)

corporate-alphabet

(จะ)จบปี 2013 แล้ว มีเรื่องมากมายเกิดขึ้นบนโลกไอทีและดิจิทัล ผมเองก็ติดตามข่าวมาพอสมควร ก็เลยมีความคิด อยากจะยำสิ่งที่น่าสนใจในรอบปีมาเรียบเรียงดูสักครั้ง เลยได้ไอเดียจากปีที่แล้วที่ผมเคยแปลข่าว A-Z จากเว็บเมืองนอก คราวนี้ผมเลยขอลองคิดในแง่มุมของผมดูบ้างนะครับ

เนื่องจากว่าบทความนี้มีความยาวเกินกว่าจะทำให้เป็น 1 บทความจบได้ ผมเลยทำการแบ่งออกเป็น 3 ตอนเพื่อให้สามารถอ่านและติดตามกันได้ง่ายขึ้นครับ

A – Apple และ Amazon

อันดับแรก เมื่อนึกถึงตัว A ผมจะนึกถึง Apple ก่อนใคร ซึ่งปีนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น iPhone ที่มีการออก 2 รุ่นพร้อมกันเป็นครั้งแรก

คือ iPhone 5s และ 5c, iPad ภายชื่อใหม่ที่ใช้ว่า iPad Air , Mac Pro โฉมใหม่ทรงพลัง และ Software ที่ทำออกมารองรับทั้งบนโมบายล์และ Mac ตัวใหม่ล่าสุดนั่นคือ iOS 7 และ OS X Maverick ซึ่งผมถือว่าเป็นการ refresh Apple ครั้งใหญ่อย่างเป็นทางการ

ถึงแม้ว่ากระแสตอนแรกๆ จะไม่ดีมากมายนัก แถมยอดขายของ iPhone 5c ที่ผิดคาด แต่สิ่งที่ Apple ทำในปีนี้คือเน้นความ Mass ขึ้น เข้าใจผู้ใช้งานมากขึ้น โดยทำให้ความ Wow น้อยลง และปีที่จะถึงนี้ผมเชื่อว่าจะเป็นปีที่น่าสนุกกับการติดตามมาก เพราะ iPhone สินค้าที่ขายดีสุดๆ ก็จะมาในโฉมใหม่ รวมทั้ง Gadget ใหม่ๆ ที่น่าจะมาอย่าง Smartwatch ครับ

อีกบริษัทที่ไม่พูดก็คงไม่ได้คือยักษ์ใหญ่ค้าปลีก e-Commerce ของโลกอย่าง Amazon ที่ปีนี้ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรให้ฮือฮาเหมือนปีที่ผ่านมา กระแส Kindle Paperwhite ที่ออกในปีนี้สำหรับผมแล้วก็ไม่ค่อยหวือหวานัก แต่บริการภายในตัวเองให้ดีขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการได้ดีขึ้นต่างๆ รวมทั้งเปิดตัว Drone เพื่อทำให้ขนส่งรวดเร็วและสะดวกขึ้น ดังนั้นแล้วแม้ไม่มีการพัฒนาใหม่ๆ แต่เป็นการเสริมความแกร่งขึ้นให้มากกว่าเดิม เพราะอย่าลืมว่ามีคู่แข่งจากฝั่งเอเชียตามจี้มาติดๆ ครับ ไม่ว่าจะเป็น Rakuten, Alibaba

B – Blackberry และ Bitcoin

ตัว B ผมยกให้ 2 ตัวเพราะน่าสนใจทั้งคู่ แต่ทั้งสองตัวนี้ต่างกันแบบสุดขั้ว…

Blackberry เป็นปีแห่งการอวสานจริงๆ ครับ ไม่ว่าจะเป็นการถูกขายกิจการให้กับ Fairfax และการปลดพนักงานครั้งใหญ่ สาเหตุก็เพราะการไม่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้งานในยุคนี้อีกแล้ว และไม่มีการปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมปัจจุบัน ก็เลยทำให้ Blackberry เป็นอย่างที่เห็น และเม็ดทราบในนาฬิกาของเจ้าพวงองุ่น Blackberry ใกล้จะหมดลงทุกที ทุกที…

ส่วน Bitcoin คำที่ถูกพูดถึงในโลกออนไลน์บ่อยมากๆ ในช่วงปลายปีนี้ เพราะมีการนำมาใช้เป็นสกุลเงินดิจิทัลเพื่อซื้อขายจริง และหลายประเทศเริ่มเปิดให้ใช้กันอย่างเป็นมาตรฐานแล้ว เช่นเอามาใช้ในการลงทะเบียนหน่วยการเรียนได้ และดูแล้วในปีหน้าน่าจะมีการนำสกุลเงินนี้มาใช้งานอย่างแพร่หลายอย่างแน่นอน ซึ่งมีการคาดกันว่ามันอาจนำมาเทียบให้เหมือนกับเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเลยก็เป็นได้

C – Content Marketing

ปีนี้กระแสทางด้าน Content Marketing ถูกจับตามองเป็นอย่างมาก และแบรนด์ต่างๆ ก็เริ่มที่จะเห็นคุณค่าในการทำ Content หรือเนื้อหาให้มีคุณภาพ, มีคุณค่า นอกเหนือจากการจะเอาแต่เสนอขายของเพียงอย่างเดียว ซึ่งหากเราคิดในแง่ความเป็นจริงแล้ว เวลาคนยัดเยียดอะไรสักอย่าง เราก็คงไม่ชอบใช่ไหมหล่ะครับ แต่ก็ยังคงมีเจ้าของแบรนด์หรือนักการตลาดรุ่นเดิมๆ คิดแบบนี้อยู่มาก

ปี 2014 เราคงจะเห็นแบรนด์เปลี่ยนความคิดที่จะเอาใจใส่กับ content และทำให้มีคุณค่ากับแบรนด์ของตัวเองและธุรกิจมากขึ้น

D – Detective Pantip

ถ้าพูดถึงนักสืบในโลกการ์ตูน ก็คงหนีไม่พ้นโคนัน, คินดะอิจิ ถ้าเป็นโลกออนไลน์ก็ต้องยกให้ “นักสืบพันทิป”

หลายๆ สิ่งที่น่าสงสัยไม่ว่าจะเกิดขึ้นบนออนไลน์ หรือความจริงที่เกิดขึ้น ถูกเปิดโปงและคลี่คลายได้ด้วยเหล่านักสืบพันทิป จนผมถือว่าที่นี่แหละน่าจะช่วยทำให้เรื่องต่างๆ นั้นถูกชี้แจ้งและได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม (ซึ่งไม่รวมถึงพวกที่จะเอาเรื่องร้องเรียนต่างๆ มาข่มขู่ขึ้นกระทู้นะ)

E – e-Commerce

การค้าขายพื้นฐานบนออนไลน์ที่กลับมาดูน่าสนใจขึ้นไปทันทีในปีนี้ ในตอนแรกดูไปว่ามันจะเกร่อหรือใกล้ถึงทางตันเพราะมีมานานแล้วและไม่มีการพัฒนารูปแบบเป็นในด้านอื่นๆ

แต่ด้วยการมาของช่องทางต่างๆ ที่ออกมารองรับและสนับสนุนให้  e-Commerce เติบโตต่อได้ แถมยังโตแบบสุดๆ เหตุเพราะการหันมาเน้นการจ่ายเงินผ่านโมบายล์มากขึ้น + ความ variety ของรูปแบบและแตกออกมาเป็นทั้ง m-Commerce, a-Commerce หรือแม้กระทั่ง e-Magazine ที่จะกลายมาเป็น platform ของการขายสินค้าในนั้นแล้วด้วย ดูแล้วน่าจะไปได้สวย

และใครที่ยังทำแค่ e-Commerce แพล็ตฟอร์มเดียวคงต้องพิจารณาด่วน เพราะการอยู่ที่เดียว ถ้าไม่แข็ง ไม่เป็นเจ้าตลาดพอ คงต้องรอดับครับ

F – Facebook Algorithm

ตั้งแต่มี Facebook มา ปี 2013 น่าจะเป็นปีที่คนที่ใช้งานโดยเฉพาะแบรนด์ทั้งหลายปวดหัวที่สุดตั้งแต่เคยมีมา เพราะมีการปรับเปลี่ยน Algorithm ครั้งใหญ่ที่สุด ซึ่งจะบอกว่าก่อนหน้านี้ก็มีการเปลี่ยน แต่ไม่มีผลกระทบหนักขนาดนี้ เพราะมันทำให้ Reach หรือ Content ถูกอ่านน้อยลงมากกว่าเดิมถึง 40-50% ซึ่งก็เป็นการบีบให้ผู้ใช้งานลงเงินโฆษณาเพื่อให้เนื้อหานั้นมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นสิ่งที่เราไม่รู้ครับว่า ตา Mark Zuck จะทำอะไรอีก (นอกจากโฆษณาแบบวิดิโอ) สิ่งที่เราพอจะทำได้คือ การสร้างเนื้อหาที่ดีและโดนใจเพื่อผู้ที่ติดตามเพจเราได้ติดตามครับ

G – Google Glass

OK Glass! ถ้าจะให้ผมนึกถึงนวัตกรรมที่น่าสนใจที่สุดในปีนี้ ก็คงเป็นเจ้าสิ่งนี้ที่หลายคนเริ่มได้เป็นเจ้าของ หรือมีการหยิบยืมมาใส่ถ่ายรูปแชร์ขึ้นให้โลกรู้กันมากขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มมีการพัฒนาแอพพลิเคชันต่างๆ ให้เอามาใช้กับแว่นนี้มากขึ้น ทำให้ปี 2014 น่าจับตามองอย่างมากกับ “นแว่นตกรรม” ว่าจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการใช้งานอะไรที่พิเศษมากกว่าเดิมหรือไม่

H – Hashtags

1 สิ่งที่จะช่วยให้สามารถจัดกลุ่มข้อความได้ดีที่สุด ก็คือ Hashtag และมีการใช้งานมาตั้งแต่ Twitter, Instagram จนในที่สุด Facebook ก็หันมาใช้งานในปีนี้ ในช่วงแรกๆ ถือว่าเปิดตัวได้สวย เต็มไปด้วยความหวังว่าจะมีการทำงานที่ดี และน่าจะช่วยในเรื่องการจัดกลุ่มข้อความได้

แต่ด้วยระบบการจัดการ, ปริมาณข้อมูล, การเข้าถึงข้อมูลและอื่นๆ เลยทำให้การแสดงผล Hashtag บน Facebook นั้นออกมาเข้าขั้นแย่ ไม่เหมือนกับ Twitter และ Instagram เรียกได้ว่าแป้กแทบจะสนิท 99.99% และก็คงมีไว้เก๋ๆ กันไป…

I – Instagram Video และ Advertising

ปี 2013 Instagram ภายใต้ร่มเงาของ Facebook เปิดตัวคุณสมบัติใหม่ในการแชร์วิดิโอได้ 15 วินาที ซึ่งถือเป็นการสร้างความน่าสนใจและเป็นการนำเสนอในรูปแบบใหม่ ซึ่งผมถือว่า Instagram เปลี่ยนแนวคิดการนำเสนอได้หลากหลายมากขึ้นอย่างมาก และถือว่าออกมาอัด Vine ของฝั่ง Twitter กันอย่างจังเบอ…

และอีกอย่างที่มีเพิ่มขึ้นมาก็คือโฆษณาที่จะแสดงบนหน้า Feed ที่เริ่มทดสอบกันแล้วในปี 2013 แต่ก็มีกระแสที่ต่อต้านค่อนข้างหนักพอสมควร แต่ด้วยความเป็นลูกหม้อของ Facebook แล้ว เชื่อว่าก็จะยังลุยการทำโฆษณาในแบบนี้ และเชื่อมากๆ ว่าแบรนด์ใหญ่ๆ ก็จะลงมาเล่นโฆษณากับ Instagram ด้วย

——————————————————

จบ 9 อักษรแรกไปแล้วนะครับ สามารถติดตามอ่านบทความอีก 2 ตอนได้ที่นี่

สามารถติดตามอ่านบทความตอนแรกและตอนที่สองได้ที่นี่