Site icon Thumbsup

คุยเรื่องทางออกธุรกิจสื่อ กับคุณชายอดัม หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล

ต้องยอมรับว่าในเวลานี้ ธุรกิจสื่อต้องเผชิญกับการปรับตัว โดยเฉพาะสื่ออย่างทีวี ซึ่งล่าสุดก็มีทีวีดิจิทัลคืนใบอนุญาตไปแล้ว 7 ช่องด้วยกัน ได้แก่ ช่อง 3 Family (หมายเลข 13), ช่อง MCOT Family (หมายเลข 14), ช่อง Spring News 19 (หมายเลข 19), ช่อง Bright TV (หมายเลข 20), ช่อง Voice TV (หมายเลข 21), ช่อง Spring 26 (หมายเลข 26) และช่อง 3 SD (หมายเลข 28)

thumbsup ได้รับโอกาสสัมภาษณ์และถามความเห็นของคุณชายอดัม หรือ หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล ในฐานะ ของบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ ละคร และซีรีย์อย่างบริษัท FuKDuK และ BISON IDEA

ว่าทางบริษัทมีการปรับตัวอย่างไรบ้างเพื่อทำให้ธุรกิจสื่ออยู่รอด และประสบความสำเร็จ รวมถึงวิเคราะห์ภาพรวมอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลตอนนี้ว่าเป็นอย่างไร และทางออกควรจะเป็นไปอย่างไร

มองธุรกิจทีวีดิจิทัลตอนนี้เป็นอย่างไร?

ธุรกิจทีวีดิจิทัลตอนนี้เป็นอย่างไร ถามว่าเติบโตไหม มันเติบโตและหกในเวลาเดียวกัน ถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นธุรกิจต้องการอะไร คำตอบก็คือ “ธุรกิจต้องการเงิน”การสร้างรายได้เกิดขึ้นสำหรับธุรกิจทีวี แต่ถามว่าอุตสาหกรรมทีวีและการวัดผลโดยเรตติ้งเป็นอย่างไร

ซึ่งไม่ว่าใครไม่ก็ตามที่เข้าถึงข้อมูลของ AC Nielsen ได้ จะค้นพบว่าเรตติ้งทั้งหมด ค่ารวมมันลดลงเรื่อยๆ อยู่ที่ประมาณ 3-5 ถึง 7 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำต่อปี จะเห็นว่าเช่น ช่อง 7 ช่อง 3 เราจะเห็นว่าเรตติ้งมันลดลง

แต่ถามว่าเม็ดเงินหายไปไหม? เม็ดเงินไม่ได้หายไปขนาดนั้น เม็ดเงินอยู่ เม็ดเงินมีการเติบโต การสร้างรายได้มีหลากหลายช่องทางมากขึ้น

ทีวีดิจิทัลต้องปรับตัวอย่างไรเมื่อรายได้ลดน้อยลง

เมื่อคุณไม่มีรายได้หลักจากการโฆษณา เรตติ้งมันน้อยลง ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือต้องเริ่มปรับตัวสิ การปรับตัวเหล่านี้เกิดขึ้นจากการปรับลดพนักงาน, การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้น, การขายธุรกิจบางส่วนออก ถือเป็นการตัดภาระค่าใช้จ่ายออก มองแต่ละหน่วยให้สร้างรายได้ขึ้นมา

พอแต่ละหน่วยเริ่มสร้างรายได้ จากนั้นหาวิธีการที่จะขายให้ได้ก่อนที่จะลงทุน แต่บางช่องเงินหนา ผมลงได้เรื่อยๆ ยังเลือดเยอะ ก็ยังอยู่ได้ แต่การอยู่ได้ตรงนี้เป็นการลงทุนที่ยังไงก็ต้องมองได้ระยะ 5-10 ปี ให้ทำเงินคืนได้

ซึ่ง ณ เวลานี้ มันมีกลยุทธ์ (Strategy) ที่หลากหลาย ทีวีบางช่องมีทรัพยากรเพียงพอ แต่ตอนนี้คือต้องสร้างความสร้างความคุ้มค่าให้เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา หน่วยงาน หรือคอนเทนต์

 

ส่วนต่อมา ถ้ายังไม่มี ก็ต้องสร้างขึ้นมา เพื่อให้มีตลาด, ฐาน, แฟนติดตาม และพันธมิตรทางธุรกิจ อย่างช่องไทยรัฐทีวี, PPTV, AmarinTV คือช่องที่อยู่ในเกณฑ์ของการสร้างเนื้อสร้างตัว

อันต่อมาคือ ต้องแข่งขัน จะเห็นว่าช่องส่วนใหญ่ที่คืน ล่าสุดจะเป็นช่องข่าวเสียเยอะ ซึ่งช่องข่าวก็ต้องมีการปรับตัว ลด ทำให้กระชับ รวดเร็ว และต้องลดภาระค่าใช้จ่าย

ทีมข่าวทีมหนึ่งไม่ได้เล็ก ทีมข่าว 1 ทีมมีคน 50 ถึง 200-300 คน เพราะฉะนั้นเขาต้องปรับเกม เพื่อจะให้สู้ต่อได้ และหารายได้ต่อหน่วยเข้ามา

ถ้าในพื้นที่ของทีวี 1 อัน ตอนนี้มีอะไรขายดีบ้าง ก็เช่น Home Shopping, โฆษณา, Tie-in ซึ่งหลายช่องก็เริ่มปรับตัวให้สร้างรายได้ในเวลาที่ไม่ได้โฟกัสมาก

ในขณะเดียวกัน ก็พยายามมุ่งไปในช่วงเวลาออกอากาศของตัวเอง ก็จะเห็นว่า True4U, PPTV และไทยรัฐทีวี ยังอยู่ในส่วนของการลงทุนอยู่ ซึ่งยังเจ็บได้อีก แต่ก็เป็นช่วงที่ต้องทำเพื่อให้กระโดดไปแทนที่ช่องที่คืนใบอนุญาตไปแล้ว

ตอนนี้มีทีวีดิจิทัลที่ติด Top 6 ที่มีความแข็งแกร่งทั้งด้านคอนเทนต์ การเงิน การบริหาร ได้แก่ ช่อง 7, ช่อง 3, ช่อง MONO29, ช่อง One31, ช่อง 8 และช่อง Workpoint โดยจะเกากลุ่มกันไปเรื่อยๆ อาจจะสลับกันบ้างนิดๆ หน่อยๆ เกาะไปกับตลาดเรตติ้งที่ลง

แต่อันดับที่กำลังมันส์เลย อันดับ 7, 8, 9, 10 โดยช่องที่อยู่อันดับ 7 จะมีรายได้ที่สูงขึ้น เพราะฉะนั้นการแข่งขันของ 4 ช่อง ได้แก่ AmarinTV, PPTV, ไทยรัฐทีวี และช่อง 9 MCOT HD ซึ่งน่าจะฆ่ากันดุเดือด

คำแนะนำสำหรับผู้ผลิตคอนเทนต์ป้อนทีวีดิจิทัล

ผมพยายามบอกกับผู้ผลิตทุกคน พอดีว่าเราทำงานด้านกลุ่มธุรกิจอยู่ ทั้งด้านทีวีและภาพยนตร์ ผมพยายามจะบอกทุกคนว่า โมเดลการสร้างรายได้ต้องมีหลากหลายมากขึ้น

ต่อไปนี้คุณเดินเข้าไปหาช่องแล้ว คุณต้องรู้ว่าตัวเองอยู่จุดไหน เมื่อคุณเดินเข้าไปบอกว่า “ผมมีเรื่องที่ดี ผมมีคอนเทนต์ที่ดี ผมมีรายการทีวีที่ดี ผมน่าจะทำได้” ซึ่งตอนนี้ทำแบบนี้ไม่ได้แล้ว

ตอนนี้คุณต้องรู้แล้วว่า สิ่งที่ทำอยู่ตอบโจทย์การขายอะไรบ้าง ซี่งยากกว่าสมัยก่อนเยอะ แต่ถ้าเราทำได้ เราจะอยู่อันดับต้นๆ ได้และมีงานต่อเนื่อง

ผมมีงานต่อเนื่องทุกปี ไม่ได้มีงานต่อเนื่องในฐานะของคนที่เป็นผู้รับจ้างเพียงอย่างเดียว

แต่ในขณะเดียวกัน เรายังสามารถอยู่ต่อเนื่องได้ในฐานะ Production House ที่เดินเข้าไปในช่องต่างๆ แล้วไม่ต้องไปพูดว่า “ขอนะครับ ผมราคาเท่าไหร่ก็ได้”

พอเรารู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ตอบโจทย์การขายอะไร ก็จะทำให้เราได้สร้างอะไรได้ที่ตรงใจเรามากขึ้น

 

มีความเห็นต่อการทำงานของ กสทช. ที่คุมเรื่องทีวีดิจิทัลอย่างไร?

ผมมีความเชื่อว่า กสทช. ต้องออกแบบกลไกสำหรับตลาดเสรีที่ผู้ประกอบการสามารถเข้าและออกได้

แต่ต้องกำหนดก่อนว่าในช่วงระยะนี้ ถ้าคุณบอกว่าจะอยู่ประมาณ 15 ช่อง คุณควรจะเปิดให้ออกได้เรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องเปิดโอกาสให้เข้าได้เหมือนกัน

ต้องเข้าใจว่าธุรกิจเจ๊งได้ รุ่งได้ มันมีการแข่งขัน และถ้ามีการแข่งขัน มันย่อมต้องมีผู้แพ้

 

นอกจากนี้ กสทช. ต้อง Proactive ไม่ใช่ว่า One size fits all ผมตัดสินใจแล้ว คำไหนคำนั้น ซึ่งมันทำแบบนั้นไม่ได้

มันต้องมีการวางแผนที่จะปรับเปลี่ยนรูปการณ์ไปกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปด้วย ถ้าไม่เปลี่ยนมันก็ทื่ออ่ะครับ

มันก็จะเป็นแบบนี้ มันก็จะเป็นเป็นอย่างที่ทุกคนเห็น ทุกคนก็จะโอดครวญ “โอ้ย ทำยังไงดี” เจ๊งแล้ว เจ๊งอีก ทุกคนเละเทะกันหมด ไม่ก็ไม่เวิร์ค