Site icon Thumbsup

“แอดมินเพจ” ต้องรู้! ดูแลเพจอย่างไรให้ไม่ถูกแฮค

ปัญหาใหญ่ที่แอดมินผู้ดูแลเพจทุกคนมักกังวลคือปกป้องเพจของตนเองอย่างไรไม่ให้เจอปัญหาโดนแฮกเพจที่อุตส่าห์ปั้นขึ้นมาอย่างยากลำบาก ด้วยจำนวนผู้ใช้งานกว่า 2.38 พันล้านคนต่อเดือน ทำให้ Facebook กลายเป็นช่องทางทำมาหากินที่สำคัญสำหรับธุรกิจทุกระดับ ในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า และเปิดโอกาสให้คนมาแชร์ประสบการณ์และเรื่องราวเพื่อแบ่งปันความสนใจกันด้วย

แน่นอนว่า การที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากขนาดนั้น ยิ่งทำให้การหลอกลวงเกิดข้ึนได้ง่ายเช่นกัน ยิ่งบางเพจต้องมีแอดมินมาช่วยดูแลข้อมูลภายในเพจหลายคน ก็ยากที่จะรับประกันได้ว่าทุกคนจะรู้เท่าทันกลโกงของแฮคเกอร์ที่มาหลากหลายรูปแบบ

ดังนั้น ทาง Facebook เอง จึงได้ทำผลการศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เกี่ยวกับความรู้และทักษะในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล พบว่ามีเพียง 16% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีความรู้เกี่ยวกับดิจิทัลระดับสูงหรือในระดับเชี่ยวชาญ และนี่คือคำแนะนำ 4 เรื่องจาก Facebook หากคุณกำลังเจอปัญหาภัยคุกคามจากเหล่าแฮคเกอร์

ทำความเข้าใจบทบาทของเพจ

เมื่อเพจของคุณต้องมีผู้ที่เข้าถึงและจัดการข้อมูลโดยผู้ใช้งานหลายคน ในแต่ละบทบาทที่แตกต่างกัน ทำให้การตั้งค่าบทบาทของแอดมินแต่ละคนในเพจจะช่วยควบคุมข้อมูลที่ถูกแชร์และลดภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นหากบัญชีส่วนตัวของผู้ดูแลเพจเชื่อมต่อกับเพจที่ไม่ปลอดภัย

ดังนั้น เจ้าของธุรกิจควรจะลงทะเบียนเป็นผู้ดูแลเพจ Facebook อยู่เสมอ เพื่อควบคุมการเข้าถึงเพจแลกำหนด บทบาทของผู้อื่นได้ โดยพิจารณาจากระดับที่จำเป็นในการเข้าถึงเพจ เพื่อจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ปกป้องบัญชีผู้ใช้ส่วนตัว

ผลการศึกษา YouGov ระบุว่า ร้อยละ 28 ของผู้ใช้งาน Facebookในประเทศไทยยอมรับว่า พวกเขาแบ่งปันรหัสผ่านกับผู้อื่น และร้อยละ 19 คิดว่ารหัสผ่านของพวกเขาไม่ปลอดภัย เนื่องจากเพจ Facebook ถูกเชื่อมต่อกับบัญชีผู้ใช้ส่วนบุคคล

ดังนั้น ผู้ที่เชื่อมต่อกับเพจทุกคนควรใช้ประโยชน์จากมาตรฐานความปลอดภัยและตั้งค่าการยืนยันตัวตนแบบสองชั้น (two-factor authentication หรือ 2FA) เพื่อปกป้องบัญชีผู้ใช้จากการถูกขโมยข้อมูลโดยผู้ประสงค์ร้าย

แม้ว่าการยืนยันตัวตนแบบสองชั้นจะมีประสิทธิภาพในการปกป้องบัญชีผู้ใช้งานในระดับสูง แต่ผู้ใช้ Facebook ในประเทศไทยจำนวนมากยังไม่มีความเข้าใจ และมีเพียงผู้ใช้จำนวนร้อยละ 30 ที่สามารถอธิบายวิธีการทำงานของการยืนยันตัวตนแบบสองชั้นได้อย่างถูกต้อง

 

รู้จักและหลีกเลี่ยงการหลอกลวงแบบฟิชชิ่ง

หนึ่งในวิธีการที่ผู้ประสงค์ร้ายใช้บ่อยและได้ผลมากที่สุดคือการเข้าถึงบัญชีผู้ใช้โซเชียลมีเดียผ่านการหลอกลวงแบบฟิชชิ่ง ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นรูปแบบการปลอมแปลงการเข้าสู่ระบบของ Facebook ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพื่อยึดรายละเอียดในการเข้าถึงบัญชีผู้ใช้ของคุณ

โดยผลการศึกษา YouGov ระบุว่า ร้อยละ 17 ของผู้ใช้ Facebook ในประเทศไทยไม่รู้จักการหลอกลวงแบบฟิชชิ่ง ทำให้การป้องกันการตกเป็นเหยื่อคือ หลีกเลี่ยงการตอบรับคำขอเป็นเพื่อนจากคนที่คุณไม่รู้จัก หรือเป็นบัญชีที่เปิดขึ้นโดยไม่สามารถยืนยันตัวตนที่แน่ชัดของบุคคลได้

เนื่องจากบัญชีเหล่านั้นอาจถูกสร้างขึ้นเพื่อฝังซอฟต์แวร์อันตรายไว้เพื่อเข้ามาหลอกเก็บข้อมูล และผู้ใช้งานไม่ควรคลิกลิงค์ที่ไม่น่าไว้วางใจ แม้ว่ามันดูเหมือนจะถูกส่งมาจากเพื่อนของคุณหรือบริษัทที่รู้จัก

นอกจากนี้ Facebook จะไม่มีวันถามรหัสผ่านของคุณผ่านอีเมล์โดยเด็ดขาด และคุณควรรายงานลิงค์บน Facebook ที่ไม่น่าไว้วางใจด้วย

ตรวจสอบความปลอดภัยเป็นประจำ

ผู้ดูแลเพจ Facebook ควรวิเคราะห์ความปลอดภัยของเพจอย่างสม่ำเสมอ ผ่านฟีเจอร์การตรวจสอบความปลอดภัยบนแพลตฟอร์มเพื่อตรวจสอบกิจกรรมและความปลอดภัยโดยรวมของบัญชีผู้ใช้ รวมถึงเพิ่มเติมการรักษาความปลอดภัย พร้อมตรวจสอบประวัติการเข้าสู่ระบบเพื่อตามหาการเข้าสู่ระบบที่ไม่น่าไว้วางใจ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับแอพและเกมที่ถูกติดตั้ง ลบสิ่งที่ไม่น่าไว้วางใจออกไป และตรวจสอบบันทึกกิจกรรมทั้งหมด

หากเจ้าของเพจหรือผู้ดูแลเพจรู้สึกไม่ปลอดภัยและสงสัยว่ากำลังจะถูกแฮค ลองเข้าไปกรอกข้อมูลเพื่อส่งคำขอความช่วยเหลือใน Facebook Help Center หรือถ้าอยากดูเครื่องมืออื่นๆ เพิ่มเติมก็เข้าไปดูใน https://www.facebook.com/safety/

ทางเพจก็หวังว่าผู้ดูแลเพจจะปลอดภัยไร้กังวลเรื่องแฮคเกอร์หลังอ่านบทความนี้นะคะ