Site icon Thumbsup

AI กับการสร้างงานให้ธุรกิจยุคใหม่ของเยอรมนี

การมาถึงของ AI และระบบออโตเมชั่นเป็นชื่อที่หลายคนอาจหวั่นเกรง เพราะมันอาจหมายถึงการปลดพนักงานมนุษย์ออกและแทนที่ด้วยหุ่นยนต์หรือ Chatbot อย่างที่หลายคนเคยได้ยินมา แต่ความกังวลข้อนี้จะเป็นจริงหรือไม่ ศาสตราจารย์ Wolfgang Wahlster ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI จากเยอรมนีก็ได้ออกมาให้ทัศนะ รวมถึงกลยุทธ์ในการปรับตัวเอาไว้อย่างน่าสนใจทีเดียว

โดยศาสตราจารย์ Wolfgang Wahlster ซีอีโอของ DFKI ศูนย์วิจัยด้าน AI ของเยอรมนีได้ยกตัวอย่างถึงการผลิตสินค้าในอดีต ที่ธุรกิจส่วนใหญ่ในยุโรปนิยมย้ายไปตั้งโรงงานในประเทศที่มีค่าแรงต่ำเช่น เวียดนาม หรือมาเลเซีย เพื่อประหยัดต้นทุน ซึ่งธุรกิจขนาดใหญ่ของเยอรมนีก็ทำเช่นนั้น แต่ในอีกมุมหนึ่ง การตัดสินใจเช่นนี้ต่างหากที่ทำให้หลาย ๆ ประเทศเกิดปัญหาไม่มีงานทำ และไม่สามารถแข่งขันได้

“เยอรมนีเป็นประเทศที่มีการใช้งานหุ่นยนต์ในภาคการผลิตสูงมาก แต่เราไม่มีปัญหาว่า เกิดการเลย์ออฟคน หรือทำให้คนไม่มีงานทำ ตรงกันข้าม การมาถึงของหุ่นยนต์และระบบออโตเมชั่นนั้นทำให้ธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น และสามารถปรับแต่งบริการต่าง ๆ ได้แบบ Personalized มากขึ้น จึงนำไปสู่โมเดลทางธุรกิจแบบใหม่ ๆ มากมายที่ทำให้เราเข้าถึงผู้บริโภคได้ดีขึ้นกว่าเดิม”

โดยที่ผ่านมา เยอรมนีได้มีการดึงการผลิตหลายส่วนกลับมาสู่แรงงานในประเทศ เพื่อให้ธุรกิจสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้แบบเฉพาะเจาะจง และเร็วขึ้นกว่าเดิม ขณะที่ถ้าเป็นการผลิตแบบเก่า บางทีอาจต้องรอให้ผลิตเป็นล็อตใหญ่ ๆ แล้วจึงค่อยส่งมาทางเรือ ที่อาจกินเวลาหลายวัน และไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคนี้อีกแล้ว

โดยเขาได้ยกตัวอย่างของ Adidas แบรนด์ผู้ผลิตรองเท้ากีฬาชื่อดัง ที่นำ AI มาบริการลูกค้า ด้วยการให้ลูกค้าออกแบบรองเท้าของตนเองได้จากที่บ้าน หรือที่ไหนก็ได้ตามต้องการ จากนั้น รองเท้าจะเข้าสู่กระบวนการผลิตและจัดส่งให้ลูกค้ารายนั้นได้ทันที ซึ่งเขามองว่า เทรนด์ในการใช้ AI ในลักษณะนี้จะสร้างโอกาสในการพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ แถมยังดึงงานกลับเข้าสู่ท้องถิ่นได้มากขึ้นกว่าเดิมด้วย

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาใด ๆ เพราะหนึ่งในความท้าทายที่เยอรมนีต้องเผชิญก็คือ การพัฒนาระบบ Machine Learning ที่ต้องอาศัยข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งส่วนหนึ่งที่จีนแผ่นดินใหญ่มีการเติบโตในด้านการจดสิทธิบัตรด้าน AI อย่างรวดเร็วถึง 190% ในช่วงปี 2009 – 2014 นั้นมาจากจำนวนผู้บริโภคดิจิทัลที่จีนได้เปรียบกว่าใคร แต่สำหรับประเทศอื่น ๆ ที่ไม่มีประชากรมากเท่า ก็มีการหาที่มาของข้อมูลในรูปแบบอื่น ๆ เช่น การจับมือเป็นพาร์ทเนอร์และแชร์ข้อมูลระหว่างกัน เพื่อจะได้มีข้อมูลมากพอและเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้สำหรับป้อนให้ระบบ Machine Learning ได้ศึกษาเรียนรู้ โดยในเยอรมนีเรียกพื้นที่นี้ว่า Industrial Data Space

การแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ลุล่วงจึงนำไปสู่ความท้าทายเดียวที่มีของตลาด AI ในทุกวันนี้คือ หาคนทำงานยาก

“ทุกวันนี้ ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้าน AI เป็นสิ่งที่ทุกองค์กรต้องการ เฉพาะในเยอรมนี มีตำแหน่งงานด้าน AI Expert ว่างอยู่ราว 5,000 ตำแหน่ง ในทุกอุตสาหกรรม ดังนั้น การหาแรงจูงใจให้คนศึกษาในสาขา AI จึงเป็นงานที่ยากมากกว่า โดยเฉพาะภาพที่ฝังใจว่า คนทำงานสายนี้อาจต้องเป็นเด็กเนิร์ดเอาแต่นั่งเฝ้าหน้าจอเขียนโปรแกรม แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจไม่ใช่เช่นนั้นเลย”

จากแนวโน้มของตลาดงานในเยอรมนีดังที่กล่าวมานี้ จะพบว่ามีหลาย ๆ โอกาสซ่อนอยู่ในความเปลี่ยนแปลง ดังนั้นจึงไม่อาจระบุได้ว่า AI และระบบ Automation จะมีแต่ผลลบเสมอไป แต่สำหรับใครก็ตามที่กำลังมองหาแนวทางในการปรับตัว ปรับธุรกิจ การเพิ่มความรู้ความสามารถเกี่ยวกับข้อมูลจึงอาจเป็นทักษะที่จำเป็นที่สุด

ที่มาAccenture