Site icon Thumbsup

AIS เผยผลประกอบการยังเป็นบวกทุกบริการ ด้านไทยคมภาพรวมรายได้ยังลดลงต่อเนื่อง

AIS ประกาศผลประกอบการ ปี 2562 มีรายได้รวม 183,432 ล้านบาท เติบโตขึ้น 8% จากปีก่อน ทำกำไรสุทธิ 31,051ล้านบาท เติบโตขึ้น 4.6% จากปีก่อน ครองส่วนแบ่งการตลาด อันดับ 1 ในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้งด้านรายได้มากที่สุดกว่า 48% และมีจำนวนผู้ใช้บริการมากที่สุดกว่า 45% หรืออยู่ที่ 42 ล้านราย

โดยมีฐานลูกค้าเติบโตขึ้นกว่า 844,600 ราย ด้านธุรกิจเน็ตบ้าน เอไอเอส ไฟเบอร์ มีจำนวนผู้ใช้งานเติบโต 42% ฐานลูกค้ามากกว่า 1 ล้านราย สร้างรายได้เติบโต 29% ทั้งนี้ เอไอเอส ยังคงนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 70% ของกำไรสุทธิ โดยจ่ายเงินปันผล 3.56 บาทต่อหุ้นในวันที่ 22 เมษายน 2563 นี้

ภาพรวมรายได้ยังเป็นบวก

คุณสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เรามุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและเทคโนโลยี รวมถึงทรัพยากรต่างๆ ให้ก้าวล้ำอยู่เสมอ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับภาคอุตสาหกรรมและทุกภาคส่วนของประเทศ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนไทย โดยภาพรวมผลประกอบการ ปี 2562 เอไอเอส มีรายได้รวม 183,432 ล้านบาท เติบโตขึ้น 8% จากปีก่อน

สำหรับธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ เติบโต 4.2% เทียบกับปีก่อน ทำให้เอไอเอสยังครองส่วนแบ่งการตลาด อันดับ 1 ทั้งด้านรายได้ และจำนวนผู้ใช้บริการ โดยมีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นกว่า 844,600 ราย ปัจจุบันมีจำนวนลูกค้าโทรศัพท์มือถือมากที่สุดในตลาดอยู่ที่ 42 ล้านเลขหมาย และยังคงมีแนวโน้มของลูกค้าเติมเงินที่เปลี่ยนไปใช้บริการระบบรายเดือนอย่างต่อเนื่อง

คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นกว่าเดิม

โดยมีสัดส่วนลูกค้าระบบรายเดือนเติบโตขึ้นจาก 20% ณ สิ้นปี 2561 มาอยู่ที่ 22% ณ สิ้นปี 2562 ขณะที่ การใช้งาน 4G ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ณ สิ้นปี มีลูกค้าที่ใช้งาน 4G เพิ่มขึ้นเป็น 71% เทียบกับ 59% จากปีก่อน โดยลูกค้าใช้ปริมาณดาต้าเฉลี่ย 12.7 กิกะไบต์ต่อเดือน เพิ่มขึ้น 17% เทียบกับปีก่อน

ทั้งนี้ เอไอเอส ได้พัฒนาคุณภาพเครือข่าย 4G มาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน เอไอเอสมีสถานีฐานมากที่สุดกว่า 158,000 สถานีฐาน โดยได้รับการจัดอันดับให้ AIS เป็นเครือข่ายมือถือและเน็ตบ้านที่เร็วที่สุดในไทยจาก Ookla Speedtest และปีนี้ ได้เสริมคุณภาพสัญญาณจากการเข้ารับการจัดสรรคลื่น 700MHz เพื่อเตรียมรองรับการขยายเครือข่ายในอนาคต ช่วยเสริมความเป็นผู้นำให้เอไอเอสด้วยการมีคลื่นความถี่มากที่สุดในอุตสาหกรรม

เน็ตบ้านแนวโน้มดีขึ้น

ขณะที่ ธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน เอไอเอส ไฟเบอร์ ยังคงเติบโตเหนืออุตสาหกรรม ตลอดทั้งปี 2562 มีลูกค้าเพิ่มขึ้น 42% หรือกว่า 307,100 ราย จากปี 2562 ส่งผลให้ปัจจุบันมีลูกค้ามากกว่า 1 ล้านราย เสริมให้รายได้เติบโต 29% มาอยู่ที่ 5,722 ล้านบาท

จากการทำตลาดต่อเนื่องด้วยกลยุทธ์ Fixed-Mobile Convergence ที่ผสานกันระหว่าง 3 บริการหลัก ทั้งอินเทอร์เน็ตมือถือ, อินเทอร์เน็ตบ้าน, คอนเทนต์ผ่าน AIS PLAYBOX ทางทีวี หรือผ่านแอป AIS PLAY ทางโทรศัพท์มือถือ เพื่อเพิ่มฐานลูกค้าที่มีคุณภาพ

ส่วนธุรกิจบริการลูกค้าองค์กร การทำตลาด Enterprise ยังเป็นไปตามแผน ทั้งปีเติบโตใกล้เคียงคาดการณ์ จากยอดขายลูกค้าองค์กรที่เพิ่มขึ้นทั้งบริการด้านเทเลคอมและไอซีที พร้อมปรับกลยุทธ์เพื่อเป็นผู้ให้บริการ One Stop ICT Service แบบครบวงจร

โดยภาพรวม จากรายได้ที่เติบโตและการบริหารต้นทุนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เอไอเอสมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย และค่าเสื่อม (EBITDA) เพิ่มขึ้น 6.3% มาอยู่ที่ 78,463 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิเติบโตมาอยู่ที่ 31,051 ล้านบาท เติบโต 4.6% เทียบกับปีก่อน โดยเอไอเอสจะจ่ายเงินปันผลจากผลประกอบการครึ่งปีหลังที่ 3.56 บาทต่อหุ้น หรือประมาณ 70% ของกำไรสุทธิ ในวันที่ 22 เมษายน 2562

กลยุทธ์ปี 2020

ปี 2563 เอไอเอสพร้อมวางรากฐานการเติบโตในอนาคต ยกระดับงานบริการเพื่อการดูแล ลูกค้าให้ “อุ่นใจ…ได้มากกว่า” ในทุกมิติ ได้แก่

  1. เตรียมพร้อมเครือข่ายอย่างแข็งแกร่ง เพิ่มขีดความสามารถรองรับการขยายเครือข่ายในอนาคต
  2. ยกระดับสินค้าและบริการที่ล้ำสมัยยิ่งกว่าเพื่อคนไทย
  3. สร้างประสบการณ์ที่ดีที่เข้าถึงลูกค้าทุกเจเนอเรชัน ทั่วทุกภูมิภาค และ
  4. ดำเนินธุรกิจด้วยนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี ผ่านแนวคิด “ถ้าเราทุกคน คือเครือข่าย” ภายใต้โครงการ “อุ่นใจไซเบอร์” และกิจกรรมรณรงค์กำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ E-Waste อย่างถูกวิธี

“ในปีที่ผ่านมา เอไอเอส ได้จัดตั้งบริษัทโบรกเกอร์ประกันภัยขึ้นเพื่อเป็นช่องทางในการขายประกันภัยแบบออนไลน์ พร้อมโปรโมทช่องทางการชำระเงินผ่าน Rabbit LINE PAY อีกทั้ง ได้ขยายบริการเข้าสู่ตลาด eSports เพื่อสนับสนุนการเติบโตของตลาดเกม และส่งเสริมทักษะความสามารถของนักกีฬาอีสปอร์ต แสดงถึงความตั้งใจของเราที่พร้อมจะ Transform เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ด้วยประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และความเป็นมืออาชีพ ซึ่งในปี 2563 เอไอเอสครบรอบ 30 ปี จะเป็นอีกก้าวแห่งความสำเร็จที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนไทยและทั้งอีโคซิสเต็ม ด้วยเทคโนโลยีเครือข่ายแห่งอนาคตที่ก้าวล้ำไปอีกขั้นอย่างแน่นอน” นายสมชัย กล่าวสรุป

ด้านไทยคมสวนทางมหาศาล

ทางด้านของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)  ผู้ให้บริการดาวเทียมไทย รายงานผลประกอบการประจำปี 2562 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 อนุมัติให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินปันผลสำหรับปี 2562 ในอัตราหุ้นละ 0.20 บาท คิดเป็นเงินประมาณ 219 ล้านบาท บริษัทรายงานรายได้จากการขายและการให้บริการสำหรับปี 2562 รวมทั้งสิ้น 4,663 ล้านบาท ลดลง 22.4% เมื่อเทียบกับปี 2561

สาเหตุหลักจากการลดลงของลูกค้าดาวเทียม โดยอัตราการใช้งานของลูกค้าลดลงมากในช่วงครึ่งแรกในปี 2562 และกลับมาอยู่ในระดับคงที่ในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากมีลูกค้าใหม่หลายรายเข้ามาทดแทนบริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ ไม่รวมรายการพิเศษ อาทิ ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของดาวเทียม การขายเงินลงทุนและผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน สำหรับปี 2562 อยู่ที่ 432 ล้านบาท

ในขณะที่ผลขาดทุนสุทธิรวมรายการพิเศษ อยู่ที่ 2,250 ล้านบาท รายการพิเศษดังกล่าวรวมไปถึงการด้อยค่าของดาวเทียมจำนวนรวม 1,623 ล้านบาท สาเหตุจาก

  1. เหตุขัดข้องของดาวเทียมไทยคม 5 ซึ่งทำให้บริษัทต้องทำการโอนย้ายลูกค้าทั้งหมดไปยังดาวเทียมดวงอื่นและ
  2. ภาวะอุตสาหกรรมดาวเทียมที่ชะลอตัวลงเนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรม ส่งผลให้ราคาขายต่อหน่วยลดลงมากกว่าที่เคยได้คาดการณ์ไว้

อย่างไรก็ตาม การด้อยค่าของสินทรัพย์ถือเป็นรายการที่ไม่ใช่เงินสด ดังนั้นจึงไม่ได้มีผลกระทบต่อการบริหารเงินสดของบริษัท โดย ณ สิ้นปี 2562 บริษัทมีเงินสดคงเหลือที่ระดับ 5,703 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 อัตราการใช้บริการของลูกค้าเมื่อเทียบกับความสามารถในการให้บริการของดาวเทียมแบบทั่วไปซึ่งประกอบด้วยดาวเทียมไทยคม 5 ไทยคม 6 ไทยคม 7 และไทยคม 8 อยู่ที่ระดับ 55% ลดลงจาก 59% ณ สิ้นปี 2561
ซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของลูกค้าในช่วงไตรมาส 1/2562 โดยที่อัตราการใช้งานดาวเทียมแบบทั่วไปค่อนข้างคงที่ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/2562 เป็นต้นมา

สำหรับดาวเทียมบรอดแบนด์หรือดาวเทียมไทยคม 4 มีอัตราการใช้บริการของลูกค้าเมื่อเทียบกับความสามารถในการให้บริการของดาวเทียมที่ระดับ 23% ลดลงจาก 30% ณ สิ้นปี 2561 เป็นผลมาจากการลดระดับการใช้งานและการยุติการใช้บริการของลูกค้าบางราย