Site icon Thumbsup

รวมเทคนิคดีๆ ของ Alexander Osterwalder ในการทำธุรกิจให้โต

“Alexander Osterwalder” ผู้คิดค้นนวัตกรรม Business Model Canvas ซึ่งช่วยให้การวางแผนของผู้ประกอบการเป็นระบบโดยนำองค์ประกอบสำคัญของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาช่วยให้ผู้ประกอบการเกิดการคิดและการจัดการเชิงกลยุทธ์ รับมือกับความท้าทายที่มีจุดเด่นคือ การกระตุ้นให้สร้างและทดสอบไอเดียหรือนวัตกรรมได้มาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ภาคธุรกิจ และหน่วยงานต่างๆ บนเวที “Inno Meetup: Business Model Workshop” ของ SCG 

กลยุทธ์ที่จะช่วยธุรกิจโต

โดยเขาได้เล่าถึงงานวิจัยในสหรัฐอเมริกาที่น่าสนใจ ระบุว่า กว่า 74% ของผู้บริหารกังวลว่าจะมีคู่แข่งใหม่ๆ มาทำให้เกิดการ Disruption ในอุตสาหกรรมของตัวเอง – (KPMG International) แต่ในความเป็นจริงนั้นการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจปัจจุบันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีผลกระทบกับทุกอุตสาหกรรม ไม่เฉพาะแค่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเท่านั้น ฉะนั้นการยึดติดกับความสำเร็จและกรอบเดิมๆ จึงถือเป็นความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความล้มเหลวได้มากที่สุด

ขณะที่อีกหนึ่งงานวิจัยระบุว่า 72% ของนวัตกรรมในตลาดไม่ประสบความสำเร็จ – (Simon-Kucher) ซึ่งไม่ใช่เพราะทีมคิดค้นนวัตกรรมไม่ฉลาด แต่ความล้มเหลวดังกล่าวเกิดจากกระบวนการที่ยังไม่ดีเพียงพอ ดังนั้น ถ้ารู้แล้วว่าสิ่งที่เราทำไม่เป็นที่ต้องการของตลาด จึงควรเลิกแล้วไปทำสิ่งใหม่แทนทันที

องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ยังสร้างนวัตกรรมแบบ Innovation Theater หรือทำเพื่อสร้างชื่อเสียง ไม่ใช่เพื่อใช้งานจริง แต่สิ่งที่เราคาดหวัง คือ การทำอย่างจริงจัง เสมือนสร้าง Silicon Valley จำลองภายในองค์กร ที่สำคัญต้องเข้าใจว่านวัตกรรมไม่ได้หมายถึงเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว ฉะนั้นการสร้างนวัตกรรมจึงไม่จำเป็นต้องมีหรือใช้เทคโนโลยีที่ดีสุดในโลก

และถ้าองค์กรต้องการทำนวัตกรรมใหม่ๆ จะต้องเข้าใจว่าโมเดลธุรกิจขององค์กรใหม่ๆ กับโมเดลธุรกิจขององค์กรที่ดำเนินการมาอยู่ก่อนแล้วมีความแตกต่างกัน เนื่องจากองค์กรที่ดำเนินธุรกิจมาอยู่ก่อนแล้วจะมีความชัดเจนของรูปแบบธุรกิจ ไม่ต้องการให้เกิดความล้มเหลว และเน้นลงมือทำโดยวางแผนล่วงหน้า ขณะที่องค์กรธุรกิจใหม่ๆ จะไม่สามารถรู้ถึงสถานการณ์ต่างๆ ล่วงหน้าได้ และมองว่าการล้มเหลวเป็นสิ่งจำเป็น เพราะต้องทดลองไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอโมเดลธุรกิจที่เหมาะสม

ล้มเหลวไม่ใช่ยอมแพ้

ความล้มเหลวเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องยอมรับให้ได้ เพราะทุกคนสามารถล้มเหลวได้ หลายคนไม่ได้ประสบความสำเร็จตั้งแต่ครั้งแรก และเบื้องหลังความสำเร็จ ก็มีความล้มเหลวอีกมากมายที่อาจไม่เคยรู้ แต่เมื่อล้มเหลวแล้วต้องรีบลุกขึ้นมาใหม่ให้ได้ทันที

ทั้งนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าไอเดียหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่คิดขึ้นมาได้จะเป็นที่ต้องการของตลาด ก่อนที่จะลงทุนจริงนั้น ต้องมีกระบวนการและเครื่องมือ ดังนี้ 

การใช้เครื่องมือมีสิ่งที่ต้องพึงระวัง คือ เราไม่สามารถใช้เครื่องมือเดียวกับทุกวัตถุประสงค์ได้ จึงต้องมีเครื่องมือที่เหมาะสมกับแต่ละงาน เช่น การใช้เครื่องมือที่สามารถบอกเล่าคุณค่าที่เราส่งมอบให้ลูกค้า อย่าง Value Proposition Design Canvas เพื่อสร้างความเข้าใจและดึงความสนใจจากลูกค้าได้ เพราะแม้เราจะไม่สามารถออกแบบลูกค้าได้ แต่เราสามารถออกแบบคุณค่าที่จะส่งมอบให้กับลูกค้าได้ ด้วยการทำความเข้าใจและยึดถือว่าลูกค้าคือศูนย์กลาง

การตั้งสมมติฐานเพื่อสร้างต้นแบบ ต้องคิดว่ามีแนวทางอะไรที่จะเป็นไปได้อีก ไม่ใช่เฉพาะสิ่งเล็กๆ ที่เรากำลังจะทำเท่านั้น ดังนั้น คนทำธุรกิจจึงต้องกลายมาเป็นนักออกแบบนวัตกรรม และเรียนรู้ที่จะค้นหาทางเลือกอื่นๆ เพิ่มเติมโดยไม่หลงรักกับไอเดียแรกที่คิดค้นได้

จะเห็นได้ว่าทุกสิ่งบน Business Model Canvas คือ การตั้งข้อสงสัย ฉะนั้นเราต้องออกไปหาลูกค้า เพื่อทดสอบไอเดียก่อนจะทำจริง โดยอย่าเพิ่งทดสอบที่ตัวเทคโนโลยีหรือความเป็นไปได้ แต่ต้องมองความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ก่อนหาทางทดสอบที่ถูกและเร็วที่สุด โดยเฉพาะการพูดคุยกับลูกค้า ที่นอกจากจะทำให้เราปรับเปลี่ยนแนวทางการแก้ปัญหาให้กับพวกเขาได้แล้ว อาจจะทำให้เราได้ปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจด้วย ดังนั้นจึงอย่าเพิ่งรีบสร้างสินค้าหรือตัวอย่างสินค้าที่สมบูรณ์ออกมา แต่ต้องเริ่มพูดคุยและทำความเข้าใจกับลูกค้าก่อน

การพัฒนาต่อยอดไปสู่การเป็นโมเดลธุรกิจที่สมบูรณ์แบบเพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้นั้น เราต้องคิดว่าโมเดลธุรกิจแบบไหนที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้ โดยต้องไม่ลืมที่จะเรียนรู้จากมุมมองของผู้อื่นด้วย ที่สำคัญต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกนวัตกรรมหรือทุกโมเดลธุรกิจที่เราลงทุนไปจะประสบความสำเร็จ และสร้างรายได้มหาศาล ดังนั้นเราจึงต้องทำ Portfolio ที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนของไอเดียใหม่ๆ เข้ามาในธุรกิจอยู่เสมอ

เพราะความล้มเหลว และการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ เป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ (Failure and invention are inseparable twins)” Jeffry Bezos, Amazon Founder & CEO