Site icon Thumbsup

คุยกับ Alipay ไทยยังต้องเพิ่มอะไรเพื่อไปสู่ “สังคมไร้เงินสด”

สำหรับประชากรหกสิบกว่าล้านคนของประเทศไทยในตอนนี้ สิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดอาจเป็นการเดินหน้าสู่สังคมไร้เงินสดแล้วอย่างเต็มสตรีม โดยเราจะได้เห็นการพัฒนาเทคโนโลยี เครื่องมือต่าง ๆ รวมถึงบริการทางการเงินออกมาตอบโจทย์ความเป็น Cashless Society กันมากมาย ทั้งจากฝั่งของสถาบันทางการเงิน บริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคม หรือแพลตฟอร์มส่งข้อความข้ามชาติ

สิ่งที่น่าติดตามต่อไปก็คือ ในขณะที่ประเทศไทยกำลังค่อย ๆ ก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดนั้น ก็มีหลายประเทศเลยทีเดียวที่อยากจะถ่ายทอดองค์ความรู้ของการปั้นโมเดล Cashless Society ที่ประสบความสำเร็จให้กับไทยเรา หนึ่งในนั้นคือพี่ใหญ่ในภูมิภาคเอเชียอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีน เพราะจีนเป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมไร้เงินสดมาแล้วตั้งแต่ปี 2003 หรือก็คือเมื่อ 14 ปีก่อนหน้า จนทุกวันนี้ บริการอย่าง Alipay ของ Alibaba กับ WeChat Pay ของ Tencent ปักหลักอย่างแน่นหนาในวัฒนธรรมการบริโภคของจีน จนแทบไม่เห็นการใช้เงินสดอีกแล้วในชีวิตประจำวัน

ดังนั้นสำหรับคนไทย แม้ว่าชื่อของ Alipay หรือ WeChat Pay จะเริ่มเป็นที่คุ้นหูกันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง แต่ความใหญ่โตของแพลตฟอร์ม และความสามารถในการตอบโจทย์ความต้องการของ Cashless Society  ก็ทำให้เราไม่สามารถมองข้ามได้อีกต่อไป

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับทาง WeChat Pay ไปแล้ว ดังนั้น นี่จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสดีที่เราจะได้เรียนรู้แนวคิดและประสบการณ์ของ Alipay กันบ้าง โดยคุณพิภาวิน สดประเสริฐ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย แอนท์ ไฟแนนเชียล เซอร์วิสเซส กรุ๊ป ผู้ให้บริการ Alipay ได้หยิบยกเคสต่าง ๆ ของ Alipay ที่เกิดขึ้นในจีน รวมถึงกลยุทธ์ที่ Alipay นำมาช่วยเหลือพาร์ทเนอร์ในแต่ละภูมิภาค ซึ่งคุณพิภาวินเล่าว่า สำหรับประเทศจีนนั้น Alipay เป็นแอปพลิเคชันที่สามารถตอบโจทย์ชีวิตในด้านต่าง ๆ ของชาวจีนได้ครบทุกมิติ ทั้งในด้านการให้บริการทางการเงิน, การเป็นโซเชียลแพลตฟอร์ม, การมีเครื่องมือสำหรับรองรับความต้องการในชีวิตประจำวัน และการเป็นมาร์เก็ตเพลสที่มีร้านค้าออนไลน์รวมอยู่มากกว่าหนึ่งล้านแห่งให้ได้เลือกซื้อหา ซึ่งทำให้ Alipay นั้นมีเทคโนโลยีหลังบ้านที่พร้อมมากสำหรับนำไปใช้ในตลาดอื่น ๆ

ในส่วนของนักการตลาดเองนั้น คุณพิภาวินมองว่าภาคธุรกิจไทยสามารถใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มของ Alipay ได้มากมายเช่นกัน ในแง่ของการโปรโมตร้านค้าของไทยให้เป็นรู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวจีนที่ปัจจุบันเดินทางมาไทยปีละไม่ต่ำกว่า 9.5 ล้านคน ซึ่งในส่วนนี้ร้านค้าสามารถสมัครเข้าใช้งาน Alipay ได้ผ่าน Acquirer Partner ของ Alipay และสามารถสร้างร้านค้าขึ้นบนแพลตฟอร์ม รวมถึงจัดกิจกรรมโปรโมตต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนให้ไปยังร้านค้าได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ด้วย

“เราไม่มีนโยบายขายโฆษณาบนแพลตฟอร์ม แต่เปิดให้ใช้งานได้ฟรี ร้านค้าสามารถสมัครผ่าน Acquirer Partner แล้วเข้ามากรอกข้อมูลของร้าน เช่น เปิดปิดกี่โมง ตั้งอยู่ที่ไหน หรือจะทำโปรโมชัน แจกคูปอง ฯลฯ ก็ทำได้เลย”

คุณพิภาวิน สดประเสริฐ

นอกจากจะเปิดแพลตฟอร์มให้นักการตลาดไทยและในอีกหลาย ๆ ประเทศได้ใช้งานฟรีแล้ว ในอีกด้านหนึ่ง Alipay ก็ยังมองว่า ความพร้อมของ Alipay สามารถช่วย Local Partner ในแต่ละประเทศเพื่อผลักดันแอปพลิเคชัน e-Wallet ของพาร์ทเนอร์ให้ไปไกลกว่าที่เป็นอยู่ด้วย ซึ่งปัจจุบัน Local Partners ของ Alipay มีอยู่หลายเจ้า ได้แก่

ซึ่ง Alipay มองว่าการเป็นพาร์ทเนอร์กันนั้น ช่วยให้ธุรกิจ Local เหล่านี้เข้าถึง Global Connection ได้ง่ายขึ้น เช่น กรณีของ TrueMoney Wallet นั้น คุณพิภาวินเผยว่า การเป็นพาร์ทเนอร์กับ Alipay เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ได้รับการยอมรับให้ชำระเงินได้บน App Store ของ Apple ได้แล้วอย่างเป็นทางการ เป็นต้น

นอกจากนั้น ทาง TrueMoney Wallet ยังได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จาก Alipay โดยตรง และสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ ของ Alipay ดังที่กล่าวมาข้างต้นได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วกับจีนหลังก้าวสู่สังคมไร้เงินสดก็คือ การลดเวลาในการทำธุรกรรมทางการเงิน ลดต้นทุนการขนส่ง ลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเงินสด และลดค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ รวมถึงสามารถลดค่าธรรมเนียมที่เกิดจากการชำระเงินล่าช้า และที่สำคัญ อาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินสดนั้นลดลง เนื่องจากร้านค้าต่าง ๆ ไม่ต้องเก็บเงินสดไว้กับเครื่องแคชเชียร์ที่ร้านอีกต่อไป

อีกแง่หนึ่งยังพบว่า e-Payment ช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าใจผู้บริโภคได้มากขึ้น ทำให้สามารถคิดแคมเปญหรือโปรโมชันได้ตรงจุด ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับธุรกิจทั้งเล็กกลางใหญ่ของไทย สอดคล้องกับผลวิจัยของ Roubini ThoughtLab พบว่า ระบบ e-Payment นั้นจะช่วยเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้ถึง 126,000 ล้านบาทต่อปีด้วยนั่นเอง ซึ่งสำหรับประเทศไทย นี่อาจเป็นเหตุผลที่สำคัญที่สุดเหตุผลหนึ่งในยุค Digital Transformation ก็เป็นได้