Site icon Thumbsup

องค์กรรับบริจาคเลือดในสวีเดนปิ๊งไอเดีย ส่งข้อความบอกเจ้าของเลือดทุกครั้ง เมื่อถูกนำไปใช้รักษาผู้ป่วย

สถานการณ์การบริจาคเลือดในประเทศที่มีรายได้สูงทั่วโลกเพิ่มขึ้นราวๆ 25% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยที่รัฐใช้ความพยายามในการเพิ่มยอดผู้บริจาคเลือดหน้าใหม่ๆ หลังจากมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม องค์กร NHS Blood and Transplant ที่ตั้งอยู่ในอังกฤษก็ออกมารายงานว่า ในอังกฤษมีผู้บริจาคเลือดลดลง 40% เมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อน และต้องการอาสาสมัครบริจาคเลือด 204,000 คน ถ้าอยากให้เลือดในคลังสำรองอยู่ในระดับที่ปลอดภัย

อัตราที่ลดลงเช่นนี้เกิดขึ้นในสวีเดนเช่นกัน จึงเป็นเหตุให้องค์กร Blodcentralen ที่รับบริจาคเลือดในกรุงสตอคโฮล์มจึงค้นหาวิธีรักษายอดผู้บริจาค  เพื่อที่จะทำให้พวกเขากลับมาบริจาคซ้ำๆ องค์กรนี้จึงพยายามบอกให้ผู้บริจาครู้ว่าเลือดของพวกเขาถูกใช้ในการรักษาคนไข้แล้ว

Karolina Blom Wiberg ตัวแทนจากองค์กรดังกล่าวให้ข้อมูลว่า “เราอยากให้ผู้บริจาคได้รับฟีดแบ็ก และเราก็พบว่ามันเป็นวิธีการที่ดี เพราะมันเป็นความรู้สึกที่ยอดเยี่ยมมากเมื่อได้รู้ว่าสิ่งที่คุณทำสามารถช่วยชีวิตคนอื่นได้”

ในตอนแรก ข้อความอัตโนมัติจะถูกส่งไปขอบคุณเมื่อพวกเขามาบริจาคเลือด และในตอนนี้ มันถูกเพิ่มเติมเป็นการส่งไปแจ้งให้ทราบทันทีที่เลือดของผู้บริจาคคนนั้นถูกใช้ในการช่วยเหลือคนไข้ ซึ่งโปรแกรมนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว ริเริ่มโดยองค์กร Blodcentralen และต้องขอบคุณการตอบรับที่ดีจากสาธารณะ องค์กรรับบริจาคเลือดอื่นๆ ในสตอคโฮล์มและที่อื่นๆ ในสวีเดนก็กำลังใช้วิธีการเดียวกัน

สำหรับฟีเจอร์อื่นๆ ที่น่าสนใจของโปรแกรมนี้คือ จะมีการอัปเดตชาร์ทแบบเรียลไทม์เพื่อบอกปริมาณเลือดคงเหลือให้คนทั่วไปได้รับทราบ ซึ่งก็จะเป็นการกระตุ้นให้คนบริจาคอีกทางหนึ่ง และมันก็ไม่ใช่ฟีเจอร์ที่ยุ่งยากอะไร เพราะเป็นการนำเอาข้อมูลภายในที่มีอยู่แล้วมาเปิดเผยสู่ภายนอกเท่านั้นเอง  และความท้าทายขององค์กรเหล่านี้ก็คือ ต้องทำให้ผู้คนรับรู้ว่าการบริจาคของพวกเขามันสำคัญแค่ไหน

นอกจากนี้ ยังมีการดึงเอาแบรนด์ ร้านค้าปลีก และเซเลบ ออกมาร่วมเคลื่อนไหวเพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริจาคเลือด ทั้งที่จริงๆ แล้วมันไม่ควรจะยากขนาดนั้น เนื่องจากมันไม่มีความรู้สึกไหนยิ่งใหญ่ไปกว่าการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตของผู้อื่นได้ ซึ่งก็หวังว่าข้อความเหล่านี้จะมีโอกาสถูกส่งไปหาผู้บริจาคเลือดมากขึ้นในอนาคต

ที่มา : Sciencealert