Site icon Thumbsup

แนะนำหนังสือ 4 สุดยอด CEO แห่งโลกไอที

ในช่วงวิกฤติแบบนี้ บนโลก Twitter นอกจากจะมีข่าวเกี่ยวกับเรื่องน้ำท่วมแล้ว เมื่อวันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม จะสังเกตเห็นว่าได้มีการพูดคุยกันเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับหนังสืออัตชีวประวัติของ Steve Jobs นะคะ บางคนก็สั่งซื้อจาก Amazon ให้ส่งมาถึงเมืองไทย บางคนก็โหลดออนไลน์มาลง Kindle แต่ที่น่าดีใจคือร้าน Asiabooks ที่งานนี้มาเร็วจริงอะไรจริง เปิดตัวพร้อมกับที่อเมริกาเลย ในราคาที่แสนจะน่าดึงดูด (เงินในกระเป๋า) เพราะราคาเพียง 750 บาทเท่านั้น แถมได้หนังสือดีที่มาพร้อมความหนาเตอะ (อย่าพึ่งเอาไปหนุนนอนก่อนละกัน :D)

บทความตอนนี้เป็นไอเดียที่เกิดจากการอ่านนิตยสาร?Fast Company เรื่อง The Great Tech War of 2012 เป็นการวิเคราะห์ถึงการแข่งขันทางด้านธุรกิจ, นวัตกรรม, เทคโนโลยีระหว่าง Apple, Facebook, Google และ Amazon ?แถมประจวบเหมาะกับข่าวหนังสือลุง Jobs พึ่งวางแผงพอดี เลยคิดว่าถ้ามีการรวบรวมหนังสือดีๆ ของบรรดา CEO เหล่านี้เอาไว้ในกระทู้เดียวกันให้เพื่อนๆ ได้อ่านและแลกเปลี่ยนกันก็คงดีไม่น้อย

แม้จากไปแต่เรื่องราวของเขายังคงเป็นตำนาน

หนังสือที่เกี่ยวกับ Steve Jobs นั้น มีออกมามากมายหลายเล่มนะคะ และมีบางเล่มที่ตัว Jobs เองก็ไม่ค่อยพอใจแถมให้เอาออกจาก?Store เสียด้วยซ้ำ

แต่เป็นความโชคดีตรงที่ก่อนที่เค้าจะจากไปนั้น Jobs ได้อนุญาตให้สุดยอดนักเขียนหนังสืออัตชีวประวัติอย่าง Walter Isaacson (ผู้เคยฝากผลงานไว้กับหนังสืออัตชีวประวัติคนดังอย่าง Benjamin Franklin และ Albert Einstein) มาช่วยถ่ายทอดเรื่องราวดังกล่าวถึง 42?บท ตั้งแต่ Jobs ยังเป็นเด็กน้อยกันเลยทีเดียว เพื่อนๆ จะได้อ่านเรื่องราวต่างๆ ในบริษัท Apple, Pixar นวัตกรรมต่างๆ ที่เกิดจาก Jobs?ทั้ง Mac, Toy Story, Apple Store, iPod, iPhone, iPad แม้กระทั่งเรื่องราวใหม่ๆ อย่าง iCloud และ Campus ใหม่ของ Apple?อีกด้วย

นอกจากนี้แล้วหนังสืออื่นๆ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของ Jobs และถูกพูดถึงกันบ่อยก่อนหน้านี้ เช่น Inside Steve’s Brain (แปลเป็นไทยในชื่อ ผ่าความคิด สตีฟ จ๊อบส์) , iCon Steve Jobs (เล่มนี้ก็มีแปลเป็นไทยนะคะ แต่ออกมาค่อนข้างนานแล้ว ตอนนั้น Jobs?ยังดูแข็งแรงอยู่เลย), The Steve Jobs Way (แปลเป็นไทยในชื่อ วิถีแห่งสตีฟ จ๊อบส์) แต่เล่มที่รู้สึกโดนใจมากๆ และสามารถนำไปฝึกเพื่อใช้กับงานได้ทันที คือ

The Presentation Secrets of Steve Jobs
(แปลเป็นไทยในชื่อ เก่ง Presentation อย่างสตีฟ จ๊อบส์)

และ

The Innovation Secrets of Steve Jobs
(แปลเป็นไทยแล้วในชื่อ กล้าคิดต่างอย่างสตีฟ จ๊อบส์)

ปิดท้ายกันด้วยข้อความสั้นๆ บนชั้นขายหนังสือ Steve Jobs ที่เมื่ออ่านแล้วต้องสะดุดและเสียดายลุง Jobs จริงๆ นั่นคือ ?”You will miss me” ….

หนุ่มน้อยผู้เชื่อมโยงผู้คนนับล้านเข้าไว้ด้วยกัน

เด็กหนุ่มอัจฉริยะ Mark Zuckerberg ผู้เชื่อมโยงให้คนในทั่วทุกมุมโลกสามารถติดต่อสื่อสารถึงกันได้ผ่านทาง Facebook แม้แต่?Steve Jobs เองก็เคยเอ่ยปากชม และปี 2010 ที่ผ่านมานิตยสาร TIME ก็จัดให้เค้าเป็น Person of the Year 2010 เสียด้วย แถมยังมีภาพยนตร์อย่าง The Social Network (หรือบ้านเราดูแล้วอาจรู้สึกเป็นหนังเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดเวอร์ชั่นฝรั่งชัดๆ 555)

สำหรับหนังสือที่น่าสนใจของ Facebook ยกตัวอย่างเช่น The Facebook Effect (แปลเป็นไทยในชื่อว่า เฟซบุ๊ก ปรากฏการณ์เปลี่ยนโลก) เล่าเรื่องราวตั้งแต่ยังเป็นโครงการเล็กๆ ภายในหอพักนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาวาร์ด จนกระทั่งกลายเป็น Social?Network อันทรงอิทธิพลที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลกได้อย่างไร ผู้อ่านจะได้เห็นวิสัยทัศน์การออกแบบ Facebook ให้เป็นแพลตฟอร์มของ Mark จากเล่มนี้ด้วยค่ะ

ส่วนอีกเล่ม The Accidental Billionaires (แปลเป็นไทยในชื่อ แบบว่า…บังเอิญรวย) เล่มนี้ส่วนตัวยังไม่ได้อ่านค่ะ ใครอ่านจบแล้วอย่างไรลองมาแบ่งปันข้อมูลกันนะคะ

ปิดท้ายกันอีกเล่ม (อันนี้ไม่เกี่ยวกับประวัติ Mark ?แต่เห็นว่าน่าสนใจดี) The Facebook Era (แปลเป็นไทยในชื่อ ยุคแห่งเฟซบุค) หนังสือจะเล่าเรื่องการนำ Facebook ไปประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจต่างๆ ทั้งการตลาด การขาย เป็นต้น มีกรณีศึกษามากมายและไม่ใช่หนังสือแนว click next นะคะ ที่แค่สอนการใช้งานทั่วๆ ไป

ไม่มีใครที่เล่นเน็ตแล้วจะไม่รู้จักคำนี้ Google

ต้องขอสารภาพว่าไม่ค่อยได้ติดตามเรื่องราวหนังสือที่พูดถึงคู่ดูโออย่าง? Larry และ Sergey ผู้อยู่เบื้องหลัง Search Engine ระดับโลกเสียเท่าไหร่ (อ่านไปเล่มเดียวเอง ^^”) แต่ก็เห็นมีหนังสือที่ออกมาและชูไปที่ตัวบริษัท Google ?อย่างเช่น? In the Plex, What Would Google Do?,?The Google Way, Googled หรือ ชื่อออกแหวกแนวไปเลยอย่าง I’m Feeling Lucky เล่าเรื่องโดยพนักงานคนหนึ่ง (เลขพนักงาน 59) ที่ทำงานกับ Google

สำหรับบ้านเราที่เห็นและแปลเป็นไทยแล้วก็คือเล่มนี้ค่ะ Inside Larry & Sergey’s Brain (ผ่าสมองสองผู้ก่อตั้งกูเกิล) ว่าด้วยเรื่องวิสัยทัศน์, การเปิดรูปแบบธุรกิจโฆษณาบนแพลตฟอร์มของ Google, Google Cloud, Google กับ Mobile และอนาคตของ Google แม้หนังสือเล่มนี้แต่ละบทจะไม่ค่อยยาวเท่าไหร่ และน่าเสียดายที่พูดถึงโลกธุรกิจ Mobile และในอนาคตน้อยไปนิด (ส่วนหนึ่งหนังสือก็ออกมาสักพักแล้ว และธุรกิจก็ขับเคลื่อนไปไวมากมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย) แต่อย่างน้อยผู้อ่านจะได้ไอเดียและซึบซับแนวคิดของ 2 คู่หูผู้ยิ่งใหญ่นี้ได้พอสมควรจากหนังสือเล่มนี้

พ่อมดผู้อยู่เบื้องหลังระบบค้าปลีก Amazon และวัฒนธรรมการอ่านด้วย Kindle

อีกหนึ่งอัจฉริยะที่จะมองข้ามไปไม่ได้ และมีคนเคยเปรียบเปรยว่า คนที่จะแข่งกับ Jobs ได้ (เสียดายที่ต้องจากไปเสียก่อน) คนนั้นก็ต้องเป็นอัจฉริยะเหมือนกัน และหนึ่งในนั้นมีชื่อของ Jeff Bezos อยู่ด้วย บ้านเราอาจจะรู้จักเค้าน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับบรรดา CEO ทั้งหมดที่กล่าวถึงข้างต้นนะคะ ส่วนหนึ่งเพราะตัวบริการไม่ได้เจาะกลุ่มคนโซนนี้ใครจะสั่งอะไรก็ต้องสั่งออนไลน์และนำเข้ามา

Amazon เป็นเว็บฯ ที่ประสบความสำเร็จในแง่ E-Commerce และสามารถก้าวข้ามผ่านยุค Web1.0 ที่หลายเว็บฯ ล้มหายตายจากกันไปเพียบได้ แถมยังมีสายธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้

ส่วนตัวไม่ได้อ่านประวัติของ Jeff Bezos มากเท่าไหร่ค่ะ มักจะเห็นตอนที่ถูกเล่าเป็นกรณีศึกษาตามหนังสือและนิตยสารเล่มต่างๆ เช่น Demand ที่ยกกรณีศึกษาของ Kindle ว่า Bezos คิดต่างอย่างไร ทำไมถึงชู E-Reader?ซึ่งน่าจะเป็นคู่แข่งกับธุรกิจขายหนังสือแบบเดิมของเค้าเองขึ้นมา และแม้เค้าจะไม่ใช่คนแรกที่เปิดตัว E-Reader เพราะก่อนหน้านี้ก็มี Sony และอีกหลายรายที่กรุยทางมาก่อน แต่ทำไม Amazon ถึงทำแล้วสำเร็จด้วย Kindle?

สำหรับหนังสือชีวประวัติของ Bezos ในบ้านเราเคยมีคนแปลมาแล้วนะคะ แต่นานมากร่วม 10 ปีได้ ในตอนนั้นชื่อภาษาอังกฤษตรงๆ เลยคือ Amazon.com และไล่กันมาติดๆ คือวันที่ 27 ตุลาคมที่จะถึงนี้ (ตามเวลาในสหรัฐฯ) ก็จะเปิดตัว One Click เล่าเรื่องราว Jeff?Bezos และการเติบโตของ Amazon เป็นอีกเล่มที่เหล่านักอ่านไม่ควรพลาดอีกเช่นเคย?สำหรับรายละเอียดทางthumbsup ได้เคยมีการนำเสนอไปบ้างคร่าวๆ แล้ว

ทั้งหมดนี้เป็นลิสต์หนังสือดีๆ ที่รวบรวมเอาไว้และมาแนะนำกันต่อนะคะ ถ้าใครมีเล่มอื่นที่เกี่ยวข้องกับเหล่า CEO ทั้ง 4 (+1 ขอเอา Sergey เข้าไปอีกคน) ก็มาโพสแบ่งปันกันในกระทู้นี้ให้เพื่อนๆ ท่านอื่นได้ลองหาอ่านกันได้ค่ะ ^^