Site icon Thumbsup

แบงก์ชาติประกาศเร่งศึกษาใน 2 ปี เตรียมออกสกุลเงินดิจิทัลสำหรับใช้ในภาคธุรกิจ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมพัฒนาระบบต้นแบบการชำระเงินในภาคธุรกิจโดยใช้ ‘สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง’ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการชำระเงินให้ภาคธุรกิจ 

นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึง ผลการพัฒนาระบบต้นแบบการชำระเงินในภาคธุรกิจโดยใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่าง ธปท. เอสซีจี และบริษัทดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด โดยมีบริษัท ConsenSys เป็นผู้สนับสนุนด้านเทคโนโลยี ซึ่งผลการพัฒนาและทดสอบสรุปได้ว่าเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถเพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency) การชำระเงินให้แก่ภาคธุรกิจได้เป็นอย่างดี

สำหรับโครงการ CBDC ที่ทดสอบการใช้กับภาคธุรกิจนั้น ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นของการชำระเงินในการรองรับการสร้างนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ให้กับภาคธุรกิจ ทั้งนี้ การพัฒนาระบบต้นแบบดังกล่าวได้ใช้เทคโนโลยีประมวลผลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology: DLT) เชื่อมต่อกับระบบบริหารการจัดซื้อ การวางบิล และการชำระเงิน ระหว่างเอสซีจีกับคู่ธุรกิจ (Suppliers)

ผลการทดสอบพบว่าผู้ใช้สามารถกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ใน CBDC (Programmable Money) ให้สอดรับกับกิจกรรมทางธุรกิจได้ดี เช่น การกำหนดเงื่อนไขให้มีการชำระเงินตามข้อมูลที่ระบุไว้ในใบแจ้งหนี้ (Invoices) ในธุรกิจ Supply Chain Financing และการกำหนดเงื่อนไขการชำระเงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการเท่านั้น เพื่อลดปัญหาการบริหารเงินสด เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ระบบต้นแบบที่พัฒนาโดยใช้ DLT ยังมีข้อจำกัดบางประการ เช่น ความสามารถในการรองรับปริมาณธุรกรรมจำนวนมาก และการปกปิดความเป็นส่วนตัวของธุรกรรมทางการเงิน ที่ยังคงต้องหาแนวทางจัดการทั้งในเชิงเทคโนโลยี หรือการออกแบบระบบต่อไป ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการเตรียมความพร้อม เพื่อให้เท่าทันพัฒนาการของสกุลเงินดิจิทัลทั้งในและต่างประเทศที่อาจเข้ามามีบทบาทมากขึ้นต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเงินในอนาคต

สำหรับในปี 2564 – 2565 ธปท.จะมุ่งเน้นการศึกษาและพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล สำหรับภาคประชาชน (Retail CBDC) ซึ่งการพัฒนา CBDC ให้สามารถใช้ได้ในวงกว้าง จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัย และประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านต่างๆ

ทั้งด้านการดำเนินนโยบายทางการเงิน เสถียรภาพระบบการเงิน และบทบาทของสถาบันการเงินและธนาคารกลาง รวมถึงเปิดให้ ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนารูปแบบ CBDC ซึ่งจะส่งเสริมให้การทำธุรกรรมทางการเงินสามารถรองรับการพัฒนานวัตกรรมท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล ทั้งนี้ ธปท.จะเผยแพร่รายละเอียดผลการศึกษาการออก Retail CBDC ในระยะต่อไป