Site icon Thumbsup

ถอดโมเดลธุรกิจ BrandThink จากวิกฤตโควิดสู่แพลตฟอร์ม End-to-End Content Marketing

“ผมนั่งคิดอยู่เยอะมากนะ เพราะเหมือนเรากำลังเบนเข็มทิศของออฟฟิศ และสิ่งที่เราทำมาตลอด 12 ปี”

ในช่วงโควิด-19 ธุรกิจจำนวนมากประสบกับวิกฤต เอกลักญ กรรณศรณ์ ผู้ก่อตั้ง BrandThink และผู้กำกับโฆษณาเจ้าของโปรดักชั่นเฮาส์ DIR4 ใช้เวลาช่วงนั้นนั่งขบคิด ว่าเขาจะนำพาธุรกิจ องค์กร และพนักงาน ฝ่าคลื่นลมแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ซัดสาดมาอย่างรวดเร็วและไม่มีใครคาดฝันได้อย่างไร

เอกลักญ กรรณศรณ์ ผู้ก่อตั้ง BrandThink

ในฐานะผู้นำหรือหัวเรือใหญ่ขององค์กร กระแสดิจิทัลดิสรัปชั่นเมื่อ 4 ปีก่อน ได้สั่นคลอนธุรกิจจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือธุรกิจ ‘ตัวกลาง’ อย่างเอเจนซี่โฆษณา ในฐานะโปรดักชั่นเฮาส์ที่เป็นปลายท่อของอุตสาหกรรมแห่งการค้า ทุกโปรดักชั่นเฮาส์ล้วนได้รับผลกระทบถ้วนหน้า เพราะลูกค้าที่หมายถึงแบรนด์ต่างๆ ลดและโยกย้ายงบโฆษณาไปสู่ซัพพลายเออร์หน้าใหม่ หรือกระทั่งตั้ง ‘ทีมข้างใน’ เพื่อผลิตชิ้นงานบางส่วนขึ้นมาเอง

เวลานั้นธุรกิจเดิมอย่าง DIR4 ดำเนินไปอย่างปกติด้วย ‘จุดขาย’ ด้านภาพที่แตกต่าง ขณะที่ BrandThink จากปีแรกที่ติดลบ ก็ค่อยๆ สร้างรายได้มากขึ้นและหวือหวาในช่วงสองสามปีหลัง จนกระทั่งเกิดโควิด-19 เอกลักญพาบริษัทผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ โดยไม่ปลดพนักงานออกแม้แต่คนเดียว และเขารู้ดีว่าต่อจากนี้ไปจะไม่มีอะไรเหมือนเดิม

เอกลักญได้ตัดสินใจครั้งใหญ่อีกครั้ง เขาปรับรูปแบบองค์กรและสร้างโมเดลธุรกิจด้วยแนวคิดใหม่ ยุบทุกหน่วยงานของ DIR4 และ BrandThink มาอยู่ภายใต้ร่ม BrandThink Corp. ที่มีเป้าหมาย ความเชื่อ และความฝันเดียวกัน

คือการเป็นบริษัทด้านการสื่อสารและผลิตสื่อครบวงจร ที่มุ่งสร้างสรรค์สังคมด้วยจุดมุ่งหมาย (Purpose) ในการเป็น Visual Media for Social Impact ภายใต้แนวคิด “Create a Better Tomorrow

เอกลักญเชื่อว่า นี่คืออนาคตของธุรกิจและคอนเทนต์ที่อยู่ภายใต้แพลตฟอร์มใหม่ที่เรียกว่า End-to-End Content Marketing

5 Business Units ยกระดับคอนเทนต์จาก Story-Telling สู่ Story-Doing ด้วย End-to-End Content Marketing

วันนี้ BrandThink เป็นบริษัทด้านการสื่อสารที่ประกอบด้วย 5 หน่วยธุรกิจ (Business Units) ที่ครอบคลุมการสื่อสารในทุกมิติแบบ End-to-End Content Marketing เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในทุกสเกลการผลิต ภายใต้แนวคิด “Create a Better Tomorrow”

เอกลักญเชื่อว่าทั้ง 5 Business Units จะยกระดับคอนเทนต์จาก ‘เรื่องเล่า’ (Story-Telling) สู่ ‘เรื่องราวที่กระตุ้นให้เกิดการลงมือทำ’ (Story-Doing) เพื่อสร้างการสื่อสารที่ส่งต่อความคิดและขับเคลื่อนสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม

1.CONTENT

คนทั่วไปเห็น BrandThink ในยูนิตนี้ชัดเจนที่สุด ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ยูทูบ อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ โดยคอนเทนต์ของ BrandThink นำเสนอเรื่องราวต่างๆ ภายใต้ความเชื่อ ‘small people doing good thing, small step for tomorrow’ ที่เชื่อมั่นในพลังของคนตัวเล็กๆ ในแง่มุมที่หลากหลาย ตั้งแต่เรื่องประเด็นเชิงสังคม บุคคลที่น่าสนใจ การเมือง ป็อปคัลเจอร์ อาหาร จิตวิทยา จนถึงไลฟ์สไตล์ และนำเสนอในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าวิดีโอ ภาพนิ่ง พอดแคสต์ และบทความ ซึ่งปัจจุบันมีคนเข้าถึงคอนเทนต์ BrandThink มากกว่า 3-5 ล้านคนต่อเดือน

2.CAMPAIGN

หากคอนเทนต์คือการสื่อสาร Campaign คือส่วนผสมสำคัญที่ช่วยให้การสื่อสารทรงพลัง เพราะการสื่อสารในยุคที่ทุกคนมีสื่ออยู่ในมือ การสื่อสารที่ทรงพลังจะเกิดขึ้นได้ เมื่อผู้คนที่เชื่อในสิ่งเดียวกันช่วยส่งสารนั้นออกไป

ภายใต้ยูนิต Campaign ของ BrandThink ประกอบด้วย 3 ฟันเฟืองหลัก ได้แก่

นอกจากนักเล่าเรื่อง (Content Creator) ในองค์กร BrandThink เชื่อว่าในโลกที่กว้างใหญ่ ยังมีผู้คนที่มีความสามารถและองค์ความรู้ที่หลากหลายกระจายตัวอยู่ตามที่ต่างๆ BrandThink จึงสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาเพื่อชักชวนและรวบรวมคนเหล่านี้ เพื่อจับมือสร้างสรรค์และขับเคลื่อนโลกที่ดีกว่านี้ไปด้วยกัน

คอนเทนต์ที่ดีหนึ่งตัว ดีที่สุดอาจเป็นไวรัลให้คนพูดถึงหนึ่งสัปดาห์ ก่อนจะจมหายไปในมหาสมุทรของคอนเทนต์ แนวคิดการสื่อสารแบบ End-to-End Communication ที่เน้นมิติการสื่อสารเพื่อขับเคลื่อนสังคม (Social Campaign) คือการสื่อสารอย่างต่อเนื่องที่ผ่านการวางแผนและคิดอย่างรอบด้าน ภายใต้เป้าหมายและผลลัพธ์ (Betterment Index) ที่ชัดเจน เพื่อสร้างคอนเทนต์และรูปแบบการสื่อสารที่สร้างแรงกระเพื่อมต่อสังคมได้อย่างแท้จริง

การสื่อสารในโลกออนไลน์คงไร้ความหมาย หากโลกแห่งความเป็นจริงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง Co-Thinking Space คือการสร้างสมการการสื่อสารให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ด้วยการนำคนที่มีความเชื่อและเป้าหมายเดียวกันมาเจอกัน ผ่านกิจกรรมเสวนา กิจกรรมระดมสมองร่วมแก้ปัญหา เพื่อนำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงร่วมกันในโลกแห่งความเป็นจริง

3.COMMUNICATION

ในยุคนี้ แบรนด์ต้องการสื่อสาร คำถามคือควรสื่อสารอะไร และจะสื่อสารอย่างไรให้ตรงจุด จากประสบการณ์ในการทำงานโฆษณาที่ต้องรับโจทย์การสื่อสารแบรนด์ในหลากหลายอุตสาหกรรม BrandThink ได้ต่อยอดสู่ BrandThink House ยูนิตที่รับผลิตงานโปรดักชั่นและออกแบบการสื่อสารในทุกสเกลแบบ End-to-End Service

“สมัยก่อนตอนเราเปิดบริษัท ประมาณสัก 8 ปีแรก (ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 12) เราทำงานกับลูกค้า Big Brand มาโดยตลอด ไม่ว่าในแง่โปรดักชั่น และโค-โปรดักชั่นขนาดใหญ่กับลูกค้าต่างประเทศ” เอกลักญยอมรับว่า งานโฆษณาคือหนึ่งในงานที่ BrandThink เชี่ยวชาญและเล็งเห็นถึงความสำคัญ จึงต่อยอดการสื่อสารจากการผลิตสื่อโฆษณาในสเกลต่างๆ ทั้ง TVC – Digital Flim – Documentary – Online Content สู่การสื่อสารการตลาดแบบครบวงจรที่มีจุดเด่นด้าน Visual ผ่านการสื่อสารแบบ End-to-End Content Marketing

4.CINEMA

BrandThink CINEMA เกิดขึ้นจากความรักในภาพยนตร์ของพวกเรา เรามองว่าในเมืองไทยยังไม่มีพื้นที่ตรงกลางที่ให้คนรักหนังสามารถติดต่อสื่อสารพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ ซึ่งในอนาคตพื้นที่แห่งนี้จะเป็นเหมือน Community ที่ให้คนทำหนัง คนดู และองค์กรหรือแบรนด์ต่างๆ ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนพูดคุย พบปะ และทำงานร่วมกัน

นอกจากเป็น Community แล้ว BrandThink CINEMA ยังเป็นสตูดิโอ ผลิตภาพยนตร์ ซีรีส์ และสารคดีที่มุ่งนำเสนอประเด็นที่ขับเคลื่อนสังคมให้ดีขึ้นอีกด้วย (Social Driven) ภายใต้ชื่อสตูดิโอ BRANDT Pictures ประเดิมผลงานแรกด้วยซีรีส์สยองขวัญ อาทิตย์อัสดง (AFTER DARK) โปรเจ็กต์ใหญ่แห่งปี 2020 ของ WeTV Original และซีรีส์รักนี้ต้องอิมโพรไวส์ (Groovin’On) ที่กำลังออนแอร์ทาง POPS Application รวมถึงหนังสารคดีที่เน้น Craft Visual อีกหลายเรื่องที่จะฉายบนแพลตฟอร์ม BrandThink

5.COMMERCE

เปลี่ยนคอนเทนต์สู่การขายได้ทันที ด้วย Commerce ที่จะสร้างประสบการณ์ Content Marketing แบบเรียลไทม์บนแพลตฟอร์ม BrandThink ด้วยแนวคิดที่จะเป็น Social commerce with no GP for small business ที่คัดสรรสินค้าที่มีองค์ประกอบ 3 ข้อ ได้แก่ Creative / Craft / Betterment

“เราต้องการสร้าง online selected shop ที่เป็นแหล่งรวมสินค้าที่มีแนวคิดและจุดประสงค์ที่ดีในการทำสินค้า เพื่อขับเคลื่อนสังคมให้ดีขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง” เอกลักญกล่าว

“และนี่คือ 5 business ของ BrandThink ที่เรากำลังทำอยู่”

Visual Expert เพราะเชื่อว่า ‘ภาพ’ ทรงพลัง

ภาพของ BrandThink ในวันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากตำราธุรกิจเล่มใด แต่เกิดจากการลงมือทำในสิ่งที่เชื่อทีละเล็กทีละน้อย คล้ายการต่อจิ๊กซอว์แต่ละชิ้นจนกลายเป็นภาพใหญ่

“กว่าที่เรามาถึงจุดนี้ เราสนใจในงานภาพยนตร์ งานด้านภาพ (Visual) งานด้านภาพยนตร์ (Film) และงานด้านโฆษณา (Advertising) ที่เป็นไฮ-คราฟท์ เวลานั้นโปรดักชั่นเฮาส์ในวงการเป็นเจ้าใหญ่ เราจึงตัดสินใจเปิด DIR4 โปรดักชั่นเฮาส์หน้าใหม่ที่สร้างความต่างด้วย Craft Visual Production เราสนใจในรายละเอียดของงาน ภาพ แสงเงา ดีเทลต่างๆ เพราะเรามีแพสชั่นในเรื่องนี้ ดังนั้นงานที่เรียกหาเราส่วนใหญ่จึงเป็นงานที่เน้น Visual Base เช่น งานด้าน cosmetic, telecomunication, real estate และแบรนด์ที่เน้นให้ความสำคัญกับ Visual สูง

“ทีนี้ พอเราขยับมาทำคอนเทนต์ออนไลน์ เรารู้สึกว่าโลกคอนเทนต์เป็นอีกความท้าทาย เพราะเป็นโลกที่สื่อสารกับผู้คนจำนวนมาก เราต้องการสร้างคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างผลกระทบบางอย่าง”

สำหรับเอกลักญ ‘ภาพ’ คือสื่อที่ทรงพลัง และจากประสบการณ์ทำงานด้าน Visual อย่างลงลึกนับสิบปี เขาและทีมงานเชื่อว่าการสื่อสารด้วยภาพ (Visual Storytelling) คือสิ่งที่พวกเขารัก หลงใหล และเป็นทักษะที่ทำได้อย่างอยู่มือ

หากภาพหนึ่งภาพแทนคำนับพัน คำถามคือเราควรจะสื่อสารคำนับพันนั้นด้วยภาพใด BrandThink พยายามตอบคำถามนี้ ด้วยผ่านผลงานต่างๆ ที่ผ่านมา

Create a better ‘Conversion’ คำตอบของธุรกิจและชีวิตในโลกอนาคต

การสื่อสารเพื่อสร้างสังคมที่ดีที่ BrandThink กำลังมุ่งไป ฟังดูสวย แต่คล้าย ‘ฝัน’ และยากจะอยู่ในโลกความจริง แต่เอกลักญบอกว่า สำหรับเขา นี่คือทิศทางใหม่ที่น่าสนใจทั้งในเชิงธุรกิจและการสื่อสารในอนาคต

“เรากำลังเดินไปในทิศทางที่ภาษาทางการตลาดเรียกว่า Creating Shared Value หรือ CSV โดยเราต้องการ create a better conversion ให้กับแบรนด์ ซึ่งต่างจาก CSR ที่จะเป็นลักษณะการสื่อสารเชิงแบรนด์ดิ้ง แต่เป็นการทำธุรกิจและสร้างสิ่งที่ดีให้สังคมไปพร้อมกัน”

ในวันที่โลกออนไลน์เปิดเปลือยความลวง ผู้บริโภคไม่เชื่อคำโฆษณาของแบรนด์ที่ป่าวประกาศว่า ‘สินค้าฉันดี’ อีกต่อไป ทุกคนต่างมองหาแบรนด์ที่มีเจตจำนงค์หรือ brand purpose ที่ไม่ใช่แค่พูด แต่ต้องยืนหยัดทำสิ่งที่พูดให้เกิดขึ้นจริง

แบรนด์ที่ครองใจผู้บริโภคในยุคนี้จึงเป็นแบรนด์ที่มี brand purpose แต่จะมีกี่แบรนด์ที่สามารถสื่อสารและทำสิ่งนี้จนจับต้องและจับใจผู้คนได้ ในฐานะคนทำงานด้านการสื่อสารกว่าครึ่งชีวิต เอกลักญขบคิดและตีโจทย์นี้ออกมาเป็นการสื่อสารผ่าน 5 Business Units ของ BrandThink Corp. ที่จะมาตอบโจทย์แบรนด์ต่างๆ ในการสื่อสาร brand purpose ให้เป็นจริงและจับต้องได้

“ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตอนนี้เราอยู่ในโลกทุนนิยมนะ เราอยู่ในโลกการค้าปกตินี่แหละครับ เราไม่ได้โลกสวย จะทำแบรนด์ดิ้ง ทำ CSR หรือทำอะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าเราสามารถทำสิ่งที่ค้าขายได้ด้วย แล้วก็เป็นประโยชน์ต่อคนดูหรือสังคม นี่เป็นไดเรคชั่นที่ผมว่าน่าสนใจ”

แนวคิด Create a Better Tomorrow ซึ่งเป็นทิศทางใหม่ของ BrandThink เอกลักญยอมรับว่า กว่าจะเลือกใช้ประโยคนี้ เขาคิดอยู่นาน

“หลายๆ คนอาจจะตั้งคำถามว่า ทำไมถึงเป็นไดเรกชั่นนี้ ตอนช่วงโควิด ตอนที่เราจะใช้คำว่า Create a Better Tomorrow ผมนั่งคิดอยู่เยอะมากนะ เพราะเหมือนเรากำลังเบนเข็มทิศของสิ่งที่เราทำมาตลอด 12 ปีไปในทิศทางใหม่ ซึ่งทิศทางนี้ไม่ใช่แค่เรื่องแพสชั่น แต่ต้องมองหลายมิติมาก เพราะว่าผมในฐานะที่เป็นหัวเรือ การเปลี่ยนไดเรกชั่นครั้งนี้ เราจะพาทุกคนดิ่งลงเหวหรือเปล่า งานตรงนี้จะอยู่ได้จริงหรือเปล่า มีความต้องการในตลาดหรือไม่ ไม่ใช่มองแค่เรามีแพสชั่นอย่างเดียว เราแฮปปี้อย่างเดียว คำถามสำคัญคือเราจะอยู่ได้ไหม

“ตอบตัวเอง มีอย่างหนึ่งที่ผมค่อนข้างเชื่อมั่นก็คือว่า บริษัทเรา BrandThink หรือตัวเราเอง ค่อนข้างเป็นบริษัทที่มีความเข้าใจเรื่องค้าขาย (commercial) กับเรื่องของศิลปะ (art) ผสมผสานกันได้ค่อนข้างลงตัว ที่ผ่านมา นอกจากงานด้านโฆษณา เราทำงานสารคดีไม่น้อย ด้วยความเชื่อว่างานสารคดีเป็นการสื่อสารที่เข้าถึงผู้คนมากขึ้น

ที่ผ่านมา BrandThink ได้รับความไว้วางใจในการทำงานการสื่อสารด้วยแนวคิด CSV จากแบรนด์ใหญ่ทั้งภาครัฐ เช่น ธกส. ในแคมเปญ ‘คืนความสุขให้วิถีชุมชน’ และภาคเอกชน เช่น แสนสิริ แคมเปญ Tree Story และ WP แคมเปญ Beside You ที่มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนธุรกิจไปพร้อมกับสร้างคุณค่าให้กับสังคม

“ตั้งแต่เราเริ่มเปลี่ยนทิศทางตรงนี้ ผมคิดว่าเราเจอลูกค้าและงานที่ลูกค้าต้องการจะทำอะไรดีๆ บางอย่างให้กับสังคมมากขึ้น …ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งหมดก็เพื่อคำๆ นี้ครับ Create a Better Tomorrow”

มุ่งสร้าง Good Vibe Media ในโลกคอนเทนต์

เอกลักญได้เล่าถึงที่มาและความมุ่งมั่นในการสร้างสิ่งใหม่นี้ “ผมเชื่อว่าคนทุกคนไม่มีใครดีร้อยเปอร์เซ็นต์ และไม่มีใครเลวร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกคนมี bright side ทุกคนมี dark side เพราะฉะนั้นคำๆ นี้ (Create a Better Tomorrow) ที่เราคิดขึ้นมา เราไม่ได้ให้ทุกคนหลบตาจากความจริง แต่เราอยากจะชวนทุกคนให้หัน bright side มาเจอกัน โดยเฉพาะในโลกของการสื่อสาร วันนี้ในโลกออนไลน์เต็มไปด้วย hate speech เราอยากทำ communication ที่ทุกคนสื่อสารกันด้วยจุดมุ่งหมายที่ดี เปิดกว้างให้กับความคิดที่แตกต่าง เพื่ออะไรฮะ เพื่อให้เป็น Good Vibe เพื่อให้ทุกๆ เช้าที่ตื่นมา เปิดมือถือแล้วเจออะไรที่ช่วยให้เรามีพลังในการใช้ชีวิตต่อไป

“โลกเราวันนี้คือยุค Power of Media สื่อทรงพลังมากที่สุดในประวัติศาสตร์ สมัยก่อนเราแค่สื่อสารกับกลุ่มคนหรือชุมชนเล็กๆ ของเรา แต่ทุกวันนี้เราทุกคนใช้โซเชียลมีเดีย เราเชื่อมต่อกับคนทั้งโลก เพียงแค่เปิดโทรศัพท์ เราจะเห็นเลยว่าผู้คนบนโลกกำลังคิดอะไรอยู่ หากเราเปิดมือถือแล้วเจอแต่โลกที่เต็มไปด้วย hate speech อย่างเดียว โดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว สิ่งเหล่านี้จะปักอยู่ในหัวเรา แล้วจะค่อยๆ ขึ้นรูปตัวเราเป็นคนแบบนั้น ลองคิดถึงเวลาที่เราไปอยู่กับกลุ่มเพื่อนที่นั่งคุยกันแล้วก็เอาแต่เมาท์มอยนินทาด่าสิ่งต่างๆ รอบตัว ตอนแรกเราไม่ได้เป็นคนแบบนั้น แต่นั่งไปสักพักหนึ่ง เราก็จะกลายเป็นคนแบบนั้น นี่คือโลกของการทำสื่อปัจจุบัน

“แล้ว BrandThink อยากทำอะไร เราอยากทำพื้นที่ที่อย่างน้อยก็เป็นโลกที่มันโอเค ถ้าจะเป็นโฆษณา ก็ต้องเป็นโฆษณาที่มีมิติใหม่ๆ ในการสื่อสาร เข้าถึง insight ผู้คนมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้แพสชั่นในการเป็น Film Maker พุ่งสูงขึ้น

“วันนี้เราตั้งเป้าที่จะเป็น Leading Visual Media Company ที่มีพลังในการเปลี่ยนแปลงผู้คนและสังคมให้ดีขึ้น ผ่านคอนเทนต์และการสื่อสารในมิติต่างๆ ที่เราทำ

“สำหรับผม นี่เป็นเป้าหมายที่ไม่ง่าย แต่ก็เป็นอะไรที่ท้าทาย และเราอยากมุ่งไปให้ถึง” เอกลักญกล่าวทิ้งท้าย