Site icon Thumbsup

การสร้างแบรนด์ ตามสไตล์ กู๋แมท

เรื่องของการสร้างแบรนด์ใหม่ ในยุคที่การตลาดออนไลน์มีฐานการแข่งขันที่แข็งแรงมากในทุกธุรกิจ ยิ่งธุรกิจขนมเรียกว่ามี “เจ้าตลาด” ที่เป็นฐานใหญ่กินส่วนแบ่งตลาดอย่างมากอยู่แล้ว Cornista แบรนด์ข้าวโพดอบกรอบ ที่ผู้บริหารในการผลิตเป็นธุรกิจรับจ้างผลิตมานาน เมื่อต้องเข้าสู่การลงตลาดสู้ศึกช่องทางค้าปลีกเอง จึงเป็นการเริ่มต้นที่ยากและต้องวางแผนให้แน่น

“สุวิทย์ เอื้อศักดิ์ชัย” ผู้ก่อตั้งบริษัท Brand Matter Plan ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์พัฒนาแบรนด์และการสร้างแบรนด์บุคคล ที่ปรึกษาในการวางแผนการตลาดให้ธุรกิจแข็งแรงได้เล่าให้ฟังว่า ตัวสินค้า Cornista ได้วางขายสินค้าในช่องทางต่างๆ มาหนึ่งปีแล้ว ด้วยรูปลักษณ์ของแบรนด์ที่มีการคิดแล้วว่าด้วยภาพลักษณ์สามารถเข้าถึงวัยรุ่นได้อย่างรวดเร็ว ตอนแรกที่คิดไว้ไม่ได้วางไว้ว่าจะเจาะเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น แต่อยากให้สินค้าเข้าถึงคนทุกกลุ่มที่มองหาของว่างรสชาติใหม่ๆ

แต่ด้วยภาพลักษณ์สินค้าและเทรนด์สินค้า รวมทั้งราคาก็ไม่สูงมาก ไม่แพงเกินไป ไม่ถูกเกินไป ภาพลักษณ์ของขนมก็ดูพกพาสะดวกเหมาะกับชาว Gen Z  รสชาติก็เข้าปากกินง่าย

แนวทางการเลือกพรีเซนเตอร์

นอกจากนี้ การเลือกอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นคนรุ่นใหม่อย่าง น้องมิย่า – น้องเซย่า ทองเจือนั้น ด้วยไลฟ์สไตล์ของน้องทั้งสองคน ก็คล้ายกับคนรุ่นใหม่ทั่วไป คือกิจกรรมอัดแน่นในแต่ละวัน ทั้งเรียนหนังสือ เรียนพิเศษ เล่นโซเชียล ออกกำลังกาย ปาร์ตี้กับเพื่อน ซึ่งทุกสิ่งที่น้องทั้งสองทำนั้น ไม่แตกต่างจากสิ่งที่พบเห็นทั่วไป การที่เราผสมผสานสิ่งเหล่านี้ เข้ากับขนมของเราและมีแคมเปญกับสื่อออนไลน์เป็นตัวสื่อสาร

ด้วยมุมมองและไลฟ์สไตล์ รวมทั้งฐานแฟนของน้องทั้งสองคน ก็ไม่เหมือนกัน แต่ก็เป็นกลุ่มคนที่สร้างค่านิยมใหม่ๆ ได้ อาจไม่ถึงขั้นเป็นซอฟต์พาวเวอร์ใหญ่ๆ แบบคนดังอย่างลิซ่า หรือมิลลิ แบบนั้น แต่การเป็นมือใหม่เข้าสู่วงการค้าปลีกของ Cornista การได้น้องเป็นคนสื่อสารก็ถือว่าเหมาะสมแล้ว

เพราะเราอยากให้แบรนด์นำเสนอความเป็นต้นแบบยุค 90 ให้สินค้าและลูกค้าเรียนรู้ไปด้วยกัน ทำให้สินค้าและแบรนด์วางขายในตลาดได้อย่างยั่งยืนในตลาดยาวนาน

ส่งต่อความสนุกด้วยอินเทอร์เน็ตฟิล์ม

ทั้งนี้ ในมุมของเราคิดว่า อินเทอร์เน็ตฟิล์มคือ การสื่อสารที่เน้นออนไลน์เป็นหลัก ไม่ได้ไปเน้นที่สื่อหลักแบบแบรนด์อื่นๆ ที่แข็งแรงในตลาดอยู่แล้ว การที่เราเอาน้องทั้งสองซึ่งเป็นกลุ่ม New Face ประวัติก็ดี การดึงคาแรคเตอร์มารวมกับรสชาติของขนมก็ทำให้การสื่อสารดูสนุกและมีความน่าสนใจ เพราะน้องทั้งสองเป็นคนรุ่นใหม่ สดใส ร่าเริง เฟรนด์ลี่ ซึ่งเป็น Branding Persona ที่เข้ากับสินค้าของเรา

หลังจากปล่อยตัวสินค้าและเฉลยคาแรคเตอร์ของน้องในอินเทอร์เน็ตฟิล์มแล้ว ไตรมาสถัดไปจะเป็น Activity และดูฟีดแบ็กว่าเป็นอย่างไรบ้าง ดู engage ของลูกค้ากับน้องๆ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง

ส่วนจะมีการปล่อยเพลงหรือไม่นั้น ก็ยังอยู่ในแผน เพราะน้องทั้งสองมีสไตล์การร้องเพลงที่ต่างกัน แนวเพลงและโปรดิวเซอร์ก็ต่างกัน เราอาจจะดูทิศทางก่อนว่าจะเป็นแนวทางไหน

ซึ่งการที่ขนมมี 2 รสชาติ คือไวท์ช็อกโกแลต กับ คาราเมล เราเลือกภาพลักษณ์ของแบรนด์กับพรีเซ็นเตอร์ให้ไปในทิศทางเดียวกัน การเลือกพรีเซ็นเตอร์ก็เช่นกัน เราเลือกจากคนที่จะช่วยสร้างการจดจำให้กับลูกค้าได้ดีกว่าเลือกคนดัง มีผลงานโฆษณาเยอะ แต่จำไม่ได้ว่าเป็นพรีเซ็นเตอร์แบรนด์ใดบ้าง การเลือกอินฟลูเอนเซอร์ต้องดูทัศนคติของผู้บริโภคด้วย

หลักการเลือกพรีเซ็นเตอร์ที่ดีนั้น ยังคงเป็นเสน่ห์ให้แบรนด์เป็นที่จดจำและรู้จักได้ดี เพราะพวกเขาจะเป็นกระบอกเสียงให้แบรนด์ได้อย่างน่าสนใจ แต่จะเลือกคนดังระดับไหนอยู่ที่แบรนด์มองความยั่งยืนของสินค้าที่จะผูกกับพรีเซ็นเตอร์คนนั้นว่าจะเป็นไปในทิศทางใด