Site icon Thumbsup

“ไอบีเอ็มวัตสัน” พัฒนาการอีกขั้นของการรักษาโรคมะเร็งจาก รพ.บำรุงราษฎร์

โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ประกาศความร่วมมือกับ IBM ใช้เทคโนโลยี Cognitive Computing “IBM Watson” เพื่อพัฒนาวิธีการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดย IBM Watson จะอ้างอิงจากข้อมูลประวัติผู้ป่วยแต่ละราย รวมถึงหลักฐานทางการแพทย์ เอกสารทางวิชาการ และข้อมูลจาก Memorial Sloan-Kettering (MSK) ศูนย์รักษามะเร็งชั้นนำของโลก มาวิเคราะห์ ประมวลผล และสรุปออกมาเป็นทางเลือกในการรักษาสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย พร้อมให้เหตุผลสนับสนุนตามหลักปฏิบัติของเครือข่ายมะเร็งครบวงจรแห่งชาติ (National Comprehensive Cancer Network : NCCN)  

โดยทั่วไปแล้ว การรักษาโรคมะเร็งถือเป็นเรื่องที่มีความละเอียดซับซ้อนมาก แพทย์ที่รับผิดชอบคนไข้ในแต่ละเคสจะต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อค้นหาวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ในความเป็นจริงแล้วก็เป็นไปได้ยากที่แพทย์ผู้ทำการรักษาจะตามทันงานวิจัยล่าสุดที่เกี่ยวข้อง หรือเรียนรู้ว่าแพทย์คนอื่นๆ ในอีกซีกโลกหนึ่งมีประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายคลึงกันอย่างไร

IBM Watson จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อให้แพทย์ผู้ทำการรักษามีข้อมูลประกอบสำหรับวางแผนการรักษาโรคมะเร็งของคนไข้รายนั้นๆ มากขึ้น ท้ายที่สุดแล้วก็จะเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วย และช่วยยืดอายุให้กับผู้ป่วยได้อีกทางหนึ่ง โดยข้อมูลทั้งหมดถูกเก็บไว้ใน Cloud

IBM Watson มาจากชื่อของผู้ก่อตั้ง IBM “Thomas J. Watson” ถือเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการนำเอาเทคโนโลยี Big Data มาใช้ในการยกระดับคุณภาพของวงการ Healthcare โดยมีชื่อเต็มๆ ว่า IBM Watson for  Oncology เป็นระบบ Cognitive Computing ที่ประกอบไปด้วยคุณสมบัติ 3 อย่าง ได้แก่ 1). สื่อสารด้วย Natural language หรือสำนวนภาษาพูดของมนุษย์ทั่วไปได้ 2). สามารถวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากเพื่อนำมาตั้งเป็นสมมุติฐาน พร้อมยกเหตุผลมาประกอบ สนับสนุนความน่าจะเป็นสำหรับสมมุติฐานแต่ละแบบ และ 3). สามารถเรียนรู้ได้ ไม่ใช่รับข้อมูลเข้ามาจากการ Programming โดยมนุษย์ แต่มีมนุษย์เป็นผู้สอน

IBM Watson ถูกพัฒนาขึ้นโดยทีมวิจัยและพัฒนาตั้งแต่ปี 2006 เป็นที่รู้จักมากขึ้นในปี 2011 หลังจากมีการนำเอา Watson ไปแข่งขันกับมนุษย์จริงๆ ในรายการ Jeopardy ซึ่งเป็นเกมโชว์ตอบคำถามชื่อดังของอเมริกา (จะเรียกว่ารายการตอบคำถามก็ไม่เชิง เพราะพิธีกรจะอ่านคำตอบ แล้วผู้เข้าแข่งขันต้องตอบว่าคำตอบนั้นมาจากคำถามอะไร งงมั้ยคะ ลองดูที่นี่เลยค่ะ อาจจะงงน้อยลง หรืออาจจะงงมากขึ้น เพราะคำถามมันยากเหลือเกิน) ในปีเดียวกันนั้นเองที่ IBM เริ่มนำเอา Watson มาใช้ในทางการแพทย์ และในปี 2012 ก็ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการเงิน และอุตสาหกรรมอื่นๆ

สำหรับเทคโนโลยี IBM Watson for  Oncology ที่รพ.บำรุงราษฏร์นำเข้ามานี้มีจุดเริ่มต้นมาจากความร่วมมือกันระหว่าง IBM และทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก MSK ศูนย์การรักษามะเร็งอันดับต้นๆ ของโลก เพื่อพัฒนาและฝึกฝน Watson for Oncology ให้สามารถตีความข้อมูลทางการแพทย์ของผู้ป่วยมะเร็ง โดยอ้างอิงข้อมูลหลักฐานทางการแพทย์ที่มาจากประสบการณ์และงานวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญ โดย MSK ใช้ Watson ในการช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว

ในปัจจุบัน โรงพยาบาลที่ใช้ IBM Watson มาเป็นผู้ช่วยแพทย์ผู้ทำการรักษาโรคมะเร็งมีทั้งสิ้น 4 โรงพยาบาลทั่วโลก โดยรพ.บำรุงราษฏร์เป็นหนึ่งในนั้นและยังเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยในเวลานี้ โดยทางบำรุงราษฏร์เปิดเผยว่ากำลังอยู่ในขั้นตอนการวางระบบและเทรนนิ่ง คาดว่าจะพร้อมใช้งานจริงในช่วงกลางปี 2015