Site icon Thumbsup

ค้าปลีกต่างชาติปิดรัวๆ ยังเหลือธุรกิจอะไรที่ลงทุนในไทยต่อบ้าง

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นอีกหนึ่งข่าวร้ายของแฟนคลับห้างสรรพสินค้าสัญชาติญี่ปุ่นอย่างโตคิว ที่ปิดทำการถาวรในประเทศไทยเรียบร้อย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ห้างสรรพสินค้าอิเซตันก็ได้ยอมถอนตัวจากการเช่าพื้นที่ของเซ็นทรัลเวิร์ล ทำให้เหลือห้างสรรพสินค้าสัญชาติเอเชียอยู่ในไทยอีกเพียงไม่กี่ราย นั่นก็คือ Takashimaya ที่ไอคอนสยาม กับ Donki ที่ทองหล่อและประตูน้ำ

ด้วยสถานการณ์โควิด-19 นั้น ต้องยอมรับว่าการถอนตัวกลับของหลายธุรกิจออกจากพื้นที่ประเทศไทยนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก แม้ว่าประเทศไทยจะเคยได้รับการขนานนามว่าเป็นประเทศจุดหมายปลายทางที่ควรแวะมาสักครั้ง แต่ด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกทั้งมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของทั่วโลกที่ยังไม่สามารถยับยั้งเชื้อโรคนี้ได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ ในแง่ของธุรกิจก็ยังคงต้องรักษาเนื้อรักษาตัวไปก่อน เพื่อรอวันฟ้าเปิดกลับมาอีกครั้ง

วันนี้เรามาลองย้อนกันดูว่าค้าปลีกอะไรบ้าง ที่ยังอยู่รอดในไทยและมีความร่วมมือใหม่ๆ ที่น่าสนใจค่ะ

อิเซตัน

 เป็นห้างสรรพสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2429 (ค.ศ. 1886) ห้างสรรพสินค้าอิเซตันได้เปิดให้บริการในประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2535 บริหารงานโดย บริษัท อิเซตัน (ประเทศไทย) จำกัด สาขาแรกและสาขาเดียวตั้งอยู่ที่ศูนย์การค้า เซ็นทรัลเวิลด์ (เดิมคือ เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์) และได้รีโนเวตครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2558 โดยทุ่มงบประมาณ 1,000 ล้านบาท รีโนเวทห้างด้วยคอนเซ็ปท์ “This is Japan” วางจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพทั้งจากญี่ปุ่นและไทย ที่เห็นเด่นชัดก็เช่น ร้านอาหาร หรือร้านหนังสือคิโนะคูนิยะ หลังจากนั้น วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2563 ทางอิเซตัน จะยุติดำเนินกิจการ ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2563 นี้เป็นต้นไป เนื่องจากสิ้นสุดสัญญาเช่าพื้นที่กับเซ็นทรัลเวิลด์

โตคิว

เป็นห้างสรรพสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น บริหารงานโดย กลุ่มโตคิว ห้างสรรพสินค้าโตคิวเปิดให้บริการในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2528 สาขาแรกตั้งอยู่บนถนนรัชดาภิเษกโดยเป็นฐานรากของอาคารศรีวราทาวเวอร์ (ปัจจุบันคือ อาคารซีดับเบิลยู) ภายหลังได้มีการขยายสาขาที่สองไปที่ศูนย์การค้ามาบุญครอง (ปัจจุบันคือ เอ็มบีเคเซ็นเตอร์) ในปีเดียวกันโดยได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก

แต่ใน พ.ศ. 2540 จากวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตกทำให้ยอดผู้ใช้บริการไม่ตรงเป้า บวกกับปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นและการฟ้องร้องเรื่องคดีทุจริตในที่ดินและการก่อสร้างอาคารศรีวราทาวเวอร์ที่ไม่ตรงตามแบบ โตคิวจึงได้ตัดสินใจปิดสาขารัชดาภิเษกลงและย้ายสาขาทั้งหมดไปรวมกันที่สาขามาบุญครองสาขาเดียว

ต่อมาใน พ.ศ. 2558 ทางโตคิวเองก็พยายามขยายสาขาที่ 2 ไปที่ ศูนย์การค้าพาราไดซ์พาร์ค โดยร่วมทุนกับสยามพิวรรธน์ในชื่อ บริษัท พีที รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด แต่ก็ต้องปิดตัวไปในเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2562 เนื่องจากธุรกิจขาดทุนสะสม

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ห้างสรรพสินค้าโตคิว เตรียมปิดกิจการสาขาสุดท้ายของโตคิว ณ ศูนย์การค้าเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ ในช่วงปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 โดยให้เหตุผลว่า เป็นเพราะผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงจากการระบาดของโรคโควิด-19 รวมกับสภาพการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยโตคิวยืนยันข่าวในวันเดียวกัน นั่นคือจะห้างสรรพสินค้าจะปิดให้บริการในวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2564 พร้อมทั้งยกเลิกโครงการบัตรสมาชิกสะสมแต้มไปพร้อมกัน โตคิวได้ปิดให้บริการลงในเวลา 21.00 น. ของวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2564 โดยมีผู้บริหารและพนักงานร่วมอำลาผู้เข้าใช้บริการโดยพร้อมเพรียงกัน

ทางด้านของผลการดำเนินงานย้อนหลัง 5 ปี จนถึง พ.ศ. 2563 ของบริษัท กรุงเทพ-โตคิว สรรพสินค้า จำกัด ก่อนการปิดให้บริการ พบว่าขาดทุนสะสม 670 ล้านบาท จึงทำให้คาดว่าเป็นอีกหนึ่งเหตุผลหลักที่ทำให้โตคิวตัดสินใจถอนทุนในประเทศไทย

ทาคาชิมาย่า

เป็นกลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1829 ในระยะแรกจำหน่ายสินค้าปลีกประเภท เสื้อผ้า ผ้าฝ้าย จนขยายสาขาทั่วประเทศญี่ปุ่น และมีสาขาในต่างประเทศที่สิงคโปร์ ไทเป ปารีส และในประเทศไทย ที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น ทาคาชิมาย่า มีสาขากว่า 20 แห่ง ทั่วประเทศ ส่วนในประเทศไทย ที่เห็นได้ชัดก็คือที่ไอคอนสยาม เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งห้างสรรพสินค้าค้าปลีกสัญชาติญี่ปุ่นที่มีสินค้าดึงดูดใจนักท่องเที่ยวมากมาย

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2562 บริษัทแม่ของสยามทาคาชิมาย่า ได้แสดงผลรายได้จากการดำเนินงาน (Operating revenue) 800 ล้านเยน (222 ล้านบาท) ขาดทุน 400 ล้านเยน (111 ล้านบาท) ด้านเหตุผลที่ผลประกอบการต่ำกว่าเป้าหมายก็คือ โครงสร้างพื้นฐานทางรางล่าช้ากว่ากำหนด ซึ่งหมายถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง (กรุงธนบุรี-คลองสาน) ที่กำลังก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2563 แต่ก็เจอพิษโควิดทำให้เลื่อนมาเปิดบริการเมื่อ 16 ธันวาคม 2563 และอีกเหตุผลหนึ่ง คือ อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนสินค้าที่นำมาจำหน่าย (Re-merchandising) 

ที่มา : https://www.takashimaya.co.jp/file/210107a.pdf

และเมื่อเช็คตัวเลขล่าสุดของไตรมาสที่ 3 ปี 2020 (มค.-กย.) พบว่า ทำรายได้ 800 ล้านเยน แต่เมื่อเทียบกับ กค.-กย. ทำรายได้แตะ 200 ล้านเยน คาดว่าปิดปีโควิดอาจจะส่งผลกระทบรายได้อย่างน้อย 100 ล้านเยน

ดองกิ

ดองกิโฮเต้ เป็นร้านค้าขายของลดราคาจากประเทศญี่ปุ่น ก่อตั้งใน 5 กันยายน พ.ศ. 2523 (ค.ศ. 1980) มีสาขามากกว่า 160 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศอีก 10 สาขา สิงคโปร์, ไทยและฮ่องกง ใช้ชื่อร้านว่า ดอง ดอง ดองกิ

ธุรกิจของดองกิในประเทศไทย ยังถือว่ามีแนวโน้มที่ดีอยู่ เพราะมีสินค้าเกี่ยวกับญี่ปุ่นที่น่าสนใจ และราคาของอาหารก็จับต้องได้ ทำให้ MBK ที่ต้องเสียโตคิวไป เลือกที่จะดึงดองกิ เข้ามาเสริมทัพแทน โดยจะอยู่ในพื้นที่ชั้น 2 ของโตคิวเดิมที่เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส

นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าไว้ว่าจะเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ซึ่งหวังจะเป็นจุดแฮงก์เอาท์ของกลุ่มคนเที่ยวกลางคืน และจะมีพาร์ทเนอร์อย่าง Tim Horton, ฮองมิน, ชินกันเซน ซูชิและเอสแอนด์พี มายืดเวลาการให้บริการนานขึ้นเช่นกัน

งานนี้ต้องคอยติดตามกันว่าอีกสองห้างสรรพสินค้าค้าปลีกชื่อดังสัญชาติญี่ปุ่น จะยังรักษาตัวรอดได้หรือไม่ ในยุคที่นักท่องเที่ยวมาไทยน้อยลง และรายได้ของประชาชนชาวไทยก็ไม่ได้มีกำลังซื้อมากเท่าในอดีตแล้ว ซึ่งอะไรจะเป็นเสน่ห์ให้คนอยากเดินห้าง ขณะเดียวกันการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ของไทยก็เหนื่อยไม่แพ้กัน