Site icon Thumbsup

การเลือกเส้นทางอาชีพสำหรับคนรักการเขียน

visual-content

ช่วงนี้กำลังปั่นสไลด์สำหรับการสอน Web Content ให้กับค่าย Young Webmaster Camp (โครงการสอนน้องทำเว็บ ของสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย) ที่กำลังจะมาถึงในช่วงปีใหม่ พบว่าเรื่องหนึ่งที่น่าใส่เข้าไปในสไลด์สำหรับค่ายนี้ก็คือ ถ้าเป็นคนรักการอ่านรักการเขียน ชอบ Content สามารถทำอาชีพอะไรได้บ้าง ใครที่อายุอานามยี่สิบต้นๆ กำลังมองหาเส้นทางอาชีพที่ใช่ของคุณอยู่ อย่ามองข้ามบทความนี้ไปครับ

ผมเคยเขียนถึงเรื่อง Career Path ของนักการตลาดดิจิทัลในภาพรวมเอาไว้ แต่วันนี้อยากจะเจาะลึกถึงกลุ่มคนชนิดเดียวกันกับผมสักหน่อย นั่นคือกลุ่มคนที่เป็นหนอนหนังสือ ชอบคิด ชอบเขียน ถ้าศึกษาด้าน Content ไปเรื่อยๆ แล้วเส้นทางอาชีพจะไปเป็นอะไรได้บ้าง ก็ขอเรียบเรียงไว้ครับ

[ฝั่งเอเยนซี่]- งานที่เกี่ยวกับการเขียนในบริษัทโฆษณา มีหลายตำแหน่งครับ เช่น Copy Writer, Social Media Manager, Online strategist งานของคนชอบคิดชอบเขียนในสายงานโฆษณา ถ้าคุณศึกษาเรื่อง Branding, Creative Writing, Consumer Behaviour เพิ่มอีกสักหน่อยอาชีพนี้จะเป็นอาชีพที่สามารถพาคุณก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ไม่ยากเลยล่ะครับ และสายงานโฆษณาก็สามารถแตกขยายไปได้เรื่อยเลย หรือจะออกไปแนว SEO ด้วยก็ยังได้นะครับ เพราะคนทำ Content ก็จำเป็นจะต้องรู้เรื่องการวางลิงก์ ทำ On page, Off-page Optimization ต่างๆ ด้วย

[ฝั่งแบรนด์]- งานที่เกี่ยวกับการเขียนในเชิงการตลาดในกับองค์กร และแบรนด์ต่างๆ เช่น Content Marketer, Digital PR,  Digital Marketing Communication บางคนแม้ว่าจะเริ่มจากสายทำเนื้อหา แต่พอไปเรื่อยๆ เราจะสามารถข้ามไปทางสายการตลาดได้ เพราะ Content เข้ามามีบทบาทกับการตลาดสมัยนี้มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะนักการตลาดสมัยใหม่ที่จะต้องมีเรื่องของ Content Marketing มาเกี่ยวข้องครับ

[ฝั่ง Publisher] – Online journalist, Content editor อันนี้สำหรับองค์กรที่เป็นแนวสื่อสารมวลชน ต้องมีคนที่ออกแนวนักเขียน นักข่าวสักหน่อย งานแนวนี้ไม่ต้องเขียนเรื่องราวดีๆ ของแบรนด์ตลอดเวลาก็ได้ แต่นำเสนอในเชิงข่าว และบทความ ตลอดจนวิดีโอที่เกี่ยวกับเรื่องอะไรก็ได้ ถ้าทำงานต่อไปเรื่อยๆ จะขึ้นไปในตำแหน่งระดับ Managing editor, Editor-in-Chief ในเว็บ Portal, เว็บหนังสือพิมพ์, นิตยสารออนไลน์ต่างๆ

และในฝั่ง Publisher นี้… นอกจากเขียนๆ คิดๆ ทำวิดีโอ กราฟิกแล้ว ยังมีฝั่งที่ทำผลิตภัณฑ์ด้วยนะครับ เช่นสมัยผมทำงานที่ Flickr ก็เคยไขว้ไปทำงานสาย Product Manager, Web project manager ซึ่งเป็นแนวการทำ feature ให้บริการบนเว็บและแอปพลิเคชั่นต่างๆ ได้อีก ซึ่งรวมไปถึงอาชีพแบบ Webmaster ซึ่งในเมืองไทยมีการบัญญัติอาชีพผู้ดูแลเว็บ หรือเว็บมาสเตอร์เอาไว้มาร่วม 10 ปีล่ะครับ คนเป็น Webmaster ก็คือคนดูแลเว็บในภาพรวมนั่นเอง ตั้งแต่หา Content จัดจ้างทำ Content ทำภาพ ทำเสียง เขียนโค้ด วางระบบ คิด feature ฯลฯ เรียกได้ว่าเป็นคนทำเว็บไซต์ตั้งแต่ต้นจนจบได้นั่นเอง

[ไม่ฝักไฝ่ทำงานกินเงินเดือน] สำหรับคนที่ไม่อยากอยู่ทั้ง 3 สายข้างบนนี้ก็ไปเป็นคนทำ Content อิสระออกแนว freelance ได้นะครับ เช่นทำเว็บของตัวเอง เป็น Blogger เขียนงานต่างๆ มีรายได้จากการรับโฆษณา เขียนรีวิว ทำวิดีโอแนะนำผลิตภัณฑ์ (จริงๆ คำว่า Blogger มีนิยามกว้างมากครับ  Blogger ไม่สนใจงานโฆษณาเลยก็มี แต่ในบทความนี้ระบุถึงเพียงในแง่ของการสร้างอาชีพเท่านั้น)

แต่อย่างไรก็ตาม 3 สายนี้ก็เป็น 3 สายใหญ่ๆ ครับว่าคนทำ Content จะไปสายไหนได้บ้าง เงินเดือนก็มีเริ่มตั้งแต่ 10,000 – ไล่ไปจนถึงราวๆ 60,000 สำหรับ 5-6 ปีแรก จากนั้นก็ไต่ไปเรื่อยๆ เป็นหลักแสน และหลักล้านได้ในฐานะ top management ใครสนใจอยากศึกษาเรื่องเงินเดือนก็ลองอ่านพวกคู่มือฐานเงินเดือนประจำปีของบริษัทจัดหางานต่างๆ นะครับ

หวังว่าจะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยครับ