Site icon Thumbsup

เข้าสู่ยุคค้าปลีกออนไลน์ เซ็นทรัลขยับตัวรับเทรนด์ครั้งใหญ่ หวังรายได้ 3 แสนล้านในปีนี้

ครบรอบ 1 ปี สำหรับ New Era ของกลุ่มเซ็นทรัล ที่หลังจากตลอดทั้งปี 2560 ที่ผ่านมา จะเป็นการลองผิดลองถูกซะมาก แต่การที่มีธุรกิจค้าปลีกเป็นส่วนหลักของเครือ ทำให้การปรับตัวไม่ได้เปลี่ยนแปลงได้คล่องตัวนัก แต่ก็ต้องยอมรับอีกเช่นกันว่า การนำเทคโนโลยีหลายอย่างเข้ามาปรับใช้กับธุรกิจค้าปลีก ทั้งการจับมือกับยักษ์อีคอมเมิร์ซ และห้างค้าปลีกในต่างประเทศ ก็เริ่มค่อยๆ เห็นผลแล้วในวันนี้

ญนน์ โภคทรัพย์ President ของกลุ่มเซ็นทรัล และ ทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล

การประกาศยุทธศาสตร์ นิวเซ็นทรัล นิวอีโคโนมี มุ่งหน้าสู่การเป็นสุดยอดเทคคอมปานี 
และผู้นำด้านดิจิ-ไลฟ์สไตล์แพลตฟอร์มแห่งแรกของประเทศไทย 
เพื่อมอบประสบการณ์ใช้ชีวิตที่เหนือกว่าให้กับลูกค้าคนพิเศษ โดยการเป็น ‘นิวเซ็นทรัล นิวอีโคโนมี’ (NEW CENTRAL, NEW 
E-CONOMY) ทั้งในด้านเทคโนโลยี และผู้นำดิจิ-ไลฟ์สไตล์แพลตฟอร์ม (Market Leader in Digi-Lifestyle Platform) อย่างเต็มรูปแบบ ตลอดจนร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำของโลกในการเสริมแกร่งธุรกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาคนและชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล

ทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า กลุ่มเซ็นทรัลได้สร้างผลงานความสำเร็จในหลายมิติ ทั้งด้านผลประกอบการที่เพิ่มสูงขึ้นทุกๆ ปี โดย 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556-2560) ตัวเลขยอดขายของทั้งกลุ่มเซ็นทรัลมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยมากกว่า 11% และในปี 2560 สัดส่วนของผลประกอบการก็เป็นที่น่าพึงพอใจ โดยแบ่งออกเป็น ยอดขายในประเทศไทย 72%, ยอดขายในยุโรป 15% และยอดขายในประเทศเวียดนาม 13% ซึ่งสัดส่วนของตัวเลขยอดขายดังกล่าว ก็มีที่มาจากความสำเร็จของธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัลทั้งในประเทศไทย ยุโรป และประเทศเวียดนาม

ทางด้านความเติบโตในไทย จากปัจจุบันกลุ่มเซ็นทรัลมีร้านค้ารวม 4,970 แห่ง ใน 38 จังหวัดทั่วประเทศและในอีก 5 ปี จะมีหน้าร้านเพิ่มเป็น 7,509 แห่ง ครอบคลุม 52 จังหวัดทั่วประเทศ ทำให้สัดส่วนหน้าร้านจากเดิม กทม. 80% ต่างจังหวัด 20% มาเป็น กทม. 54% ต่างจังหวัด 46% เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ เซ็นทรัลได้ตั้งเป้ายอดขายในปีนี้ ไว้ราว 397,308 ล้านบาท (คิดเป็นอัตราการเติบโต 14% จากปี 2560) และทุ่มงบประมาณกว่า 47,500 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 27.8% จากปี 2560) เพื่อขยายการลงทุนต่อเนื่องทั้งในและนอกประเทศ

ญนน์ โภคทรัพย์ President ของกลุ่มเซ็นทรัล

ญนน์ โภคทรัพย์ President ของกลุ่มเซ็นทรัล ได้
ชูยุทธศาสตร์ 5 ปี หรือยุทธศาสตร์ใหม่สำหรับปี 2561-2565  ที่จะนำพากลุ่มเซ็นทรัลสู่การเป็น ‘นิวเซ็นทรัล 
นิวอีโคโนมี’ (NEW CENTRAL, NEW E-CONOMY) เพื่อครองตำแหน่งผู้นำด้านดิจิ-ไลฟ์สไตล์แพลตฟอร์ม (Digi-Lifestyle Platform) แห่งแรกในประเทศไทย

ปีที่ผ่านมา ทางเซ็นทรัลได้มีการประกาศใช้ยุทธศาสตร์ “Digital Centrality” ภายใต้กลยุทธ์ที่รองรับ การโฟกัสจุดแข็งในธุรกิจหลักที่เซ็นทรัลมี คือ ห้างสรรพสินค้า  ศูนย์การค้า แล้วเสริมด้วยการสร้างออนไลน์มาผสานธุรกิจค้าปลีกให้เป็น “หนึ่งเดียว” เป็น “Omni Channel” สินค้าที่ขายก็หมดยุค Fit for all แต่ต้องตอบสนองได้แบบ 1 ต่อ 1 หรือ Segments of one

และมาในปีนี้ก็ได้เห็นผลดังกล่าวแล้ว เพราะกลุ่มเซ็นทรัลได้ร่วมทุนกว่า 17,500 ล้านบาท กับ JD.Com ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซจากประเทศจีน ในการจัดตั้ง เจดี เซ็นทรัล (JD CENTRAL) มาร์เก็ตเพลสแห่งใหม่ในชื่อ JD.co.th เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเข้าถึงลูกค้าของกลุ่มธุรกิจในเครือกลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งจะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนให้เกิดดิจิ-
ไลฟ์สไตล์แพลตฟอร์ม อย่างรวดเร็วและครบวงจรยิ่งขึ้น โดยภายในเดือนพฤษภาคมนี้ เว็บไซต์ JD.co.th จะพร้อมเปิดให้บริการแก่ลูกค้า รวมถึงเปิดโอกาสให้สินค้าไทย และสินค้า SMEs ได้เผยแพร่สู่ตลาดโลก

นอกจากนี้ ยังมีการสร้างอีก 2 ธุรกิจ คือ อี-โลจิสติกส์ และอี-ไฟแนนซ์ ที่จะครอบคลุมเรื่องการจัดส่งและการเงินแบบครบวงจร เพื่อให้ลูกค้าและซัพพลายเออร์ทำงานได้อย่างสะดวกขึ้น แน่นอนว่าการพัฒนาดิจิไลฟ์สไตล์แพลตฟอร์มให้เป็นไปแบบครบถ้วน ก็ได้เพิ่ม 4 องค์ประกอบคือ พันธมิตร เทคโนโลยี คนและชุมชน โดยโฟกัสหลักที่บริษัทมุ่งเน้นในเรื่องเทคโนโลยี ได้แก่

1. สร้างอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มที่ดีที่สุดให้กับทุกกลุ่มธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัล เพื่อให้เกิดการ
ซินเนอจี้ระหว่างกันอย่างเต็มประสิทธิภาพ

2. สร้างฐานข้อมูลลูกค้าบนคลาวด์ เพื่อรวบรวมข้อมูลลูกค้าจากทุกกลุ่มธุรกิจในเครือของกลุ่มเซ็นทรัล และแหล่งข้อมูลอันเป็นประโยชน์อื่นๆ นำมาทำการวิเคราะห์ เพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมลูกค้าเชิงลึก และสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในลักษณะเฉพาะบุคคลได้

3. สร้างแพลตฟอร์มไลฟ์สไตล์ใหม่ของเดอะวัน เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ (Engagement) กับลูกค้าอย่างเหนียวแน่น และมอบประสบการณ์การใช้ชีวิตที่เหนือกว่าให้กับลูกค้า

4. ลงทุนต่อเนื่องในด้านโลจิสติกส์ และศูนย์กระจายสินค้าที่ทันสมัย เพื่อปรับปรุงการให้บริการลูกค้าให้ได้รับความพึงพอใจยิ่งขึ้น อาทิ การพัฒนาคลังสินค้าระบบออโตเมติกของออฟฟิศเมทที่ใช้เงินลงทุนกว่า 1 พันล้านบาท เพื่อสร้างระบบอีโลจิสติกส์ให้สมบูรณ์แบบ

การขยับตัวครั้งใหญ่เข้าสู่ยุคออนไลน์นี้ แม้ไทยจะไม่ประสบปัญหาธุรกิจห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าปลีกซบเซา แต่ก็ต้องยอมรับว่าการขยับตัวรับยุค 4.0 น่าจะช่วยสร้างภาพลักษณ์และเพิ่มโอกาสในการขายให้มีทิศทางที่ดีกว่าเดิม เพราะคนไทยเริ่มมองหาการซื้อขายด้วยปลายนิ้วกันมากขึ้น การรุกตลาดออนไลน์ก็น่าจะสร้างโอกาสรับยุคใหม่ได้ดีเช่นกัน