Site icon Thumbsup

ย้อนรอยการบล็อกสังคมออนไลน์ในแดนมังกร

เมื่อวานข่าวการบล็อกสังคมออนไลน์ของคนวัยทำงานอย่าง LinkedIn ในประเทศจีน กลับทำให้ผู้เขียนไม่นึกแปลกใจมากนัก เพราะก่อนหน้านี้ทั้ง Facebook , Twitter และ Foursquare ก็โดนกันถ้วนหน้ามาแล้ว

เมื่อมองย้อนกลับไป Youtube นั้นเริ่มโดนบล็อกตั้งแต่เดือน มีนาคม 2009 อันเนื่องมาจากมีการเผยแพร่คลิปวีดีโอที่แสดงถึงภาพที่ทหารจีนทำร้ายชาวทิเบต ตามมาด้วยวันที่ 2 มิถุนายน 2009 ที่จะใกล้ครบรอบ 20 ปีเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน (4 มิถุนายน 1989) ทางรัฐบาลจีนป้องกันการรวมตัวและก่อเหตุความวุ่นวายโดยตัดสินใจบล็อกการเข้าใช้งาน Twitter และ Flickr นี่ยังไม่นับเว็บไซต์ท้องถิ่นอีกหลายๆ แห่งที่มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว

หลังจากนั้นในเดือนถัดมา Facebook ก็ถูกบล็อกตามเกือบทุกเขตในประเทศจีน เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการจลาจลในเมืองอุรุมชี เมืองเอกของซินเจียง ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 140 คน การจลาจลดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการปะทะกันระหว่างชาวฮั่นและชาวอุยกูร์ชนกลุ่มน้อยซึ่งมีความรู้สึกว่าตนไม่ได้รับสิทธิทางสังคมเท่าเทียบดังเช่นชาวฮั่น อย่างไรก็ตามชาวจีนก็ยังไม่ลดละความพยายามพยายามฝ่าฝืนเข้า Facebook แถมยังมียอดเพิ่มขึ้นกว่า 30% อีกต่างหาก

ในปี 2010 คงจำกันได้ว่า Foursquare สังคมออนไลน์น้องใหม่ที่รุ่งมากเมื่อปีก่อน ใครๆ ก็มักชอบแชร์สถานที่ด้วยการ Checkin และเก็บสะสม Badge ไปไปมามาสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ในพิธีรำลึกครบรอบ 21 ปี ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน มีกลุ่มผู้ประท้วงหัวสร้างสรรค์นำมาใช้เป็นจุด Checkin และมีข้อความใน tips ที่แน่นอนว่าค่อนข้าง sensitive พอสมควร อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อกับ Twitter และ Facebook ได้ กลายเป็น Foursquare เป็นอีกรายที่ต้องถูกบล็อกไปตามระเบียบ

ในขณะที่ฟากผู้ให้บริการ Search Engine ยักษ์ใหญ่ Google พยายามเจรจาต่อรองกับรัฐบาลจีนเรื่องของการเซ็นเซอร์ผลการค้นหากันมาหลายปี จนกระทั่ง Google ได้ออกมาประกาศยุติการกรองคีย์เวิร์ดซึ่งขัดกับหลักปฎิบัติตามกฎหมายจีน ทำให้ Google ตัดสินใจประกาศถอนตัวด้านธุรกิจ Search Engine ช่วงเดือนมีนาคม 2010 ส่งผลถึงการค้นหาจาก PC และโทรศัพท์มือถือ? หลังจากนั้นมีการ redirect traffic จาก Google.cn ไปที่ Google.com.hk (ฮ่องกง) แต่จะยังถูกจำกัดการค้นหาด้วยคำต้องห้ามอยู่

และสดๆ ร้อนๆ กับ LinkedIn ไม่รู้ว่าภายในนั้นมีกลุ่มที่รวมตัวกันแสดงความคิดเห็นอะไรที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ถ้าใครได้เคยลองใช้ก็จะรู้ว่าสามารถอัพเดตสถานะโดยเชื่อมต่อและดึงข้อมูลจาก Twitter ได้ กลายเป็นจุดข้อสังเกตให้กับ Surya Yalamanchil อดีตผู้อำนวยการการตลาดของ LinkedIn กล่าวว่านี่อาจเป็นสาเหตุของการที่ LinkedIn ถูกบล็อกไปด้วย

จีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกเป็นตลาดที่น่าสนใจของชาวโลกตะวันตก (ถ้าไม่นับว่ามีปัญหากันบ่อยๆ) ปัจจุบันหลายๆ บริษัทก็ยังพยายามหาวิธีเข้าสู่ตลาดจีนอยู่ โดยอาจอาศัยการจับมือกับบริษัทท้องถิ่น อาทิเช่น ข่าวลือที่ Facebook กำลังพยายามจับมือกับ Baidu เพื่อเพิ่มจำนวนสมาชิกเป็นหลักพันล้านราย แต่จะมีใครสามารถทำได้จริงหรือไม่นั้นคงต้องติดตามกันต่อไปเพราะทุกวันนี้ถึงแม้ไม่มีเว็บไซต์ชื่อดังเหล่านั้น จีนเองก็มีโคลนนิ่งไว้พร้อมแล้ว อาทิ Baidu เทียบได้กับ Google, Taobao เทียบได้กับ Amazon, Xiaonei เทียบได้กับ Facebook, RenRen เทียบได้กับ Tumblr, Sina เทียบได้กับ Yahoo! เป็นต้น หรืออย่างเว็บฯ น้องใหม่ Panguso บริการ Search Engine จากรัฐบาลจีน แถมเว็บฯ โคลนนิ่งเหล่านี้ทำได้เจ๋งเสียด้วย อาทิเช่น Baidu Search Engine ยอดนิยมอันดับ 4 ของโลก

แม้ลึกๆ จะแอบคิดไม่ได้ว่าความสำเร็จของเว็บฯ ท้องถิ่นเหล่านี้เกิดจากแรงสนับสนุนของรัฐบาลจีน และไม่มีคู่แข่งยักษ์ใหญ่จากต่างชาติ แต่สำหรับหลายภาคธุรกิจเวลาจีนจะทำอะไรแล้วจะดูน่าเกรงขามและจริงจังไม่น้อย วันก่อนไปเห็นนิตยสาร “คิด Creative Thailand” ก็จับกระแสจีนในหัวข้อ “China The Transformation” พอเปิดไปหน้าแรกก็เจอคำนิยามโดยจักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ตกล่าวไว้ว่า “Let China sleep, for when she awakes, she will shake the world”….

รวบรวมรายชื่อเว็บไซต์ต่างประเทศที่โดนบล็อกในจีน

รูป : britannica, AFP, aboutfoursquare.com, blog.daviddho, nytimes, Huffington Post

ปล. ถ้าชื่นชอบบทความนี้ฝากเป็นกำลังใจให้กับทีมงาน กด thumbsup ให้กับเราที่มุมขวาบนของบทความปุ่มสีส้มด้วยนะคะ ^^