Site icon Thumbsup

จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในจีนทะลุ 500 ล้านคนและยังเติบโตต่อเนื่อง

ในขณะที่ประชากรผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในบ้านเรากำลังเติบโตแตะ 25 ล้านคน ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกอย่างจีนมีฐานผู้ใช้ทะลุ 500 ล้านคนไปเรียบร้อยแล้ว และยังมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นหลักสิบล้านคนต่อปีอีกด้วย ทำให้ในขณะนี้จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในจีนมีมากกว่าประชากรทั้งประเทศของหลายๆ ประเทศไปแล้ว รวมถึงยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาด้วย

?(ภาพประกอบจาก Digital Trends)

ผลจากการสำรวจล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา รอยเตอร์ได้ระบุว่าจีนมียอดผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 505 ล้านคน ซึ่งถือเป็น 37.7% ของประชากรของประเทศเท่านั้น ซึ่งนั่นหมายความว่าจีนยังมีพื้นที่ให้ฐานผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาที่มียอดผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคิดเป็นสัดส่วนถึง 75% ของประเทศ และในขณะเดียวกันยักษ์ใหญ่ในภูมิภาคเดียวกันอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มีการเข้าใช้เว็บเกิน 70% ของประชากรประเทศเช่นกัน

หากมองย้อนกลับไปในปี 2551 จีนมียอดผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพียง 221 ล้านคนเท่านั้น และตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ยอดผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นกว่าปีละ 70 ล้านคน แต่อย่างไรก็ดี ประสบการณ์ในการใช้งานอินเทอร์เน็ตในจีนกลับไม่ได้อยู่ในระดับที่ดีมากนัก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลหรือเว็บไซต์โดยทางรัฐบาลเพื่อเหตุผลทางด้านความมั่นคง แม้ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ในตะวันตกจะมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการกระตุ้นให้จีนเลิกการกรองหรือปิดกั้นการเข้าถึงดังกล่าวก็ยังไม่เป็นผล โดยจีนให้เหตุผลว่าการกระทำดังกล่าวก็เพื่อ”ปกป้องสาธารณชนของประเทศ”

ล่าสุดความพยายามในการควบคุมการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ผ่านช่องทาง microblog หรือสังคมออนไลน์ชั้นนำต่างๆ โดยการบังคับให้ผู้ใชัต้องลงทะเบียนด้วยชื่อ นามสกุลจริงก็ยังไม่สามารถปิดกั้นการเติบโตของฐานผู้ใช้ได้ ซึ่งล่าสุดผู้ใช้ microblog มีมากกว่า 300 ล้านคนแล้ว

ความเห็นผู้แปล: ฐานผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในจีนที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องกำลังเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของข้อมูลข่าวสาร รวมถึงธุรกิจและบริการรูปแบบใหม่ๆ ที่ตอบสนองการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันได้ดีขึ้น เช่น อีคอมเมิร์ซ และบริการคลาวด์ (cloud services) ต่างๆ ซึ่งทั้งข่าวสารและบริการเหล่านี้จะเป็นตัวแปรสำคัญต่อการพัฒนาทางด้านสังคม ความรู้ และภาคเศรษฐกิจของประเทศ

สิ่งที่น่าสนใจคือแนวทางและวิธีในการควบคุมซึ่งจีนแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาบริการใหม่ๆ ทำให้เป็นเสมือนกำแพงที่ทำให้บริษัทจากต่างชาติยังไม่สามารถเข้าไปลงทุนพัฒนาในจีนได้อย่างอิสระ ซึ่งก่อให้เกิดความได้เปรียบของนักพัฒนาและผู้ให้บริการในประเทศ โดยในทางตรงข้าม จีนสามารถส่งออกบริการและธุรกิจเหล่านี้ออกมายังนอกประเทศเพื่อสร้างรายได้ได้ ตัวอย่างเช่น กรณีที่ Weibo ที่เป็นสังคมออนไลน์ฝาแฝดของ Twitter ที่กำลังจะเจาะตลาดโลก ในขณะที่ Twitter ไม่สามารถเปิดให้บริการในจีนได้ โดยรูปแบบการปิดกั้นโดยรัฐบาลจีนนี้จะยังเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดความแตกต่างทางด้านความอิสระในการให้บริการบนโลกอินเทอร์เน็ตในจีน ซึ่งแม้จะทำให้เกิดความไม่มั่นใจในการลงทุนในจีน แต่ด้วยขนาดของตลาดที่ใหญ่มาก ผู้ให้บริการหลายๆ รายจึงยังคงมองตลาดนี้เป็นตลาดที่น่าสนใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สิ่งที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากคือ ความสามารถในการควบคุมของรัฐบาลจีนจะยังเข้มแข็งไปได้อีกนานแค่ไหนเมื่อฐานผู้ใช้เติบโตอย่างต่อเนื่อง และช่องทางในการแบ่งปันข้อมูลข่าวสารก็กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประชากรจีนเริ่มรับรู้และบริโภคข้อมูลข่าวสารจากนอก”กำแพงเมืองจีน”เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผ่านช่องทางที่ไม่ถูกปิดกั้น การหลั่งไหลเข้ามาของวัฒนธรรมต่างๆ กำลังรวดเร็วขึ้น ในขณะที่ภัยทางอินเทอร์เน็ตก็กำลังค่อยๆ เติบโตขึ้น ต้องดูกันอย่างใกล้ชิดว่าจีนจะมีแนวทางในการควบคุมโลกอินเทอร์เน็ตในบ้านอย่างไร เพราะหากวันใดที่นโยบายเปลี่ยนไป โอกาสสำหรับการทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ของโลกทั้งใบอาจจะถึงจุดเปลี่ยนตามไปด้วยทีเดียว เพราะอย่าลืมว่านี่คือตลาดโลกออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดบนโลกใบนี้

ที่มา:?CNET