Site icon Thumbsup

Citizen Journalism จะเกิดได้ชาวเน็ตไทยต้องร่วมผลักดัน

วันนี้เราก็ยังคงอยู่ในเรื่องของอินเทอร์เน็ตนะครับ พอดีมีข่าวเรื่องสึนามิที่ญี่ปุ่นมา อารมณ์ข่าวผมเลยกลับมาพลุ่งพล่านเหมือนสมัยทำเว็บ Manager วันนี้ขอหลุดออกไปเรื่องข่าวออนไลน์กันบ้าง หวังว่าคงไม่ว่าอะไรกัน

วันนี้อ่านคอลัมน์ กาแฟดำ ของสุทธิชัย หยุ่น ในกรุงเทพธุรกิจเกี่ยวกับเรื่อง Citizen Journalism คมเหมือนเดิมครับ ในเมืองไทยเวลาจะอ่านเรื่อง Online media ผมก็ติดตามคุณหยุ่นนั่นแหละ

สุทธิชัยเล่าว่าเปิดดู CNN พบว่าเมื่อ 20 ปีก่อนมีชาวบ้านอเมริกันใช้กล้องวิดีโอถ่ายตำรวจกำลังซ้อมและกระทืบชายผิวดำหน้าอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในนครลอสแองเจลิส ซึ่งต่อมาคลิปวิดีโอที่ชาวบ้านถ่ายไว้ ได้ถูกนำไปออกโทรทัศน์กลายเป็นข่าวโด่งดัง และกลายเป็นหลักฐานสำคัญในชั้นศาลเพือเรียกร้องความถูกต้องในสังคม เพราะคลิปนั้นเป็นหลักฐานมัดตัวตำรวจที่ทำให้ศาลตัดสินลงโทษฐานเจ้าหน้าที่กระทำทารุณกรรมต่อประชาชน

ประเด็นในกาแฟดำก็คือ ชาวบ้านคนนี้นี่เองที่เป็น Citizen Journalist หรือ “นักข่าวพลเมือง” ยุคแรก แม้ว่ายุคนั้นคลิปวิดีโอจะยังไม่ได้ถูกโยงเข้าไปในอินเทอร์เน็ตเพื่อรายงานความเป็นไปในสังคม แต่ที่จริงแล้วทุกคนเป็นนักข่าวได้ ทุกคนร่วมกันทำให้สังคมดีขึ้นได้ ด้วยการรายงานข่าวด้วยจิตสาธารณะผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต

แต่จะว่าก็ว่าเถอะ ผมเห็นคำว่า “Citizen Journalism” หรือการที่คนทุกคนประชาชนธรรมดาสามัญจะกลายมาเป็นนักข่าวได้ ส่วนนักข่าวกระแสหลักที่ร่ำเรียนการข่าวมาจะต้องกลายคนเป็นคนที่ทำข่าวเชิงลึกมากขึ้น เพราะต่อไปข่าวธรรมดาๆ ประชาชนก็ทำกันได้ ไอเดียนี้ผมเห็นพูดกันมาร่วมสิบปีแล้วแต่มันก็ไม่ได้มีความคืบหน้าไปเท่าไหร่

ที่บอกว่ามันไม่ได้คืบหน้าไปเท่าไหร่ ไม่ใช่ว่าผมไม่เชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นจริงได้ เพราะส่วนตัวก็ “พยายามที่จะเชื่อ” ว่ามันควรจะเกิดขึ้นได้ ในต่างประเทศก็มีการยกกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริง และทำรายได้แล้วของ OhMyNews ในเกาหลี ส่วนอเมริกา CNN ก็มี iReport และแคนาดามี Nowplublic

แต่ละเจ้าก็มีรูปแบบการทำงานแตกต่างกันไป อย่าง OhMyNews นี่เมื่อก่อนจ่ายให้ชาวบ้านมาเขียนข่าว ข่าวละกี่วอนว่ากันไป ท้่ายสุดไปไม่รอดก็ต้องขอให้ชาวบ้านมาเป็นอาสาสมัครเขียนข่าว เพราะการเงินของหนังสือพิมพ์ออนไลน์แดนกิมจินี้ไปไม่รอด ส่วน iReport ที่? CNN ทดลองดูก็เป็นแนวให้ชาวบ้านเห็นอะไรก็มาบอกนักข่าว เอาขึ้นเว็บให้เลย ไม่ได้จ่ายเงินอะไร ถ้าหากว่าดีก็ค่อยเอาขึ้น CNN คนเขียนก็ได้เครดิต ส่วน NowPublic อันนี้แจกแต้มให้คนที่มาเขียนข่าวในชุมชนคนข่าวออนไลน์ทั่วโลกที่ใช้ภาษาอังกฤษ เป็นชุมชนคนที่รักการรายงาน ไม่มีเงินให้เช่นกัน ในเมืองไทยเนชั่นเองพยายามทำ OkNation และกลุ่มเครือข่ายพลเมืองเน็ตก็ร่วมผลักดันด้วยการเขียนคู่มือสื่อพลเมืองออกมา ผมว่าที่ทำกันมาทั้งหมดมันดีมาก แต่มันยังไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไร ไม่มี impact จริงๆ ที่จับต้องได้ และนำไปทำต่อในเชิงพาณิชย์ได้

พูดง่ายๆ ก็คือ ผมคิดว่าในระยะสั้น Citizen Journalism ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในเชิงพาณิชย์ เพราะโลกมันเดินไปได้ด้วยเงิน ส่วนบริษัทข่าวจะจ่ายตลอดก็คงไม่ไหว สู้ว่าจ่ายเหมือนจ้างนักข่าวรายเดือนไปเลยอย่างที่ผ่านมาจะเหมาะกว่า หรืออีกทางหนึ่งที่ผมคิดเล่นๆ และอยากให้ชาวเน็ตไปลองทำกันดู เอาแบบที่ทำได้เลย ทำง่ายๆ ก็คือ เรามาลองผลักดันให้เกิด “Simple Citizen Journalism” ไม่ต้องให้ฝรั่งเขาจุดประกายก่อนเลยครับ สร้างกันในเมืองไทยก่อนก็ได้ เอาแบบชาวเน็ตไทยทดลองเขียนข่าวเอง เจออะไรระหว่างทางอัพขึ้น Twitter ใช้แท็กร่วมกันสักแท็กนึง โดยไม่ต้องมีใครได้ประโยชน์อะไร นอกจากมารวมกันด้วยจิตสาธารณะ รายงานข่าวที่เกิดขึ้นตามที่เราเห็น ตามที่เราเจอ นักข่าวกระแสหลักเขาเห็นแล้วก็เอาไปเจาะรายละเอียดมานำเสนอเราอีกที แล้วร่วมกันทำให้สังคมดีขึ้น ด้วย Simple Citizen Journalis? บน Twitter

มันอาจจะไม่ได้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อะไร แต่ผมว่ามันก็น่าลอง และชาวเน็ตไทยทุกคนควรร่วมกันคิดร่วมกันทำ แล้วคุณล่ะ คิดอย่างไร?

ภาพจาก Social Connect BluePrint