Site icon Thumbsup

Claim Di เข้าตานักลงทุนจาก 500 Startup ตัดสินใจลงทุนทันทีหลังงาน Geeks on a Plane

ทีมบริษัท Anywhere to go ผู้ก่อตั้ง Claim Di หนึ่งในแอปพลิเคชั่นจากโครงการ dtac accelerate ได้รับเงินลงทุนเริ่มต้นจาก Venture capital รายใหญ่ เช่น 500 Startup และ Golden Gate Venture รวมทั้งนักลงทุนแนวหน้าจำนวนมาก

Khailee Ng (ไคลี อึง) ตัวแทนจาก 500 Startup กล่าวว่า ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ระบบนิเวศของอุตสาหกรรม Startup ไทย ถือว่าอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะมีปรากฏการณ์ 2 อย่างเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน คือนักลงทุนจากทั่วโลกมองเห็นการเติบโตของ Startup ในไทย ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกเดือน และในขณะเดียวกัน Startup ในไทยก็มองหาโอกาสที่จะเป็นมากกว่า Local player  ที่จะเติบโตในระดับโลก

นอกจากนี้ยังมองว่าวงการ Startup ในไทยมีข้อได้เปรียบหลายๆ อย่างที่อีกหลายประเทศไม่มี ได้แก่ การสนับสนุนจากบริษัทด้าน Telecommunication การมี Mentor ที่มีประสบการณ์ในระดับสากลเข้ามาให้คำแนะนำกับ Startup หน้าใหม่ รวมทั้งสื่อมวลชนยังให้การสนับสนุนวงการ Startup อีกด้วย ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยให้ Startup ในไทยเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เป็นที่สนใจของเหล่านักลงทุน และเชื่อว่าจะเป็นพลังร่วมที่ช่วยกันผลักดันให้ประเทศเกิดความเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า เพราะ Startup คือการนำเอาหลักการ Creative economy มาลงมือทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมที่สุด

สำหรับเกณฑ์ในการคัดเลือก Startup ที่จะลงทุน Khailee บอกว่าไม่มีอะไรซับซ้อน เพียงแค่ดูว่ามีโอกาสที่จะเจริญเติบโตได้หรือไม่ และสามารถโตได้อย่างรวดเร็วหรือไม่ วิสัยทัศน์ของผู้ประกอบการที่ตอบโจทย์นี้ก็จะได้รับความสนใจจาก 500 Startup สำหรับการเลือกลงทุนกับ Claim Di มองว่ามีโอกาสที่จะเติบโตได้ เนื่องจากแนวโน้มของการใช้งานสมาร์ตโฟนเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการใช้รถใช้ถนนก็มีมากขึ้น และบริษัทประกันต้องลงทุนทั้งเวลาและเงินจำนวนมากไปกับการเคลมประกันแต่ละครั้ง ประกอบกับเห็นว่าที่สหรัฐอเมริกามีแอป Snapsheet ซึ่งมี Business Model ลักษณะนี้เช่นเดียวกัน จึงน่าจะนำเอาความรู้มาใช้ประโยชน์ได้

Khailee ยังกล่าวอีกว่าการเลือกลงทุนกับ Claim Di นั้นแบ่งเป้าหมายเป็น 2 ระดับ คือเป้าหมายทางธุรกิจที่มองเห็นแนวโน้มว่า Claim Di มีโอกาสที่จะเติบโตได้ในระดับสากล และเป้าหมายด้านระบบนิเวศของ Startup ซึ่งเป็นการมองหา Success Story เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นถัดไป

ทางด้านคุณกิตตินันท์ อนุพันธ์ CEO บริษัท Anywhere to go กล่าวว่าได้รับเงินลงทุนในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดี เพราะปัญหาหลักของ Startup คือการระดมเงินลงทุน การได้รับเงินลงทุนในขั้น pre-seed นี้ส่งผลให้มูลค่าบริษัท Anywhere to go เพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมถึง 3 เท่าเลยทีเดียว

สำหรับแผนการทำ Claim Di มีมานานแล้ว ขาดเพียงแค่การสนับสนุนด้านเงินลงทุนเท่านั้น หลังจากมีไอเดียว่าต้องการทำ Emergency Module ให้ครบทั้งระบบนิเวศ ตั้งแต่ระดับองค์กรไปจนถึงผู้ใช้ปลายทาง และต้องการพลิกโฉมการเคลมประกันในประเทศให้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยใช้เวลา 2 ปีในการทดสอบแนวคิดทั้งในประเทศและระดับโลก ภายใต้ความร่วมมือกับทีมนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้จดลิขสิทธิ์ร่วมกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แนวคิดของ Claim Di คือการสร้างความสะดวกให้ผู้การเคลมประกัน ทั้งกับผู้ใช้งานเองและบริษัทประกันภัย ผู้ใช้งานสามารถเคลมประกันจากจุดเกิดเหตุได้ภายในเวลา 15 นาที ลดขั้นตอนที่บริษัทจะต้องส่ง Surveyor ไปยังที่เกิดเหตุ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่าย 550 บาท/ครั้ง และจากการเก็บสถิติก็พบว่ามีการทำรายการมากถึง 14 ล้านครั้ง จากจำนวนรถที่ซื้อประกัน 8 ล้านคัน

การให้บริการของ Claim Di จะครอบคลุมตั้งแต่การตรวจสอบรถก่อนการทำประกัน รวมถึงการเปลี่ยนบริษัทประกันภัยด้วย เนื่องจากมีสถิติว่าผู้ใช้รถจำนวน 40% – 50% จะเปลี่ยนบริษัทประกันภัยทุกปี การเคลมประกันแบบ Non accident การเคลมประกันแบบ knock for knock (รถชนกันแล้วใช้สมาร์ทโฟนถ่ายรูป ส่งเข้าแอปพลิเคชั่น แลกข้อมูลรถกันระหว่างคู่กรณี แล้วแยกย้ายกันกลับบ้านได้เลย ลดเวลาการอยู่บนท้องถนน) และบริการ i lert u ที่สามารถเรียก surveyor มายังที่เกิดเหตุได้

ขณะนี้ Claim Di อยู่ในระหว่างติดต่อเป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจกับบริษัทประกันภัย 11 ราย ซึ่งจะมีความคืบหน้าเร็วๆ นี้ สำหรับเงินลงทุนที่ได้มาจะนำไปโปรโมตแอปพลิเคชั่น เนื่องจากความท้าทายอย่างหนึ่งของ Claim Di คือเป็นแอปที่คนไม่ได้ใช้ทุกวัน โจทย์คือทำอย่างไรให้คนจำได้ว่าเมื่อรถชนแล้วต้องนึกถึงแอป Claim Di ดังนั้นจึงต้องมีกิจกรรมเพื่อ Remind ผู้ใช้งาน และสร้าง Community ให้คนจดจำได้

ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถดาวน์โหลดแอป Claim Di ได้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา ใช้ได้ทั้งระบบ iOS และ Android