Site icon Thumbsup

จากรุ่น 2 ยุครักษาธุรกิจ สู่ยุค 3 Back to Basic

“โคคาเป็นภาษาจีน อ่านว่า เก๋อต่ง แปลว่า ถูกปาก”

เรื่องของการส่งต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นนั้น เรียกได้ว่า โคคา เป็นอีกหนึ่งธุรกิจอาหารหม้อไฟที่พัฒนาและปรุงให้โดนใจนักกินจนมาถึงรุ่นที่ 3 แล้ว ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องรสชาติ ยังคงประทับใจทั้งชาวไทยและต่างชาติไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนสิ่งที่ โคคา จะเปลี่ยนในวันนี้คือ การเปลี่ยนมือบริหารงานและปรับปรุงหน้าร้านใหม่ให้มีความทันสมัยและ “ถ่ายรูปสวย” กว่าเดิม

นัฐธารี พันธุ์เพ็ญโสภณ COO (ซ้าย) และ พิทยา พันธุ์เพ็ญโสภณ CEO (ขวา) พ่อลูกนักบริหาร บริษัท โคคาโฮลดิ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

“ปลูกเอง” สร้างโอกาส ลดต้นทุน

ต้องยอมรับว่าการทำงานอาหารในยุคนี้ นอกจากเรื่องของรสชาติแล้ว สิ่งแรกที่ต้องดึงดูดและประทับใจลูกค้าได้ดีนั้น คือ ถ่ายรูปและแชร์ลงโซเชียลสวย เพราะพฤติกรรมของคนยุคใหม่ติดการถ่ายรูปและโพสต์ในช่องทางของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องดีเพราะทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น จึงตัดสินใจทุ่มงบ 15 ล้านบาท ในการปรับปรุงร้านโคคา สาขาเซ็นทรัลเวิร์ล โดยเน้นการมีส่วนร่วมในการรักษ์โลกอย่างยั่งยืน (COCA Sustainability) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ นัฐธารี พันธุ์เพ็ญโสภณ ผู้บริหารรุ่น 3 เป็นคนเคาะไอเดียนี้

ทั้งนี้ โคคา จึงได้เปิดตัว โคคา บูทีค ฟาร์ม เพื่อเข้าร่วมเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของธุรกิจร้านอาหารในเครือ ที่เน้นการผลิตสินค้าออร์แกนิคออกสู่ตลาด โดยเฉพาะผลผลิตประเภทพริก ที่ใช้พริกที่เกิดจากการดูแลบ่มเพาะในฟาร์มกว่า 10 สายพันธุ์ นำมาทดลองและพัฒนาเพื่อป้อนสู่กระบวนการผลิตซอสสุกี้โคคา เน้นคุณค่าทางโภชนาการและมีสีสันตรงตามความต้องการของตลาดและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก

“นอกจากปลูกพริกแล้ว ยังมองเรื่องการปลูกผักด้วย ซึ่งเพิ่งเริ่มมาได้ 3-4 เดือน โดยแบ่งพื้นที่จากโรงงานที่บางปะกง เพราะแบ่งโซนมาทำประมาณ 10 ไร่ จากทั้งหมด 20 ไร่ และมองเรื่องปลูกข้าวอีก โดยอยากเน้นปลูกพริกกับผัก เพราะเป็นส่วนประกอบหลักที่ต้องใช้ในการทำอาหาร”

ส่วนภาพรวมธุรกิจตอนนี้ทั้ง 3 แบรนด์มีสาขารวมทั้งหมดกว่า 67 สาขาทั่วโลกแล้ว ซึ่งโคคาจะเป็นแบรนด์แรกที่ค่อยๆ เปลี่ยนภาพลักษณ์ จากร้านอาหารหม้อไฟเก่าแก่สำหรับคนอายุ 30 ปีขึ้นไป ไปเป็นร้านอาหารที่สามารถทานร่วมกันได้ทั้งครอบครัว เข้าถึงได้ทุกกลุ่มอายุ ไม่ว่าจะเริ่มต้นที่อายุเท่าไหร่ก็ได้

อยากให้อยู่นานถึง 100 ปี

ทั้งนี้ โคคามีอายุในการให้บริการมานานถึง 60 ปีแล้ว เป้าหมายคือรักษาธุรกิจให้อยู่รอดนานถึง 100 ปี เข้ามากินแล้วได้รสสัมผัสเหมือนเชฟมาปรุงให้ทุกจาน เป็นอาหารแบบ Fresh Cook ไม่ใช่กินอาหารที่โรงงานผลิตมาแบบเดียวกัน ที่ส่งตรงมาจากโรงงานและมาเข้าไมโครเวฟเพื่อปรุงเสิร์ฟ ดังนั้นทุกสาขาจะมีเชฟใหญ่คอยประจำสาขาเพื่อปรุงอาหารในรสชาติที่อร่อยทุกครั้งที่มาทาน

ไม่เน้นเพิ่มสาขาหรือเปลี่ยนเมนูทุกปี

แม้ว่า 65-70% จะเป็นรายได้จากสุกี้ ของโคคา แต่หลายเมนูก็สร้างยอดขายที่ดีต่อเนื่อง เช่น ปาท่องโก๋ ชาวไต้หวันนิยมมาทานมาก หรือแมงโก้ทรีก็นิยมในชาวยุโรปมาก ส่วนอาหารจานด่วนก็นิยมในญี่ปุ่นมากเช่นกัน แม้ว่าคนมาทานส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวจีน แต่สาขาในกรุงเทพฯ ไม่กระทบมากเท่าต่างจังหวัด เพราะส่วนใหญ่ที่มาทานจะเป็นนักท่องเที่ยวแบบ FIT ไม่ได้เน้นทัวร์ ทำให้ส่วนใหญ่เป็นคนที่ชื่นชอบในรสชาติและมากันเอง

ส่วนตัวเชื่อว่าการลดของจำนวนนักท่องเที่ยวจีน หากภาครัฐมีมาตรการที่ดีกว่านี้ ปีหน้าก็จะดีขึ้น โดยให้สังเกตจากช่วงเทศกาลต่างๆ ในจีนก่อน แม้ว่าช่วงวันชาติจีน ( 1 ต.ค.) จะเงียบ ก็ถือว่าเป็นสัญญาณแรก อีกรอบต้องดูช่วงตรุษจีน (ก.พ.) อีกครั้ง หากมีการกลับมาเที่ยว เศรษฐกิจก็น่าจะกลับมาดีเช่นเดิม ซึ่งที่กระทบมากคือ ภูเก็ตและพัทยา ที่จำนวนนักท่องเที่ยวหดหาย

เปลี่ยน GEN เปลี่ยนแนวคิด

สำหรับแนวคิดในการส่งไม้ต่อให้แก่การมีลูกมาบริหารถือว่าเปลี่ยนแปลงมาก เพราะเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว โดยรุ่นแรกคือคุณปู่ เน้นในเรื่องของความอร่อย ต่อมารุ่นคุณพ่อ เน้นเรื่องความสดสะอาด พอรุ่นล่าสุดคือ ต้องมีประวัติความเป็นมาของอาหารและรับผิดชอบกับโลก เพื่อตอบแทนสังคมให้เพื่อนร่วมโลกได้มีโอกาสแบบเดียวกัน

ธีมคอนเซปต์ใหม่ปีหน้า Back to basic

เพราะคนรุ่นใหม่ต้องการความหลากหลาย ทำให้หน้าตาของอาหารสวยมากกว่าอร่อยเพราะเขาชอบแชร์ให้ชุมชนทราบ รวมทั้งต้องทันสมัย ซึ่งมีเรื่องของการจ่ายเงินแบบ Cashless ร่วมกับทุกธนาคาร ทุกโต๊ะอาหารของสาขาที่ปรับปรุงใหม่จะมี Wireless Charger แบบ USB ให้กับลูกค้าที่มากินสามารถชาร์จแบตมือถือได้ ซึ่งจะเน้นความเป็นดิจิทัลให้มากขึ้น

“เรากำลังพัฒนาโปรแกรมต่างๆ ให้ตอบโจทย์ความสะดวกสบายของผู้บริโภคให้มากที่สุด เพื่อตอบโจทย์และเข้าถึงไลฟ์สไตล์ของลูกค้า”

สร้าง Story ต่อยอดแบรนด์

ด้านการทำตลาดจะใช้ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งโดยเน้นเรื่องของเทรนด์วีดีโอที่ค่อนข้างสำคัญ โดยจะเน้นเรื่องของ Emotion ที่เป็นไวรัล โดยต้องการจะทำด้านนี้เพื่อให้คนเห็นถึง Successful Story ของแบรนด์

เพราะคนทุกรุ่นจะมี Generation gap ทำให้ทุกอย่างในการใช้ชีวิตมี Logic มากขึ้น ดังนั้นเราต้องเรียนรู้และมากับ sustain ทุกอย่างให้ได้ เพื่อให้ทำงานได้อย่างยั่งยืนและต้องเข้าใจความคิดเด็กยุคใหม่ ด้วยอายุของพนักงานทั้งประจำและรายวัน มีปริมาณทั้งหมดกว่า500 คน พนักงานที่อยู่กับเรานาน 30 ปีขึ้นไปก็มี ซึ่งตรงนี้กลายเป็นช่องว่างด้านความเข้าใจในการทำงานที่ตรงกัน

“ทีมบริหารเริ่มต้นด้วยการพูดคุยเพื่อเปลี่ยนทัศนคติของพนักงานแต่ละระดับให้ลดแก็ปของอายุและสร้างความเข้าใจที่ตรงกันว่าเราทำอะไรกันอยู่”

ทางด้านของ Passion ของลูกสาวที่ชอบเดินทางเพื่อดูเทรนด์ในต่างประเทศและคนรอบข้าง ทำให้เขารู้จักปรับตัวและนำเทรนด์ใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการบริหารงานอย่างเหมาะสม โดยสิ่งที่เราสอนลูกคือ อย่ายอมง่ายๆ เงินที่ไหนก็มี อยู่ที่ว่าจะไปหายังไง ซึ่งจะไม่สอนให้ลูกกลัวความลำบาก เพราะสิ่งที่คุณคิดได้คนอื่นก็คิดได้อยู่แล้ว ซึ่งส่วนตัวจะเป็นห่วงเด็กรุ่นหลังว่าเขาจะไม่อดทน เพราะเด็กรุ่นใหม่เกิดมาสบายและไม่ค่อยเจอกับปัญหา

ส่งไม้ต่ออย่างมั่นใจ

“ก็ต้องปล่อยวาง เพราะส่วนตัวมีความเชื่อว่า ถ้าพร้อมก็ปล่อย ไม่กังวล เพราะไม่มีอะไรที่จะถึงวันที่พร้อมแบบ 100% ถ้าเราคิดว่าเขาพร้อมเราก็ต้องปล่อยไม่งั้นจะไม่รู้เลยว่าเขาเก่งหรือไม่ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ผมทำมาดีที่สุดแล้ว เพื่อให้พวกเขาอยู่รอดและพร้อมที่จะอยู่ได้ก็ถอยสิ่งที่ยังทำตอนนี้”

แน่นอนว่าการส่งไม้ต่อนั้น เป็นเรื่องยากสำหรับความคิดที่จะปล่อยมือ แต่การเชื่อมั่นในตัวลูกที่คุณเป็นคนเลี้ยงมากับมือ และคอยดูแลเขาอยู่ห่างๆ น่าจะช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง

“เราถอยตัวเองออกมา ซึ่งตอนนี้ก็ยังทำงานอยู่นะ โดยลูกให้ไปเป็นผู้จัดการดูสาขาต่างจังหวัดที่หัวหิน เพราะอยากรู้ว่าปัญหาที่ทำให้สาขานี้ รุกตลาดยังไงก็ไม่สำเร็จเป็นเพราะอะไร ยิ่งตลาดต่างจังหวัดถือว่าเป็น different league เลย

การเข้าไปทำความเข้าใจเรื่องความต้องการของคนท้องถิ่น จะใส่ความเป็นคนกรุงเทพเข้าไป ธุรกิจไม่รอดแน่ ทำให้เราต้องเข้าไปคุยกับลูกค้า กับทีมงาน ถือว่าเป็น passion เลย เพราะลูกค้าต่างจังหวัดที่ไปเที่ยว เขาไม่ได้ต้องการความ classy คนไปเที่ยวต่างจังหวัดไม่ได้ต้องการพารากอน ซึ่งต้องอ่านเกมส์ตรงนี้ให้ออก

เราปรับรูปแบบในการนำเสนอเมนูอาหาร ขายอาหารแบบคอมโบเซ็ท ยิ่งสาขาที่ต่างจังหวัดวันธรรมดาจะขายได้น้อย หากพนักงานไม่ใส่ใจก็จะได้เมนูที่ไม่ดี เราก็เข้าไปสอนให้พนักงานแนะนำเมนูที่น่าสนใจ เมนูอาหารขายดี หรืออะไรก็ได้ เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกถึงความใส่ใจ

แรกๆ เข้าไปพนักงานเห็นว่าเป็น CEO เขาก็อึดอัด ผ่านไปสักพักก็ดีขึ้น เราไม่ได้บอกเขาว่าเราเป็นใคร ต้องการอะไร แต่เราเข้าไปแบบครอบครัว แนะนำและทำให้ดู ทั้งคุยกับลูกค้า สอบถามความพอใจ ลูกค้าต่างชาติพูดตรงแนะนำดี แต่ลูกค้าไทยไม่กล้าพูด ทำให้เราจับปัญหาไม่ตรงจุดสักที พอทำไปสักพักรู้ปัญหาก็แก้ไขทันที ทำให้สาขาที่บลูพ็อตค่อยๆ ดีขึ้น

เราเชื่อว่าเงินเดือนไม่ใช้เหตุผลสำคัญเท่ากับความจริงใจในการถ่ายทอดประสบการณ์และให้ความรู้ เด็กรุ่นใหม่ต้องการผู้นำที่ดี ไม่เน้นจูงมือ แต่สอนให้ทำเรียนรู้ส่ิงใหม่ๆ หากเราตอบสนองได้ตรงจุดก็จะซื้อใจและรักษาพนักงานทุกระดับไว้ได้

การบริหารงาน ไม่ว่าจะรุ่นเก่าหรือใหม่ หากทีมบริหารเข้าใจเทรนด์ รู้จักปรับตัวและโอนอ่อนตามกระแสให้ทัน ไม่ว่าจะหลักสิบหรือร้อยปี ก็สามารถรักษาธุรกิจให้อยู่รอดได้อย่างแน่นอน