Site icon Thumbsup

คอนโด/บาริสต้า/สถาปนิก ละครซ่อนการโฆษณาที่ทำออกมาได้น่าสนใจ

thedreamer-condo-barista-architect

รูปแบบการทำ Content Marketing มันมีหลายรูปแบบมาก แล้วแต่ว่าเราจะเลือกใช้อะไรมาเพื่อเล่าสิ่งที่เราอยากบอกให้เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ โดยยังคงให้คุณค่ากับคนที่เห็นและคงคุณภาพให้กับแบรนด์ได้อยู่ ไม่ได้เจาะจงแค่จะเป็นบนออนไลน์แต่เพียงอย่างเดียว เพราะสิ่งที่จะพูดถึงคือการนำเสนอผ่านการเล่าเรื่องด้วยละคร

คำออกตัว – บทความนี้เป็นความเห็นเฉพาะบุคคลที่ติดตามละครเรื่องนี้ด้วยความสนใจ ตัวผู้เขียนไม่ได้จบนิเทศศาสตร์หรือด้านการละคร, ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเจ้าของคอนโด, ช่องที่เผยแพร่ออกอากาศ ทุกประโยคล้วนเป็นสิ่งที่สังเกตและความสนใจในเนื้อหาและการเล่าเรื่องทั้งสิ้น หากมีข้อผิดพลาดหรือมีข้อเสนอแนะสามารถแนะนำได้ผ่าน Comment ด้านล่างนี้

ปกติถ้าพูดถึงเรื่องโฆษณากับละครแล้ว ก็คงจะหนีไม่พ้นการวางสินค้าไว้ในฉาก, หยิบมากิน หรือจู่ๆ ก็โพล่งขึ้นมาด้วยคำพูดขายของแบบเน้นๆ แต่จะมีละครเรื่องไหนที่เอาเรื่องราวสิ่งที่ต้องการจะขายมาเล่าได้อย่างดี

คำว่าพูดกับเล่านั้นต่างกันมาก (ถ้าใครบอกว่าเขียนต่างกันผมก็คงไม่เถียง)

คอนโด/บาริสต้า/สถาปนิก คือละครเรื่องนึงที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นและออกอากาศที่ช่อง One ในเครือ GMM Grammy ซึ่งดูผิวเผินหรือหน้าหนังจะเห็นว่าเป็นละครที่ถูกทำขึ้นมาให้น่าสนใจด้วยชื่อตั้งแต่แรก ด้วยการดึงเอาเรื่องราวความฝันของคนอาชีพสถาปนิก, บาริสตา มาเล่าเรื่องด้วยผูกกับคอนโดผ่านตัวละครหลักที่เป็นวัยทำงานอยู่ 3 คน ปอง-เติ้ล-เท็ด ซึ่งก็แน่นอนว่าเจาะกลุ่มคนเมือง, รักอิสระ รวมไปถึงฮิปสเตอร์ด้วย ทุกสิ่งล้วนดึงให้คนกลุ่มที่ดูโทรทัศน์ที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่และวัยรุ่นสนใจได้ไม่ยากเย็น โดยเฉพาะการจี้ด้วยคำว่า “ความฝัน” ที่ยุคนี้อะไรๆ ก็ต้องใช้คำนี้เป็นคำนำทาง ส่วนบาริสต้าเป็นหนึ่งในฝันของใครหลายคนที่อยากจะมีร้านกาแฟเป็นของตัวเอง

ตัวเนื้อละครผมคงจะไม่เล่าอะไรมาก เพราะเดี๋ยวจะเป็นการ Spoil แต่สิ่งที่อยากจะเล่าก็คือวิธีการเขียนบทเพื่อเล่าเรื่องโดยใช้คอนโดและบางข้อความที่ถูกเอามาฝังในละครซึ่งจะเป็นการโฆษณาที่แฝงอยู่ในละคร ซึ่งเป็นวิธีการนำเสนอคอนโดที่ใช้การเล่าพร้อมกับใส่ Key Message ย้ำภายในเรื่องด้วยคำว่า Green Design ที่มีแทบทุกตอนที่ฉาย แต่ก็ไม่ถึงกับยัดแบบทุกฉากนะ

การเอาใจใส่ในการเขียนบทคือสิ่งที่น่าสนใจ เพราะเขาทำให้คนดูละครรู้สึกดูละครอยู่ ไม่ใช่การมานั่งดูโฆษณาที่ถูกยัดเยียดใส่ในละครแบบจำใจต้องชม ส่วนหนึ่งก็ด้วยชื่อของละครที่หยิบมาบอกตั้งแต่แรกแล้วว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาปนิก นั่นก็แสดงว่าจะต้องมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างและสามารถโยงไปหาเรื่องคอนโดได้ไม่ยาก (จริงๆ มีเรื่องเบื้องหลังหรือเรื่องที่มีอยู่ในวงการนี้ถูกนำมาเล่าด้วย) รวมไปถึงบาริสต้าด้วยที่เอามาผูกเรื่องเข้าด้วยกัน (แถมสร้างกระแสจิ้นกันแหลกลาญบน Twitter ผ่าน # )

ด้วยการเล่าและการแสดงของตัวละครทำให้ทุกอย่างดูเรียลหรือมันเป็นเรื่องจริงที่เป็นไปได้ในชีวิตจริง ไม่เหมือนละครที่เราคุ้นชินมาแต่ไหนแต่ไร…

เมื่อจบในแต่ละตอนก็จะบอกว่าใครเป็นผู้สนับสนุนคอนโดนี้เป็นโลโก้ใหญ่อย่างชัดเจน ซึ่งก็บอก “เจตนา” ว่า นี่คือละครที่สร้างมาเพื่อโฆษณาคอนโดโดยเฉพาะ

ลืมบอกไปว่าละครเรื่องนี้ถูกทำออกมาเพียง 4 ตอนเท่านั้น หากให้มองความเหมาะสม ส่วนตัวก็คิดว่าถ้ามากกว่านี้คงเอียนแน่ๆ (ณ เวลาที่เขียนมีการฉายไปแล้ว 3 ตอน)

ข้อดีของละครคือ คนที่ดูละครเขาพร้อมที่จะให้เวลาทั้งหมดในการฉาย หากหน้าหนังเป็นเรื่องที่น่าสนใจและเนื้อเรื่องที่ดูแล้วไม่เสียเวลาในการใช้ชีวิตของเขา ซึ่งเราก็เห็นว่าละครในยุคนี้คนมีตัวเลือกในการดูเยอะมากขึ้น ดังนั้นการชมแต่ละครั้งก็จะต้องมีดีพอที่จะเทความสนใจให้ทั้งหมด

ส่วนการทำบนออนไลน์ ก็ทำตามปกติผ่าน Facebook และ Twitter ที่ดึงเอาคำพูดที่น่าสนใจและสะกิดใจมาเล่าเรื่องหลังจากละครฉาย ซึ่งก็เป็นสไตล์ของ Pages ที่ดูแลช่วงที่มีละครหรือรายการนั้นๆ ฉายให้มีอารมณ์ต่อเนื่องตามไปด้วย

บทความนี้ดูจะไม่ค่อยดิจิทัลเท่าไหร่นัก เพราะผมหยิบเอาเรื่องของ Storytelling มาเล่า

ขอแอบตัดจบแบบดื้อๆ ว่า แต่ไม่ว่าคุณจะสื่อสารทางไหนและแบบไหน ทุกอย่างอยู่ที่จุดเริ่มต้นและวัตถุประสงค์ว่าต้องการเล่า, สื่อสารอะไร และจะใช้วิธีเล่า จะร้อยมาเป็นเรื่องราวให้ดูน่าสนใจได่อย่างไร และจะให้คุณค่ากับคนที่ได้เห็นอย่างไรบ้าง