Site icon Thumbsup

กรณีศึกษา Content ที่เป็นมากกว่า Content ของ Hormones The Final Season จาก GTH

hormone-cover

คอละครหรือซีรีย์น่าจะมีโอกาสได้ชมหรือได้ยินชื่อเสียงของ Hormones วัยว้าวุ่นกันมาไม่มากก็น้อย ด้วยเนื้อหาที่เข้มข้นและเจาะลึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับชีวิตวัยรุ่นทั้งในยุคนี้และยุคผ่านๆ มาที่ถูกสร้างจากทีมผู้กำกับจาก GTH ถ่ายทอดผ่านตัวละคร ทำให้ละครได้รับการพูดถึงและติดตามอย่างมาก แต่ที่ผมจะพูดถึงในบทความนี้ไม่เกี่ยวกับละครโดยตรง แต่เป็นการนำเสนอละครผ่าน Content ที่ทาง GTH และทีมออนไลน์ทำขึ้นมาอย่างน่าสนใจมาก

คำออกตัว: บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวในแง่ของการผลิต Content จาก Hormones ซึ่งเป็นละครที่ผู้เขียนติดตามมาโดยตลอด (จนอาจเรียกว่าติ่งได้) ดังนั้นเนื้อหาทั้งหมดเป็นความเห็นส่วนบุคคลผสมกับการวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นในแง่ของ Content ล้วนๆ หากมีสิ่งใดที่ต้องการท้วงติง สามารถเพิ่มเติมได้เลยที่ Comment ด้านล่าง หรือจะเป็นทาง Facebook ก็ยินดีรับฟังและพร้อมจะร่วมแสดงความเห็นครับ

วิธีการนำเสนอเนื้อหาที่มาจากเรื่องฮอร์โมนตั้งแต่ปีแรกจนถึงปีที่ 3 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายมีการพัฒนาขึ้นอย่างชัดเจน

หากจะลองมองไปรอบๆ แล้ว การนำเสนอ Content ที่มาจากละครโดยทั่วไป มีเพียงแค่การโปรโมทว่าจะมีเรื่องอะไร, ตอนอะไร, ฉายวันไหน หรือมีไฮไลท์เพื่อกระตุ้นให้ติดตามชมแล้ว จนสุดท้ายด้วยการแปะคลิปบน YouTube หรือ Facebook เพื่อให้คนที่ติดตาม เมื่อเวลาผ่านไป ทุกอย่างก็หมดอายุไขของมัน อาจจะมีมาดูซ้ำบ้างสำหรับคนชอบจริงจัง หรือไม่คนที่อยากจะแข่งแฟนพันธุ์แท้ อะไรก็ว่ากันไป

สำหรับฮอร์โมนแล้ว สิ่งหนึ่งที่มีการนำเสนอก็คือ การทำคลิปวิดีโอ เพราะเป็นสิ่งที่เขาทำเป็นธุรกิจหลักอยู่แล้ว แล้วนอกจากเนื้อหาเกี่ยวกับละครแล้วจะทำอะไรได้อีก มันเลยเป็นการขยี้เนื้อหาจากในละครมาทำเป็นตัวต่อยอดจากละคร

“ย้อน” มองแนวทาง Content ฮอร์โมน

ละครเรื่องนี้มีเพลงเป็นส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ก็น่าจะเป็นหนึ่งในเหตุผลที่สร้างการติดตามได้ รวมไปถึงในเนื้อเรื่องก็มีวงดนตรีอยู่แล้ว ดังนั้น 1 ใน Content ก็น่าจะเกี่ยวกับเพลงเป็นภาคบังคับ ด้วย Music Video เป็นเพลงที่เล่าเรื่องภายในเนื้อเรื่องมาช่วยดันให้ทั้งเพลงและตัวละครดังขึ้นได้อีก ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังคงมีอยู่

Season 2 ก็ยังคงมีอยู่แต่แนวทางก็ไม่ต่างจาก Season แรกนัก (อาจเพราะไปเน้นเรื่องการทำ Content การประกวดหาผู้มาแสดงใน Season ไปหน่อย)

แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับ Season 3 ซึ่งเป็น Season สุดท้ายของละครนั่นคือการวางแผนนำเสนอละคร ซึ่งทำกันมาตั้งแต่ยังไม่เริ่มฉายละคร ด้วยการทำคลิปแนะนำตัวละครที่มีเพิ่มเข้ามาสมทบกับตัวละครที่ยังคงเหลืออยู่จาก Season 2 ทำให้คนรู้จักตัวละครพร้อมกับอินไปล่วงหน้าก่อนจะเริ่มฉายจริงง่ายขึ้น พร้อมกับกระตุ้นให้คนรอติดตามด้วย

รวมไปถึงช่องทางการนำเสนอเนื้อหา ไม่ใช่แค่ YouTube เท่านั้น บน LINE TV ก็มีด้วยเช่นกัน นั่นก็เท่ากับว่าเป็นการเพิ่มช่องทางและเพิ่มโอกาสในการเห็นมากขึ้นมากกว่าเดิม

ดำเนินเรื่องระหว่างทางของ Season 3 ด้วย Content ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ไปพร้อมๆ กัน

1 ในเสน่ห์ของการทำ Content ในยุคนี้ก็คือการทำให้รองรับการติดตามจากพฤติกรรมคนในยุคนี้ที่เป็น Multi-screen หรือดูไปด้วย ชมไปด้วย การนำเสนอ Content ก็ต้องเพิ่มสีสันขึ้นมา ด้วยการสร้าง Content โพสต์ขึ้นระหว่างการฉายละครในช่วงเวลาออกอากาศครั้งแรก First Run (ออกฉายครั้งแรก ไม่ใช่ Re-Run) โดย Content นั้นที่เพิ่งจะผ่านสายตาจากการชมบนโทรทัศน์ไป

ปกติแล้วการทำ Real-Time Content จะต้องมีสถานการณ์นึงที่ถูกพูดถึงอย่างมาก แล้วทำเรื่องขึ้นมาเกาะ แต่สำหรับฮอร์โมนมันก็ไม่เป็น Real-Time เสียทีเดียว เพราะมีการวางแผนและเตรียมตัวไว้ก่อนแล้ว ทั้งการเลือกประโยคในการดึงมาพูดบนออนไลน์ที่ “คาดว่า” จะเป็นไฮไลท์ แล้วทำเป็น Artwork Content ขึ้นมา จากนั้นก็เหลือแค่คนโพสต์ต้องรอดูว่าฉากที่เตรียมข้อมูลไว้จะออกอากาศกี่โมง เมื่อออกแล้วก็โพสต์ขึ้นบนช่องทางต่างๆ ทันที สิ่งที่ได้ก็คือ อารมณ์คนดูที่อินแบบยังไม่จางไปก็มีตัวกระตุ้น พร้อมกับ Engagement และ Comment จำนวนมหาศาลที่ชมบนโทรทัศน์และรออ่านบน Facebook ว่าเป็นอย่างไร จะมีใครคิดเห็นบ้าง สร้างอารมณ์ร่วมให้กับคนดูไปพร้อมๆ กัน

ข้อดีที่เห็นก็คือ การคุมจังหวะในการนำเสนอสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องไปรอกระแสอะไรมาสร้าง Real-Time แต่เราเป็นคนสร้างด้วยตัวเอง อีกตัวอย่างที่คุ้นเคยก็เห็นจะเป็นรายการ The Voice Thailand พอผลตัดสินออกมา คลิปบน YouTube ก็พร้อมจะนำเสนอทันทีและถูกกระจายออกไปตามช่องทางต่างๆ ทุกอย่างทำเตรียมไว้หมดแล้วเหลือแค่กด Publish แค่นั้น

 

แน่นอนครับว่า เมื่อสร้าง Content เชิง Real-Time แล้ว โอกาสที่จะเกิดเป็น Viral ก็มีไม่ยาก (ผมไม่ได้บอกว่าเป็นการสร้าง Viral Content นะครับ เพราะไม่มีใครสร้าง Viral ได้ตั้งแต่คิด)

ขยี้ Content ด้วย Content พร้อมจะเป็น Evergreen

ก่อนจะพูดถึงเรื่องอื่น ขอหยิบคำว่า Evergreen มาก่อน Evergreen แปลตรงๆ ก็คือเขียวตลอดปีตลอดไป ไม่มีวันเหี่ยวเฉา ในแง่ของ Content ก็คือการทำให้ Content นั้นๆ เป็น Evergreen ได้ ก็คือการที่มีเนื้อหาในการติดตามที่สดใหม่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเปิดปีนี้ หรือปีไหนๆ หากคนหาเจอก็ยังคงอ่านได้ด้วยเนื้อหาที่ไม่มีวันหมดอายุ แบบไม่ต้องไปแก้ไขเพิ่มเติม ตัวอย่างเช่น ประวัติความเป็นมาของบริษัท, สถานที่ต่างๆ ที่มีการพิสูจน์แล้ว เป็นต้น พวกนี้สามารถถูกค้นหาได้เมื่อมีการใช้ keywords ที่ตรงตามต้องการ

ด้วยละครฮอร์โมนมันเป็น Content ตามกาลเวลานั้นๆ นั่นคือจะมีความพีคของการชมในช่วงแรกๆ และก็จะลดลงไปตามเวลา แต่สิ่งที่ทางทีมดูแล Content ของ GTH ทำขึ้นมาก็คือ การทำให้ Content มันมีมากกว่าแค่การ Rerun ละคร

เนื้อหาของละครตอนล่าสุด (ในช่วงที่เขียนบทความนี้) เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการดึงเอาส่วนหนึ่งของละครมาตีแผ่กลายเป็น Content ที่น่าสนใจและช่วยทำให้หูตาเราสว่างมากขึ้น ผ่านสิ่งที่เขาถนัด นั่นคือการทำเป็นคลิปวิดีโอ

HIV คือคำที่ถูกจั่วหัวขึ้นมาในเนื้อหาคลิปนี้ เพราะในละครมีการพูดถึงเรื่องนี้ แต่อาจจะไม่ชัดเจนนัก บวกกันกับหากเน้นการนำเสนอเรื่องนี้ อาจจะทำให้การเดินเรื่องทั้งหมดเสียไปด้วย จึงน่าจะเป็นที่มาของการทำคลิปเพื่อทำให้คนเข้าใจว่า การมีเชื้อ HIV โดยแท้จริงแล้วคืออะไร ด้วย Content ที่ได้รับข้อมูลที่อ้างอิงจากมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ผ่านการเล่าที่เข้าใจได้ไม่ยากจากตัวละครในเรื่อง นั่นก็คือ พละ

ผลตอบรับเท่าที่อ่านโดยส่วนใหญ่ จะพบว่าสิ่งที่เคยได้เรียนและรู้มาเป็นการสร้างความเข้าใจผิดมาโดยตลอด ซึ่งเนื้อหาในนี้ช่วยให้เข้าใจความเป็นไปของอาการ และที่สำคัญ ทำให้เราพร้อมที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมมากขึ้นกว่าเดิม

ผมใช้การสร้างคลิปวิดีโอนี้ว่าเป็นการ “ขยี้” Content จาก Content ของตัวเองในละครให้ชัดเจนมากกว่าเดิม แถมนอกจากตัวเองจะได้ Content แล้ว ก็ยังได้บุญเพิ่มจากการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่เราปลูกฝังมาผิดทางโดยตลอดผ่านการเรียนและผ่านรายการต่างๆ ซึ่งสาเหตุนี้เอง เรื่องราวที่ถูกอธิบายเรื่อง HIV นี้จะถูกอ้างอิงในทิศทางที่ถูกต้องอีกด้วย และมาในเวลาที่ต่อจากการออกอากาศทันที

ถามว่าเรื่องอื่นมีทำในแนวนี้บ้างไหม? อาจจะมี แต่ไม่เคยผ่านตาผมครับ

ผมคงไม่ไปโทษสิ่งที่เราเคยเรียนรู้มา เพราะปัญหามันอยู่ที่ช่วงเวลา เนื้อหา และวิธีการสื่อสารในยุคนั้นมีจำกัดที่อาจจะมีช่องโหว่พร้อมที่จะผิดพลาดตลอดเวลา แต่ในยุคนี้ ยุคที่เป็นการสื่อสารและถ่ายทอดทำได้ง่ายขึ้นขอแค่ทำให้เนื้อหาเล่าได้ถูกจุดและถูกช่องทาง เท่านี้ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ทำได้ในการเล่าเรื่อง และ GTH ทำได้ดีมากสำหรับคลิปนี้ เพราะมันไม่ใช่แค่ตีแผ่สิ่งที่มีอยู่ในสังคมตอนนี้ แต่เป็นสิ่งที่ช่วยให้เข้าใจคนในสังคมง่ายขึ้น

Hormones ไม่ใช่แค่ละครวัยรุ่นที่หลายคนเข้าใจ เพราะ GTH ทำให้เรื่องนี้เข้าไปถึงระดับสังคมแล้ว

ในแง่ของ Content การทำให้มัน Real-Time มันคงไม่ได้เกิดแค่ช่วงเวลานั้น สิ่งที่เราเรียนรู้จาก GTH ก็คือ การวางแผนที่ดี มันไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่มันทำให้มีให้เห็นทันทีจากสิ่งที่เรามี ก็แค่ทำให้โดนใจ ขยี้ให้ถูกจุด ถูกเวลาที่ควรจะเป็น และที่สำคัญ ได้รับประโยชน์ด้วย ทีมงานที่ทำคงไม่ใช่แค่ทีมเดียวแน่ๆ มันเป็นการคิดที่เกิดขึ้นจากทุกภาคส่วน ด้วยเป้าหมายเดียวกันก็คือ ช่วยให้ละครมีการพูดถึงและมีการนำเสนอออกมาเพื่อให้เป็นประโยชน์กับผู้ชมนั่นเอง

หวังว่าการนำเสนอนี้น่าจะสะกิดแผนการทำ Content ของคุณได้ไม่มากก็น้อย

Content Marketing ไม่ใช่การวิ่งมาราธอนเพียงอย่างเดียว ถ้าคุณจะวิ่งไปเรื่อยๆ คุณก็อยู่ท่ามกลางฝูงคนมากมายที่วิ่งเหมือนกันกับคุณ แต่ถ้าคุณทำให้แตกต่างด้วยการ เร่ง Speed, แต่งตัวที่แตกต่างจากคนอื่น นั่นคือสิ่งที่จะทำให้ Content ของคุณมีความโดดเด่นและมีสิทธิที่จะถูกพูดถึงและจดจำได้ง่าย ภายใต้เส้นทางหรือกติกาเดียวกับทุกคน