Site icon Thumbsup

ทำคอนเทนต์ให้อยู่นานตามแนวคิด วงศ์ทนง-สุทธิชัย ที่กว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ได้ง่าย

หากเอ่ยถึงการทำงานในวงการสื่อสารมวลชนให้อยู่รอดได้ยาวนาน ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะยุคออนไลน์ที่คนสามารถส่งข้อมูลหรือเรื่องราวต่างๆ ได้แบบทันท่วงที ยิ่งทำให้การทำงานในวงการนี้ต้องแอดวานซ์ขึ้น ในแง่ของสร้างการจดจำ สร้างแบรนด์ให้แข็งแรง หรือสร้างตัวตนให้ยั่งยืน

ในงาน iCreator Conference2020 by All Online ที่ทีมงาน thumbsup ได้เข้าไปฟังงานสัมมนา โดยเลือกฟังผู้เชี่ยวชาญในวงการสื่อสองท่าน คือคุณโหน่ง วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ผู้บริหารสื่อชั้นนำทั้ง A Day และ The Standard กับ คุณสุทธิชัย หยุ่น อดีตผู้ก่อตั้งเนชั่น และครีเอเตอร์รายการสุทธิชัยไลฟ์มาสรุปให้ท่านผู้อ่านได้ฟังกันค่ะ

โหน่ง วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ผู้บริหารสื่อที่มีประสบการณ์ในการปั้นธุรกิจสื่อให้ประสบความสำเร็จมากมาย ซึ่งพี่โหน่งกล่าวยอมรับเองว่า ตัวเขาล้มมาแล้วหลายครั้งแต่ก็ไม่ยอมแพ้ต่อปัญหาลุกขึ้นมาสู้ต่อทุกครั้ง

“ความเข้าใจผิดของทุกคนที่มีต่อผม อาจคิดว่าผมประสบความสำเร็จทุกอย่าง แต่ที่จริงแล้วสิ่งที่ทำแล้วล้มเหลวก็ไม่น้อยเหมือนกัน”

คุณโหน่ง เล่าว่า การล้มครั้งแรกของเขาคือการพลาด “เกียรตินิยม” ในตอนเรียนมหาวิทยาลัย ที่เขาลอกข้อสอบในห้อง เพราะไม่อยากแพ้และถูกพักการเรียน เพราะเชื่อว่าการได้คะแนนสอบที่ดีจะทำให้เส้นทางการทำงานของเขาจะสดใส เหตุการณ์นี้เป็นบทเรียนสำคัญในชีวิต เพราะหลังจากที่พลาดเป้าในครั้งนี้ ก็ค้นพบเป้าหมายใหม่และรู้สึกว่าการเรียนได้เกรดที่ดีไม่ใช่ทุกอย่างในชีวิตมันเป็นแค่ช่วงเวลาหนึ่งที่ผ่านเข้ามา

จากนั้น พอได้เริ่มทำงานในฝันคือนิตยสารและพยายามพัฒนาความสามารถ ก็ทำงานมา 4 ปีได้เป็นบรรณาธิการในอายุ 26 ปี กับนิตยสาร Trendy Man และมาเจอปัญหาฟองสบู่แตก บริษัทตัดสินใจปิดหนังสือเล่มนี้ และนั่นก็ทำให้เขาต้องพบกับความล้มเหลวอีกครั้ง

ในชีวิตความเป็นจริง ทุกคนไม่ได้ทำอะไรแล้วราบรื่น ประสบความสำเร็จไปทุกครั้ง ช่วงชีวิตของคนที่ทำงานแล้วไม่เวิร์ค ล้มเหลว ล่มไม่เป็นท่ากันทั้งนั้น

“ผมคิดว่าคนจำนวนมากเวลาเจอปัญหาและอุปสรรคจะตกใจและเสียสติไปกับมัน ผมแนะนำให้คุมสติอย่าตื่นตระหนก และมองปัญหาให้ชัด จากนั้นถอยออกมาและจับตามองว่า ปัญหามีรูปร่างอย่างไร พอถอยออกมาเราจะรู้ว่าปัญหาไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด”

ถ้าใช้ความอึด ถึก อดทน จากนั้นให้ฮึดและสู้ คุณจะผ่านปัญหาไปได้ นั่นคือ ทำให้ตัวเองอนทนต่ออุปสรรค ปลุกตัวเองขึ้นมาสู้ สร้างกำลังใจให้กับตัวเอง แล้วก็ลงมือทำอย่างสุดความสามารถ

เคล็ดลับการสร้างแบรนด์ 

ในมุมมองของคุณโหน่งนั้น มีเคล็ดลับที่เขานำมาใช้ในการสร้างแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จนั้น ประกอบด้วย

  1. Creativity ความคิดสร้างสรรค์สามารถสร้างมูลค่า สร้าง Solution สร้างทุกสิ่งทุกอย่างให้ประสบความสำเร็จได้
  2. Design การออกแบบหรือดีไซน์เป็นที่คนมักมองข้าม แต่การออกแบบดึงดูดคนได้ สร้างคุณค่าให้กับงาน
  3. Self-improving contents คอนเทนต์เป็นหัวใจสำคัญของทุกอย่าง The Standard ยึดหลักสร้างคอนเทนต์ที่ช่วยตอบโจทย์การพัฒนาตัวเองทั้งความคิด การทำงาน รวมถึงสุขภาพ
  4. Audience centricity โลกทุกวันนี้ต้องบาลานซ์การสื่อสารระหว่างผู้สื่อสารและผู้อ่าน แต่ต้องสร้างคุณค่าให้กับคอนเทนต์ หรือแม้แต่โฆษณาก็ต้องทำให้มีคุณค่า
  5. Innovation maintenance
  6. Trust ความเชื่อใจระหว่างกัน
  7. Team spirit ยึดหลัก 4 ข้อคือ Empathy ความเข้าอกเข้าใจ, Agile ความคล่องยืดหยุ่น คิดเร็วทำเร็ว, Passion พลังที่ช่วยให้ตื่นขึ้นมาทำงานในสิ่งที่ชอบ, Mission สร้างจุดยืนให้กับตัวเอง ยกตัวอย่าง The Standard ยึดหลัก “ Stand up for the People”

อีกท่านหนึ่งที่เรียกว่าเป็นต้นแบบในการทำสื่อของนักสื่อสารมวลชนหลายท่านให้ความชื่นชม คงหนีไม่พ้นคุณสุทธิชัย หยุ่น ตำนานแห่งวงการสื่อสารมวลชนไทย ที่สามารถปรับตัวเปลี่ยนผ่านมาได้ทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ สื่อออนไลน์ พอดแคสต์ รวมถึงแอป TikTok ที่มาแรงในตอนนี้

การทำข่าวหรือสื่อมวลชนในอดึตนั้น มีขั้นตอนการทำงานเยอะมากกว่าในปัจจุบัน เช่น การสัมภาษณ์ แกะเทป บางทีอัดเทปแล้วเกิดข้อมูลหาย ก็ต้องอาศัยความจำ ใช้ต้นทุนในการทำงานสูงกว่าทั้งในเรื่องของเงินและจำนวนคน การเล่าก็ต้องน่าสนใจและดึงคนอยู่ไม่ว่าจะเป็นครีเอเตอร์ยุคไหนสมัยไหน การมีคอนเทนต์ให้น่าสนใจต้องปรับปรุงและเรียนรู้ตลอดเวลา เทคโนโลยีเรียนได้ แต่คอนเทนต์ที่ดีคือ เราต้องกระหายอยากรู้และตื่นเต้นว่าจะสร้างคอนเทนต์แบบไหนให้คนอยากติดตาม

หลายคนอาจคิดว่าการมีคอนเทนต์เยอะๆ ถึงจะเรียกว่าประสบความสำเร็จ แต่ที่จริงแล้วคนที่เข้าใจและอยากรับรู้คอนเทนต์ของเราต่างหากถึงจะเรียกว่าประสบความสำเร็จในการทำคอนเทนต์

สำหรับผมการที่เราอยู่ในยุคที่มี Social Media ใหม่ๆ เกิดขึ้นถือว่าเป็นสิ่งที่พระเจ้าให้มาได้ดีมากๆ เลย ในสมัยก่อนผมต้องวิ่งไปรอที่ตู้และมีเหรียญหยอดเรื่อยๆ ในการส่งข่าว เป็นความยากลำบากในการส่งข่าวอย่างยิ่ง แต่ในยุคที่เรามีการทำงานทุกอย่างมีความสะดวกรวดเร็วและง่ายขึ้นเป็นอย่างมาก

การเริ่มต้นเข้าสู่โซเชียลมีเดียนั้น ไม่ได้ยาก สิ่งสำคัญคือการปรับตัว เราต้องกล้าที่จะกระโดดเข้าไปลองเล่นในเวทีนั้นๆ และใช้งานจนชิน ชีวิตเราจะเริ่มเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่น่าขึ้น ในมุมมองของผมคิดว่า สิ่งที่น่ากลัวคือการที่เราไม่กล้าเข้าไปทดลองสิ่งใหม่ๆ แล้วปล่อยโอกาสทิ้งไว้สุดท้ายเเล้วต้องเริ่มเปลี่ยนที่ Mindset ของเราเอง การที่เราไม่กล้าคือเรากลัวและไม่กล้าไปเสียทุกอย่าง ผมต้องการคำตอบเดียวคือทำไมต้องทำ

อย่างการที่ผมเริ่มต้นทำ Tiktok หลายคนบอกว่าผมไม่เหมาะกับแพลตฟอร์มนี้ นั่นเพราะหลายคนมองว่าผมแก่ใช่ไหม แต่สำหรับผมแล้ว ถ้าที่นั่นมีคนชุมนุมเยอะ ผมจะเข้าไปสร้างตลาด ถ้ามันมีตลาดอยู่แล้วผมจะเข้าไป ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ของวัยรุ่นหรือวัยทำงาน ถ้าหาสิ่งที่เหมาะสมกับความสนใจของเขานั่นย่อมเป็นโอกาส

แค่เปลี่ยนวิธีการนำเสนอข่าวของผมให้เหมาะสม พูดให้ได้ สนุกและสั้นภายใน 60 วินาที ปกติผมต้องทำคอนเทนต์ยาว ถ้าเราปรับตัวเรื่องเหล่านี้ตลอดเวลาเราต้องทำให้ได้ ท้าทายตัวเองตลอดเวลา เมื่อเราคิดว่าทำได้ เราก็ต้องทำได้ ความเร็ว ความไว ความสร้างสรรค์ คือจุดเปลี่ยนในการทำคอนเทนต์ให้ประสบความสำเร็จ

“การทำคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มใหม่ๆ ไม่สำเร็จทันทีหรอกครับ ก็ต้องปรับตัว ทำ 10 ครั้ง ไม่เวิร์ค 8 ครั้ง แต่รอดแค่ 2 ครั้งก็เพียงพอแล้วครับ”

อย่างไรก็ตาม การที่เราเล่นหลายๆ แพลตฟอร์ม จะช่วยให้เราได้ฐานคนดูที่มากและกว้างขึ้น สามารถช่วยให้เรามองอะไรได้กว้างขึ้น มองเห็นสิ่งใหม่ๆ มากขึ้น

อย่างเช่น Facebook Live ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของวงการโทรทัศน์ ช่วยทำทุกอย่างง่ายไปหมด เปลี่ยนโลกได้ทั้งโลก ไม่ต้องลงทุนอะไรมากมายนอกจากโทรศัพท์เพียงเครื่องเดียว

ปัจจุบันหลายสำนักห่วงแต่เรตติ้ง ต้องการเป็นไวรัล คนเเชร์เยอะ คนอ่านเยอะ จนทำให้เกิดเป็นสื่อที่ขายดราม่า จนทำให้คนดูมองว่าขาดการทำหน้าที่อย่างเป็นธรรม ขาดการไว้เนื้อเชื่อใจอย่างที่เมื่อก่อนเคยทำได้

ในตอนนี้ทุกคนสามารถหาข้อมูลข่าวสารจากอินเทอร์เน็ตได้ เเละทุกคนสามารถสร้างคอนเทนต์ได้เช่นกัน แต่เส้นบางๆ ที่แบ่งระหว่างนักข่าวกับคนทั่วไปคือความเป็นมืออาชีพและจรรยาบรรณ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคนี้เส้นแบ่งตรงนี้ได้ค่อยๆ เลือนหายไปทำให้วงการสื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

นอกจากนี้ ในอนาคตของสังคมไทยในแง่ของการเสพคอนเทนต์ จะมีการตรวจสอบข่าวเท็จ (Fake News) มากขึ้น, ควรมีพื้นที่ส่วนกลางในการเสนอความคิดเห็นของทุกด้าน สุดท้ายเเล้วสิ่งที่คนทำคอนเทนต์ควรรู้คือ “หาตัวเองให้เจอ แล้วคอนเทนต์จะเกิดขึ้นเอง