Site icon Thumbsup

COVID-19 หนุนอีคอมเมิร์ซไทย โตแบบก้าวกระโดด

ด้วยกระแสการเติบโตของงานอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากสถานการณ์วิกฤต COVID-19 จนเกิดพฤติกรรมการจับจ่ายออนไลน์และการเปลี่ยนแปลงเรื่องวิถีชีวิตของคน หรือ New Normal ภายในงานสัมมนา Content vs Brand ทำอย่างไรให้มัดใจลูกค้ายุค New Normal ที่จัดขึ้นโดย คณะการจัดการธุรกิจสื่อและดิจิทัล มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวงการอีคอมเมิร์ซของปี 2020 

มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซของปี 2563 อาจจะพุ่งสูงเกินกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ตัวเลขจากทาง ETDA เคยประเมินไว้ว่าตลาดอีคอมเมิร์ซของปี 2019 จะเพิ่มขึ้น 12% มูลค่ากว่า 3.2 ล้านล้านบาท ส่วนปี 2020 นี้ เพียงแค่ครึ่งปีแรกก็ทำเม็ดเงินสะพัดไปกว่า 2.2 แสนล้านบาทแล้ว

นอกจากนี้ อีโคซิสเต็มส์ด้านต่างๆ ของวงการอีคอมเมิร์ซ ก็มีโอกาสเติบโตเพิ่มมากขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็น บริการเดลิเวอรี่ e-wallet, e-logistics, และ fullfillment เติบโตแบบก้าวกระโดดไปพร้อมกัน จากตัวเลขของ e-money สะท้อนให้เห็นปริมาณการใช้งาน ทั้งสิ้น 473.27 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่า 6,700 ล้านบาท ส่วนปี 2561 มีปริมาณการใช้ 1,510.84 ล้านรายการ มูลค่า 209 พันล้านบาท เติบโตจากปี 2560 ที่มีการใช้งานเพียง 1,272.22 ล้านรายการ มูลค่า 126 พันล้านบาท

ทั้งนี้ รูปแบบของอีวอลเลตที่แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ Pure Wallet ที่เรารู้จักกันในบริการของ True Money , Rabbit line pay หรือ Airpay แบบที่สองคือ E-commerce Wallet หรือที่เห็นกันใน Lazada Wallet , Shoppee Wallaet Grab pay get pay อย่างที่สามคือ Mobile Banking หรือแอพของธนาคารต่างๆ และสุดท้ายคือ Mobile Device Wallet อย่าง Samsung Pay หรือ Apple Pay และกำลังกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของอุตสาหกรรมทางการเงินด้วย 

โดยมีวิทยากรมืออาชีพ อย่าง คุณธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด และนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย และคุณธงชัย ชลศิริพงษ์ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ เว็บไซต์การตลาดชื่อดัง Brand Inside และพิธีกรรายการ Brand Inside Talk มาร่วมให้ความรู้และแชร์ประสบการณ์จากการทำงานให้แก่ผู้เข้าร่วมฟังสัมมนาอย่างมากมาย

คุณธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด และนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า ด้วยมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซของประเทศไทย ในปี 2019 ที่ทำเม็ดเงินกว่า 163,300 ล้านบาท จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด เพียงแค่ไตรมาสเดียว ของปี 2020 ก็ทำมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้น 35% หรือเม็ดเงินกว่า 220,000 ล้านบาท 

แต่เมื่อเทียบตัวเลขนี้กับในระดับโลกแล้ว อีคอมเมิร์ซของประเทศยังมีไม่สูงมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนตลาดของทั่วโลก แบ่งเป็น จีน มีสัดส่วนตลาด 25% เกาหลีใต้และอังกฤษ 22% สหรัฐอเมริกา 11% ญี่ปุ่น 9% ส่วนไทยและอินเดียมีตัวเลขสัดส่วนเท่ากันคือ 3%

ด้วยมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในปี 2018 ที่ E-Marketplace (LAZADA, SHOPEE, JD Central) มีส่วนแบ่งตลาด 35% โซเชียลมีเดีย (Facebook, LINE, Twitter, Instragram) มีส่วนแบ่งตลาด 40% และ E-tailer/Brand.com มีส่วนแบ่งตลาด 25% หลังเกิดปัญหา COVID-19 ทำให้สัดส่วนตลาดเหล่านี้เปลี่ยนไป 

โดย E-marketplace มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 47% โซเชียลมีเดีย มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 38%  ในขณะที่ Brand.com มีส่วนแบ่งตลาดลดลงเหลือเพียง 15% นั่นหมายความว่าแบรนด์หรือเจ้าของธุรกิจต่างๆ มีการลดการทำตลาดลง อาจเพราะเจอภาวะรับมือกับปัญหาไม่ทัน ปรับกลยุทธ์ไม่ทันจนเสียโอกาสทางการขายไป 

ในขณะที่แพลตฟอร์มต่างๆ แม้จะทำราคาหรือโปรโมชั่นดึงดูดมากขึ้น แต่หากเจาะข้อมูลเชิงลึกเปรียบเทียบกับการเปิดตัวแพลตฟอร์มเพื่อบริการในช่วงแรกจะพบว่า ราคาสินค้าหรือโปรโมชั่นกระตุ้นตลาดนั้น ถูกและดีกว่ามาก

“การทำโปรโมชั่นของแพลตฟอร์มในยุคนี้แม้จะมีหลากหลาย แต่บอกได้เลยว่ากว่าจะได้รับสิทธิ์เหล่านั้น ทำได้ยากขึ้น ต้องเล่นเกมส์ ต้องให้ข้อมูลส่วนบุคคล ต้องใช้เวลาในแอปให้มากขึ้น ถึงจะได้รับประโยชน์ ตามที่เขากำหนด”

ทางด้านของการแข่งขันของโซเชียลคอมเมิร์ซ ในประเทศไทยของปี 2019 แต่จากส่วนแบ่งของ 4 ผู้เล่นรายใหญ่แล้ว พบความน่าสนใจคือ ทวิตเตอร์ก็ขายของได้แล้ว แม้ว่าสัดส่วนใหญ่ยังคงเป็น Facebook 42% Instagram 34% Instagram 19% และ Twitter 5% หากนับรวมกันระหว่าง Facebook และ Instagram ที่ถือว่าเป็นบริษัทเดียวกันก็ทำให้มีสัดส่วนภาพรวมกว่า 61% นั่นทำให้ LINE และ Twitter ต้องพยายามอย่างมาก หากจะเข้ามาเป็นผู้เล่นในธุรกิจนี้

ทางด้านของสินค้ายอดนิยมบนช่องทางออนไลน์ในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ 2020 เทียบกับมีนาคม-เมษายน 2020 พบว่าพฤติกรรมการใช้จ่ายเปลี่ยนไป โดยสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ (แอลกอฮอล์ล้างมือ-เจล-หน้ากาก-เฟสชิลด์) ได้รับความนิยมมากเช่นเดียวกับสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าในครัวเรือน คือเป็นสองอันดับแรกคือมีส่วนแบ่งอยู่ที่ 34% และด้วยภาวะวิกฤตที่คนต้องอาศัยอยู่ในบ้านมากขึ้นทำให้สินค้ายอดนิยมที่ซื้อเยอะสุด ได้แก่ หนังสือ 27% เครื่องใช้ไฟฟ้า 22% คอมพิวเตอร์ 4% และเฟอร์นิเจอร์หรืออุปกรณ์ภายในบ้านอยู่ที่ 2%

ส่วนสินค้าที่เคยเป็นสินค้ายอดนิยมในปีที่ผ่านมา กลับส่งผลให้สินค้ากลุ่มรถยนต์และยานพาหนะ ยอดลดลงถึง 44% ตามมาด้วยกลุ่มสินค้าเสื้อผ้าและแฟชั่นที่มียอดขายลดลง 41% สัตว์เลี้ยงและของสะสม 28% และอุปกรณ์สื่อสารที่ 27% เป็นต้น 

ทางด้านของคุณธงชัย ชลศิริพงษ์ นักเขียนและพิธีกรจากเว็บไซต์ Brand Inside ได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า การแข่งขันของธุรกิจออนไลน์นั้นจะดุเดือดขึ้นแน่นอน การเป็นเจ้าของธุรกิจไม่ว่าจะรายใหญ่หรือรายย่อยก็จำเป็นที่จะต้องมีจุดเด่น เพื่อช่วยกระตุ้นให้คนอยากซื้อสินค้ามากขึ้น

เราเห็นจากกรณีศึกษาของ Bar-B-Q Plaza ที่ออกมาสื่อสารกับแบรนด์อย่างมีกิมมิคน่ารักๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดส่งอาหารออนไลน์ หรือมาตรการความปลอดภัยในการมาใช้บริการ รวมทั้งการสื่อสารกับลูกค้าในโลกออนไลน์ เพราะการสื่อสารกับลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพในภาวะวิกฤตย่อมเป็นการพยุงแบรนด์ให้ไปต่อได้หลังจบภาวะวิกฤตโควิด-19 v

นอกจากนี้ เรายังเห็นกรณีศึกษามากมายบนโลกออนไลน์อย่างเพนกวิน อีท ชาบู ที่เป็นธุรกิจระดับ SME ก็มีความพยายามในการสร้างแคมเปญใหม่ๆ เพื่อหาทางรอดให้ธุรกิจอยู่ต่อไปได้ ซึ่งการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในช่วงวิกฤตแบบนี้ เราเห็นผลตอบรับทางบวกมากมาย ทั้งการสั่งซื้อหม้อชาบู สั่งซื้อเตาปิ้งอาหาร หรือไม่ว่าแคมเปญใดๆ ของเพนกวินอีทชาบูที่ออกมา มีคนช่วยสั่งซื้ออาหารตลอด นั่นแสดงว่าภาพลักษณ์ของแบรนด์เป็นสิ่งที่สำคัญมาก

อย่างไรก็ตาม คอนเทนต์ในยุคนี้ไม่ได้เปลี่ยนไปตามยุคสมัยมากนั้น ยิ่งวิธีการทำงานไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมเลย เพียงแค่เปลี่ยนช่องทางในการนำเสนอเท่านั้น การเลือกใช้ช่องทางในการสื่อสารที่ดีย่อมเป็นโอกาสในการสื่อสารของแบรนด์ที่ดีเท่านั้น 

ดังนั้นคนที่ต้องรับผิดชอบในการทำคอนเทนต์จำเป็นต้องระวังอย่าสูญเสียตัวตนของแบรนด์ รวมทั้งคนยุคใหม่ไม่ได้รังเกียจคอนเทนต์ขายของ หากเนื้อหาในการขายสินค้านั้นไม่ได้ Hard Sale จนเกินไป การเลือกอินฟลูเอนเซอร์เพื่อเป็นคนสื่อสารแบรนด์ก็จำเป้นที่จะต้องมีความน่าเชื่อถือและสื่อสารได้ตรงจุดมากกว่าการที่แบรนด์โฆษณาเพียงอย่างเดียว

“สินค้าที่จับต้องได้ จำเป็นต้องใช้มนุษย์เสมอ” นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าการทำช่องทางการขายทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ที่เห็นถึงคุณภาพและประสิทธิภาพของสินค้าแบบเต็มรูปแบบย่อสร้างโอกาสที่ดีกว่า

นอกจากนี้ ช่วงโควิด-19 ที่หลายคนบอกว่าพฤติกรรมของคนจะเปลี่ยนเป็นแบบ New Normal นั้น อาจไม่ได้เปลี่ยนแบบทันทีร้อยเปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ต้นปีมาเราเห็นหลายแบรนด์เริ่มปรับตัวทำคอนเทนต์แบบ In house เองเพื่อลดต้นทุนในการสร้างแบรนด์ หากคุณเป็นเจ้าของแบรนด์ ก็จำเป็นต้องรู้จักลูกค้าของตัวเองให้ดีกว่าเอเจนซี่ที่ช่วยดูแลแบรนด์ของคุณ รวมทั้งการสร้างแบรนด์ที่ดีนั้น คือ “ลูบแล้วต้องไม่เรียบ” หมายถึงหาจุดเด่นของตัวเองแล้วดึงตรงนั้นออกมาใช้สร้างจุดเด่นของแบรนด์

อย่างไรก็ตาม อย่าทำให้ New Normal เข้ามาเปลี่ยนการทำงานหรือการมองโลกที่ยากและเปลี่ยนจากเดิมมากจนรับมือไม่ทัน แต่อยากให้มองว่า New Normal คืออีกหนึ่งรูปแบบการใช้ชีวิตที่ผสมผสานกับเทคโนโลยีมากขึ้น จากที่เคยคิดว่าจะใช้เวลานาน 3-5 ปีค่อยเปลี่ยน มาเป็นการลงมือเปลี่ยนตั้งแต่วันนี้ และเพิ่มความสามารถในการทำงาน ให้เป็นความปกติใหม่ที่ทุกคนรับมือได้