Site icon Thumbsup

ข้อดีโควิดระลอก 3 ทำคนใช้โมบายแบงกิ้งพุ่ง เฉลี่ย 17 ครั้ง/สัปดาห์

การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นแรงหนุนสำคัญที่ทำให้การทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking และ e-Wallet มีการเร่งการเติบโตสูงขึ้น สะท้อนจากผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่พบว่า ผู้บริโภคไทยโดยภาพรวมมีการโอนเงินและชำระค่าสินค้าและบริการผ่าน Mobile banking และ e-Wallet อยู่ที่ 19 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งเพิ่มมากกว่าการใช้งานในช่วงการระบาดระลอกแรกที่มีอัตราการใช้งานอยู่ที่ 17 ครั้งต่อสัปดาห์ ขณะที่มีผู้บริโภคกว่าร้อยละ 53.9 มีการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2564 คาดว่า ในปี 2564 ปริมาณการทำธุรกรรมโอนเงินและชำระเงินผ่าน Mobile Banking จะขยายตัวราวร้อยละ 80.2 – 83.5 YoY ซึ่งเร่งขึ้นจากปี 2563 ที่ร้อยละ 79.7 เช่นเดียวกับประมาณธุรกรรมผ่าน e-Money ที่คาดว่าจะเติบโตราวร้อยละ 15.8 – 18.0 ซึ่งสูงกว่าปี 2563 ที่ร้อยละ 8.7

ด้านมูลค่าการทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking คาดว่าจะขยายตัวราวร้อยละ 36.5 – 38.0 YoY ใกล้เคียงกับปี 2563 ขณะที่ มูลค่าการทำธรกรรมผ่าน e-Money คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 15.5-17.7 ซึ่งสะท้อนการเติบโตเร่งขึ้นจากร้อยละ 9.9 ในปี 2563 โดยน่าจะมีแรงผลักดันหลักมาจากการใช้ G-Wallet (เป๋าตัง) จากโครงการช่วยเหลือของภาครัฐที่น่าจะมีอย่างต่อเนื่องในปี 2564 อีกทั้ง ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีความน่าเชื่อถือและมีศักยภาพที่เข้ามาทำการตลาดมากขึ้นด้วย

จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสองและสามตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายๆ ธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แต่ในอีกด้านหนึ่ง การทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking และ e-Wallet กลับได้รับอานิสงส์ให้เติบโตเร่งขึ้น เนื่องจากสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคส่วนหนึ่งที่หลีกเลี่ยงการสัมผัสธนบัตรและเหรียญ รวมถึงมีความคุ้นชินกับการชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ดังกล่าวมากขึ้น

นอกเหนือจากผลสำรวจข้างต้นแล้ว ข้อมูลปริมาณธุรกรรมโอนเงินและชำระเงินผ่าน Mobile Banking และ e-Money ในช่วงสองเดือนแรกของปี 2564 ที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัวราวร้อยละ 90.2 และ 28.9 ซึ่งเร่งตัวขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 65.6 และร้อยละ 2.3 ตามลำดับ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การขยายตัวที่เร่งขึ้นนั้น น่าจะมาจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้เงินสดลดลง อันเนื่องมาจากความกังวลต่อการเชื้อไวรัสที่อาจมาจากธนบัตร และผู้บริโภคทั่วไปก็เริ่มมีความคุ้นชินกับการใช้ Mobile Banking และ e-Wallet มากขึ้น โดยเฉพาะจากการใข้แอปพลิเคชัน G-Wallet (เป๋าตัง) จากเงินช่วยเหลือภาครัฐในตลอดช่วงปี 2563 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ ทางฝั่งธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการ e-Wallet ได้ร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์ขนาดใหญ่ที่มีฐานผู้ใช้เป็นจำนวนมาก อาทิ e-Market Place หรือ Food Delivery ทำให้สามารถชำระเงินผ่าน Mobile Banking และ e-Wallet ได้ง่ายและสะดวกขึ้น และผู้ประกอบการเองก็ได้มีการออกโปรโมชั่นลดราคาค่าสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะสำหรับผู้ใช้รายใหม่ ทำให้มีจำนวนผู้ใช้รายใหม่และปริมาณการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ก็เข้ามาในตลาด e-Wallet มากขึ้น อย่างเช่น ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ที่มีความน่าเชื่อถือเป็นทุนเดิม ทำให้ผู้บริโภคกล้าที่จะทดลองใช้ e-Wallet ของผู้ประกอบการรายใหม่เหล่านั้น

ทั้งนี้ ทิศทางดังกล่าว ผนวกกับอานิสงส์ของกิจกรรมการใช้จ่ายออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงโควิดระลอกสาม คงทำให้ปี 2564 ยังคงเป็นอีกปีหนึ่งที่การทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking และ e-Wallet มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณว่า

ปริมาณการทำธุรกรรมโอนเงินและชำระเงินผ่าน Mobile Banking ในปี 2564 จะขยายตัวราวร้อยละ 80.2 – 83.5 YoY ซึ่งเร่งขึ้นจากปี 2563 ที่ร้อยละ 79.7 โดยส่วนหนึ่งจะเป็นอานิสงส์ทางอ้อมจากโครงการช่วยเหลือของภาครัฐ เช่น อาทิ โครงการคนละครึ่งเฟสสามที่จะดำเนินการในปี 2564 จะส่งผลให้เกิดการใช้งาน Mobile Banking เพื่อโอนเงินเข้าสู่ G-Wallet (เป๋าตัง) เพิ่มขึ้น

เช่นเดียวกับประมาณธุรกรรมผ่าน e-Money ที่คาดว่าจะเติบโตราวร้อยละ 15.8 – 18.0 ซึ่งสูงกว่าปี 2563 ที่ร้อยละ 8.7 (แม้อัตราการเติบโตของทั้งปี 2564 ดังกล่าว มีโอกาสจะชะลอลงจากตัวเลขที่ปรากฏในช่วงสองเดือนแรกของปี 2564 รวมถึงในช่วงไตรมาส 2 ของปี หากภาครัฐสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสและเร่งอัตราการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมได้มากขึ้น จนมีผลให้พนักงานกลับไปทำงานในที่ทำงานมากขึ้น)

ด้านมูลค่าการทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking คาดว่าจะขยายตัวราวร้อยละ 36.5 – 38.0 YoY ใกล้เคียงกับปี 2563 สะท้อนมูลค่าธุรกรรมต่อครั้งที่ลดลง เนื่องจากสามารถรองรับการใช้งานที่หลากหลายขึ้น โดยเฉพาะจากร้านค้าขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีการเปิดรับการชำระเงินผ่าน Mobile Banking ผ่านการสแกน QR Code กันมากขึ้น ขณะที่ มูลค่าการทำธรกรรมผ่าน e-Money คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 15.5-17.7 ซึ่งสะท้อนการเติบโตเร่งขึ้นจากร้อยละ 9.9 ในปี 2563 โดยทั้งปริมาณและมูลค่าการทำธุรกรรมผ่าน e-Money ที่เร่งตัวขึ้นนั้น น่าจะมีแรงผลักดันหลักมาจากการใช้ G-Wallet (เป๋าตัง) จากโครงการช่วยเหลือของภาครัฐที่น่าจะมีอย่างต่อเนื่องในปี 2564 อาทิ โครงการเราชนะ โครงการม.33 เรารักกัน โครงการคนละครึ่งเฟสสาม โครงการยิ่งใช้ยิ่งดี อีกทั้ง ยังได้รับแรงผลักดันจากกลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีความน่าเชื่อถือและมีศักยภาพที่เข้ามาทำการตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะการออกโปรโมชั่นลดราคาสินค้าและบริการ ทำให้เกิดการใช้งาน e-Wallet ในหมู่ผู้บริโภคไทยโดยภาพรวมเร่งตัวสูงขึ้น

คาดธุรกรรมโอนเงินและชำระเงินออนไลน์ผ่าน Mobile Banking และ e-Money เติบโตเร่งขึ้นปี 2564

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมองว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะยังส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยโดยภาพรวม เพียงแต่อาจเป็นที่น่าสังเกตว่า ปริมาณและมูลค่าธุรกรรมผ่าน Mobile Banking และ e-Wallet ที่เพิ่มขึ้นนั้น น่าจะมีสาเหตุหลักมาจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีการใช้จ่ายด้วยเงินสดลดลง มากกว่าจะเป็นการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังอยู่บนความไม่แน่นอนท่ามกลางการระบาดของโควิด-19

นอกจากนี้ ผู้ให้บริการ e-Wallet หรือแม้แต่ Mobile Banking อาจต้องเผชิญกับความท้าทายอีกมากในระยะข้างหน้า จากการแข่งขันที่เข้มข้นในตลาด เนื่องจากผู้บริโภคมีทิศทางเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างรวดเร็ว และน่าจะมีความอ่อนไหวต่อกลยุทธ์ทางการตลาด โดยพร้อมที่จะเปลี่ยนแอปพลิเคชันที่ใช้งานเดิม หากมีแรงจูงใจจากการใช้งานที่สะดวกสบายขึ้น มีโปรโมชั่นลดราคาค่าสินค้าและบริการ หรือมีสิทธิประโยชน์อื่นๆ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่พบว่า ปัจจัย 3 อันดับแรกที่ทำให้มีการใช้ e-wallet คือ ความสะดวกสบายในการโอนเงินหรือชำระค่าบริการ (ร้อยละ 34.4) มีโปรโมชั่นที่จูงใจต่อการใช้บริการ อาทิ ส่วนลดค่าสินค้าและบริการ (ร้อยละ 16.9) มีร้านค้าที่ร่วมบริการรับชำระค่าสินค้าและบริการที่หลากหลาย (ร้อยละ 16.2) ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคส่วนใหญ่ราวร้อยละ 32.3 มี Mobile Banking และ e-Wallet มากกว่า 5 แอปพลิเคชัน

ดังนั้น ผู้ให้บริการจึงอาจต้องเผชิญกับความท้าทายในการรักษาฐานลูกค้าของตนเอง และความพยายามในการจูงใจให้ลูกค้ามีการใช้งานอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน หากในอนาคต ทางการไทยสามารถเข้ามาดูแลกิจกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ อาทิ ดูแลร้านค้าในแพลตฟอร์มเพื่อบรรเทาต้นทุนค่าธรรมเนียมในการใช้บริการ ก็อาจมีผลต่อทิศทางหรือรูปแบบการชำระเงินในอนาคตด้วยเช่นกัน

[1] สำรวจระหว่างวันที่ 26 – 30 เมษายน 2564