Site icon Thumbsup

ยอดขายเพลงดิจิทัลถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี สวนทางการเติบโตของบริการเพลงสตรีมมิ่ง

ku-xlarge

เชื่อว่าหลายๆ คนคงคาดไว้แล้ว แต่สำหรับหลายๆ คนอาจจะแปลกใจกับผลประกอบการธุรกิจเพลงดิจิทัลในปี 2013 ที่ถือได้ว่าเป็นปีแรกที่ยอดขายเพลงในรูปแบบนี้ถดถอยลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีตั้งแต่ Apple เปิดตัว iTunes Store หรือว่านี่จะเป็นเพราะบริการเพลงในรูปแบบสตรีมมิ่งที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งไป?

Nielsen SoundScan ซึ่งเป็นหน่วยงานสำรวจวิจัยชั้นนำได้เผยผลการสำรวจยอดรายได้ในธุรกิจเพลงดิจิทัลปี 2013 พบว่ายอดขายเพลงในรูปแบบดิจิทัลเริ่มส่อแววของการถดถอยเสียแล้ว ซึ่งยอดดาวน์โหลดเพลงเดี่ยวในปี 2013 ทั้งปีนั้นลดลง 5.7% จาก 1,340 ล้านดาวน์โหลดเหลือ 1,260 ล้านดาวน์โหลด ในขณะที่ยอดดาวน์โหลดทั้งอัลบั้มลดลงเพียง 0.1% จาก 117.7 ล้านดาวน์โหลดเหลือ 117.6 ล้านดาวน์โหลด ซึ่งถือว่ายังใกล้เคียงกับตัวเลขเดิม

ในการคาดการณ์ของหลายๆ คนนั้น ตัวเลขการซื้อเพลงดิจิทัลที่ลดลงน่าจะมาจากรูปแบบการเสพดนตรีที่มีทางเลือกใหม่ นั่นก็คือรูปแบบสตรีมมิ่งที่ผู้ฟังสามารถสมัครบริการชั้นนำอย่าง Rdio หรือ Spotify แล้วฟังเพลงผ่านอินเทอร์เน็ตแบบสดๆ ได้โดยไม่ต้องมีการดาวน์โหลดมาเก็บไว้ในตัวเครื่อง อย่างไรก็ดี แม้ Nielsen SoundScan จะไม่ได้เปิดเผยตัวเลขรายได้ในช่องทางนี้ออกมา ก็เป็นที่คาดเดาได้ว่ารูปแบบเพลงสตรีมมิ่งกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมเพลงในปี 2013 นี้

ความเห็นผู้แปล

สำหรับใครที่ยังไม่คุ้นเคยนักกับบริการเพลงสตรีมมิ่ง ตัวอย่างที่ชัดเจนคือบริการที่ชื่อว่า Spotify (ยังไม่เปิดให้บริการในประเทศไทย) ซึ่งรวบรวมเพลงจากค่ายชั้นนำอย่าง Sony, EMI, Warner Music Group และ Universal ซึ่งบริการนี้เปิดให้สมาชิกสามารถฟังเพลงได้ไม่จำกัดในช่วงทดลองเป็นเวลา 6 เดือน หลังจากนั้นจะมีข้อจำกัดเรื่องเวลา แต่สมาชิกที่จ่ายเงินสามารถเลือกแพกเกจที่ต้องการเพื่อปลดข้อจำกัดเหล่านี้ได้

 Spotify ภาพประกอบจาก Uncrate

บริการประเภทนี้มาด้วยรูปแบบการใช้งานที่แตกต่างจากการดาวน์โหลดมาเก็บไว้ในเครื่อง ซึ่งผู้ฟังเป็นเจ้าของอย่างสมบูรณ์แบบและสามารถฟังเพลงได้ทุกเมื่อแม้ในเวลาที่ไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ แต่ด้วยความก้าวหน้าของอินเทอร์เน็ตที่เร็วและครอบคลุมมากขึ้น การฟังสดๆ จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจเพราะผู้ฟังสามารถเข้าถึงเพลงที่ต้องการได้ทุกเวลาเช่นกันโดยไม่ต้องเสียพื้นที่ความจำในการเก็บเพลงจำนวนมากไว้ นอกจากนั้นค่าบริการที่ผู้ฟังต้องจ่ายก็ถือว่าถูกลงและได้ฟังเพลงที่หลากหลายกว่าการดาวน์โหลดมาเก็บไว้ทีละเพลง แต่ค่าใช้จ่ายแฝงที่เกิดขึ้นก็คือค่าบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ผู้บริโภคมักไม่นึกถึงเท่าใดนักเพราะอย่างไรก็ต้องใช้งานเพื่อบริการอื่นๆ อยู่แล้ว นอกจากนั้นค่ายมือถือต่างๆ ก็ตั้งใจผลักดันด้วยการออกแบบแพ็กเกจค่าบริการที่รองรับการฟังเพลงแบบสตรีมมิ่งมากขึ้น ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากรายได้จากรูปแบบการดาวน์โหลดเพลงดิจิทัลจะถูกแบ่งมาสู่รูปแบบของสตรีมมิ่ง ซึ่งในช่วง 2-3 ปีต่อจากนี้เราคงจะได้เห็นการเติบโตของบริการสตรีมมิ่งมากขึ้นไปอีก ไม่เว้นแม้แต่ในเมืองไทยของเราเอง

ที่มา: Gizmodo