Site icon Thumbsup

“Digital Tranformation in Action” หนังสือที่สรุปเหตุและผลที่ธุรกิจของคุณจะตายไปหรือได้อยู่ต่อ

“วันนี้ไทยแพ้กระทั่งเวียดนามแล้ว”

เปิดหัวเรื่องกับการพูดคุยระหว่าง Thumbsup และคุณธนพงศ์พรรณ ธัญญรัตตกุล กูรูด้าน Digital Transformation ที่เขามองประเทศไทยและเทรนด์การปรับตัวของธุรกิจ SME ในทุกวันนี้ว่า “ช้าเกินไป” หากยังไม่มองเห็นความสำคัญในการปรับตัวและปล่อยให้ทุกอย่างสายเกินไป ประเทศไทยอาจอยู่ยากเกินไปในสายตาของคนทั่วโลก

แพ้ประเทศเพื่อนบ้าน

ธนพงศ์พรรณ ธัญญรัตตกุล นอกจากจะเป็นกูรูด้าน Digital Transformation แล้ว เขายังเป็น Co-Founder & CEO กลุ่มบริษัท ทู ทรี เปอร์สเปกทีฟ ผู้ให้บริการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่มีการให้ความรู้แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมากมาย มาวันนี้เขามองว่า “พูดเยอะเกินไป” จึงเขียนออกมาเพื่อถ่ายทอดข้อมูลหลายๆ ด้าน เผื่อว่าคนจะได้อ่านเห็นหนังสือเล่มนี้

ธนพงศ์พรรณ เล่าว่า ในแง่ของการปรับตัวธุรกิจเข้าสู่ดิจิทัลวันนี้เราแพ้เวียดนามแล้ว ทั้งที่หลายสิบปีก่อนเราเป็นเสือตัวที่ห้า เมื่อเทียบจาก ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ไต้หวัน ส่วนมาเลเซียเราแพ้เขาไปนานแล้ว ตอนนี้หนักกว่าคือแพ้เวียดนามไปแล้ว 

หากวัดประเทศไทยในเรื่องของการใช้งานดิจิทัลนั้น เรามีการใช้ในแง่การทำงานเพียง 14% เท่านั้น ตัวเลขที่ดูน้อยนั้นไม่ได้หมายถึงพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดีย แต่เป็นการนำมาใช้ในเชิงการทำงาน ตอนนี้เหมือนเรากำลังเป็นผู้บริโภคดิจิทัลกันทั้งประเทศ ไม่สามารถคิดค้นนวัตกรรมเองได้ แต่ต้องจ่ายเงินให้ต่างชาติเขามาช่วยพัฒนาระบบให้เรา นั่นแสดงว่าในอนาคตเราต้องจ่ายเงินซื้อ Iot, AI, 3D Printing ที่เป็นนวัตกรรมสำหรับอนาคต

เมื่อดิจิทัลเป็นปัจจัยใหม่ที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ผู้ประกอบการรุ่นใหม่จึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ ในขณะเดียวกัน ธุรกิจดั้งเดิมก็จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง เพราะถ้าไม่ปรับตัว ธุรกิจอาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกคู่แข่งแซงหน้าหรือถูกแทนที่ได้อย่างไม่ทันตั้งตัว

เริ่มต้นเปลี่ยนที่จุดไหน

หลายบริษัทที่ ธนพงษ์พรรณ เข้าไปแสดงวิสัยทัศน์ ต่างก็มีคำถามว่า เมื่อธุรกิจยังไปได้ ทำไมต้องเปลี่ยน หรือทำไมต้องทรานฟอร์มในเมื่อธุรกิจยังมีรายได้ดีอยู่ ไปจนถึงคำถามที่ว่าจะเริ่มที่จุดไหน

กรณีศึกษา Grab

การเข้ามาทำธุรกิจในไทยของ Grab นั้น หลายคนอาจมองภาพว่า Grab เข้ามาแย่งอาชีพของแท็กซี่ ที่จริงแล้ว Grab เข้ามาเพื่อ Disrupt ธุรกิจรถลีมูซีนแต่ด้วยราคาที่ผู้บริโภคในท้องตลาดรับได้ ทำให้เป็นการใช้งานในชีวิตประจำวัน เมื่อถามแผนต่อไปของ Grab จะไป Disrupt ธุรกิจอะไรอีก

การทำธุรกิจในวันนี้จะมองแค่การถูก Disrupt แบบตรงๆ ทางเดียวไม่ได้แล้ว แต่ต้องมองให้กว้างกว่านั้น ล่าสุด  Grab เพิ่งเข้าซื้อกิจการ Kudo ทำให้มีเพย์เมนท์เกตเวย์ของตนเองและเป็นคู่แข่งของธนาคาร นั่นแสดงให้เห็นว่าคู่แข่งที่น่ากลัวคือ คู่แข่งที่ Disrupt ข้ามธุรกิจ แม้วันนี้คุณจะเป็นคู่ค้ากัน แต่ใครจะรู้ว่าวันข้างหน้าคุณอาจจะโดนแย่งลูกค้าก็เป็นได้ หากไม่เตรียมรับมือให้ทันหรือไม่รู้กระแสคู่แข่งที่เข้ามา

“คุณจึงต้องเลือกว่าจะเป็นผู้ถูก Disrupt หรือ Transform เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ”

กรณีศึกษา AirBNB

การเข้ามาของ AirBNB คนอาจจะคิดว่ากระทบรายได้ธุรกิจโรงแรมและเสียโอกาสในกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติไปเสียแล้ว ในความตั้งใจของ Airbnb นั้น ไม่ได้มองแค่ภาพของธุรกิจโรงแรมเท่านั้น แต่เข้ามองคู่แข่งอย่าง Priceline Group ที่เพิ่งเปลี่ยนชื่อเป็น Booking Holding ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวต้องมองภาพให้ชัดก่อนว่า รายได้ของคุณมาจากที่ไหน ยอดจองห้องพัก เม็ดเงินในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การใช้จ่าย ความเป็นอยู่ ซึ่งหากคุณพัฒนาธุรกิจของคุณให้ดีและตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มที่เคยมาใช้บริการนั้น การเข้ามาของ Airbnb ไม่ได้กระทบอะไรเลย

แต่ถ้ามองแค่การเข้ามาของ Airbnb แล้ว ธุรกิจคุณอยู่ไม่ได้ ถูก Disrupt แน่นอนก็บอกได้แค่ว่า ไม่ว่าคุณจะเป็น สายการบิน โรงแรม เพย์เมนท์เกตเวย์หรืออะไรที่เกี่ยวข้องก็ตาม คุณเจ๊งแน่

“ถ้ามองแค่เรื่องการ Disrupt หาก Airbnb เข้ามา ผมมองว่าธุรกิจที่จะเจ๊งเป็นอันดับแรกๆ คือ Wongnai เพราะตอนนี้นักท่องเที่ยวสามารถหาข้อมูลทุกอย่างผ่าน Airbnb ได้แล้ว”

ล่าสุด สิ่งที่ Airbnb จะทำคือขายตั๋วคอนเสิร์ต แน่นอนว่าหากเปิดให้บริการในไทย ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ เจ๊งแน่ ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็หาทางรอดของธุรกิจตัวเองทั้งสิ้น อยู่ที่ว่าใครจะมองออกหรือไม่

รับมืออย่างไร

แน่นอนว่าคำถามที่ผู้บริหารของหลายธุรกิจสอบถามคือจะรับมืออย่างไรกับการเข้ามาของสตาร์ทอัพระดับโลกเหล่านี้ และนี่คือคำแนะนำที่อยากบอกคุณ

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ ยังมีแนวคิดที่น่าสนใจอีกมาก ซึ่งครั้งหน้าจะนำมาฝากกันอีกค่ะ