Site icon Thumbsup

‘Dress for Respect’ แคมเปญที่ฟ้องว่าหนุ่มๆ อาจไม่ได้แคร์สิทธิสตรีอย่างที่คุณคิด

เมื่อพูดคำงานทดลอง (Experiment) หลายคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อและมีแค่นักวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่ทำกัน แต่ในความเป็นจริง งานทดลองมีมากมายหลายแบบทั้งสายวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ไม่เว้นแม้แต่นักการตลาดที่นำการทดลองทางสังคมศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับแคมเปญโฆษณาเพื่อสร้างความว้าวให้แก่ลูกค้าเสมอ

Schweppers แบรนด์เครื่องดื่มจากสวิสเซอร์แลนด์ (หรือที่คนไทยคุ้นตากับผลิตภัณฑ์ “ชเวปส์มะนาวโซดา”) ร่วมมือกับ Ogilvy Brazil เพื่อปล่อยแคมเปญทดลองทางสังคม (social experiment) ที่พิสูจน์ว่าสาวชาวบราซิลใช้ชีวิตยากลำบากเพียงใด

แคมเปญนี้มีชื่อว่า “The Dress for Respect” หรือชุดกระโปรงแห่งความเคารพ จุดเริ่มต้นเกิดจากงานสำรวจความเห็นพบว่าสาวๆ ชาวบราซิลกว่า 86% มักถูกชายหนุ่มแต๊ะอั๋งระหว่างเข้าผับโดยไม่ยินยอมเป็นประจำ

ดังนั้นเพื่อพิสูจน์การล่วงละเมิดทางเพศ (sexual harassment) ให้เห็นเป็นรูปธรรม Schweppers จึงสร้างสรรค์ชุดกระโปรงเซกซี่สีดำที่มองผิวเผินเหมือนชุดธรรมดา แต่จริงๆ แล้วทุกอณูของเนื้อผ้ามีเซนเซอร์ตรวจจับความถี่และความแรงของการแตะเนื้อต้องตัวซ่อนอยู่ งานนี้หน้าม้าของเราก็เป็นสาวสวยหุ่นเซกซี่ 3 คนซึ่งสวมใส่ชุดอัจฉริยะก่อนออกไปสนุกในผับกลางเมือง Sao Paulo ประเทศบราซิล

ตัวอย่างวีดีโอแคมเปญ Dress for Respect

 

ผลการทดลองน่าตกใจมากเพราะภายในเวลาเพียง 3 ชั่วโมง 47 นาทีที่สาวหน้าม้าทั้ง 3 คนไปลั้ลล้าในผับ ชุดกระโปรงอัจฉริยะรายงานว่าพวกเธอถูกลอบแต๊ะอั๋งรวมทั้งสิ้น 157 ครั้ง! และตำแหน่งที่โดยจับเนื้อต้องตัวมากที่สุดคือหลังส่วนล่าง แขน และแผ่นหลังโดยรวม

นั้นหมายความว่าระหว่างโยกย้ายส่ายร่างกายในผับ ทุกๆ 2 นาที สาวๆ จะถูกแต๊ะอั๋งอย่างน้อย 1 ครั้ง ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่าหนุ่มบราซิลไม่แคร์เรื่องสิทธิของสาวๆ เลยทั้งที่ปัจจุบันคนจากทั่วทุกมุมโลกต่างก็ส่งเสริมเรื่องสิทธิสตรีกันอย่างแพร่หลาย และบราซิลก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่หน่วยงานราชการและเอกชนโปรโมทเรื่องสิทธิสตรีอย่างจริงจัง

ย้อนกลับมามองประเทศไทย เราอาจพบว่าแม้บรรยากาศของสังคมจะส่งเสริมเรื่องสิทธิสตรีกันอย่างแพร่หลายแต่ทางปฎิบัติจริงๆ เราอาจเป็นอีกหนึ่งสังคมชายเป็นใหญ่ (patriarchy) ที่ยังมองว่าการข่มขืนเกิดเพราะผู้หญิงแต่งตัวโป๊ มีแต่ผู้หญิงไม่ดีที่กล้าไปผับ และผู้หญิงสูบบุหรี่เป็นพวกกร้านโลก ไม่มีความเป็นกุลสตรี

บทสรุปคือความ “ปากว่าตาขยิบ” มันเกิดได้ทั่วโลกนั้นแหละ ถ้าคนในสังคมไม่พร้อมใจและเปิดใจเพื่อทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง