Site icon Thumbsup

ตลาดแอพฯ เรียก Taxi กำลังร้อนระอุ EasyTaxi เตรียมบุกไทยอีกราย!

Screen Shot 2556-10-22 at 2.52.50 AM

การเดินทางด้วย Taxi เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ได้รับความนิยมในบ้านเราไม่ใช่น้อย แต่หลายครั้งก็ประสบปัญหา เช่น หา Taxi ยาก (มากกกกก) โดยเฉพาะในวันที่ฝนตก บ้างก็เจอคนขับที่ปฏิเสธไม่ยอมรับผู้โดยสาร บางทีถ้ากลับดึกๆ ดื่นๆ สาวๆ ก็เกรงว่าจะไม่ปลอดภัย ดังนั้นจึงได้มีบริการเรียกรถ Taxi ง่ายๆ จากมือถือสมาร์ทโฟนของเรานั่นเอง

วันก่อนทีมงาน thumbsup ไปงาน Startup งานหนึ่ง และได้เจอหนึ่งในบริษัทที่ทำธุรกิจด้านนี้พอดี ก็อดไม่ได้ที่จะถามถึงรายละเอียดที่มาที่ไป และทิศทางของตลาดนี้ เราลองไปพูดคุยกับเธอเสียเล็กน้อยกับคุณนิคกี้ สุรไพฑูรย์ Cofounder และ Business Development Easy Taxi Thailand ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทของกลุ่มทุนขนาดใหญ่อย่าง Rocket Internets

thumbsup: EasyTaxi คือบริการเกี่ยวกับอะไร?
คุณนิคกี้ : อีซี่ แท็กซี่ ประเทศไทย (Easy Taxi Thailand) เป็นผู้นำและพัฒนาแอพพลิเคชั่น สำหรับเรียกแท็กซี่ บนมือถือสมาร์โฟน เพื่อทำให้การเรียกรถแท็กซี่กลายเป็นเรื่องง่ายๆ โดยไม่ต้องยืนรอตากฝน ลุยน้ำออกไปรอเรียกรถ   หรือพี่แท็กซี่ต้องไปส่งรถ เติมแก๊สค่ะ ในขณะเดียวกันเราก็อยากช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต และภาพลักษณ์ ของพี่ๆ คนขับแท็กซี่ ในสังคมไทยให้ดีขึ้นด้วย โดยตัวแอพฯ จะช่วยทำให้พี่แท็กซี่ เจอกับผู้โดยสารได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องจอดรอหรือขับรถวนหาผู้โดยสาร และในขณะเดียวกัน เราก็คำนึงถึงความ สะดวก ปลอดภัย และง่ายต่อการใช้งาน  เราอยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสังคมไทยให้น่าอยู่และปลอดภัยยิ่งขึ้นนั่นเอง

thumbsup: ที่มาที่ไปของธุรกิจนี้ และเปิดให้บริการในประเทศไหนแล้วบ้าง
คุณนิคกี้ : Easy Taxi เริ่มก่อตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2011ที่ ประเทศ บราซิล เกือบทุกเมืองใช้ Easy Taxi และมีมาแล้วกว่า 18 ประเทศทั่วโลก สามารถใช้งานได้จริงในประเทศไทยแล้ว ในขณะที่ภาพรวมทั่วโลกมีคนขับ 60,000 คน และ ผู้โดยสารกว่า 3,500,000 คน ที่ผ่านมามีเที่ยวโดยสารเกิดขึ้นมากกว่า 3 ล้านเที่ยว

thumbsup: บอกตรงๆ เห็นธุรกิจประเภทเดียวกันเข้ามาในไทยเวลาไล่ๆ กันหลายราย เป็นเพราะอะไร
คุณนิคกี้ : เพราะประเทศไทยยังเป็นตลาดใหม่สำหรับธุรกิจประเภทนี้ค่ะ ไม่ค่อยมีการใช้แอพฯ เพื่อจุดประสงค์นี้มากอย่างประเทศอื่นๆ มาก่อน

thumbsup: รูปแบบการหารายได้ปัจจุบัน?
คุณนิคกี้: ค่าบริการของการเรียก Taxi ด้วย Easy Taxi ตัวนี้นั้นอยู่ที่ 20 บาทต่อครั้ง ซึ่งเราจะต้องจ่ายเงินตอนที่พี่ Taxi เค้าส่งเราถึงที่ โดยรวมเข้าไปกับค่าบริการที่ผู้โดยสารต้องจ่ายตามมิเตอร์อยู่แล้ว เรายังไม่มีการเรียกเก็บค่าบริการเพิ่มเพื่อจะจ่ายให้แต่อย่างใด

thumbsup: คู่แข่งก็เยอะ อะไรคือจุดเด่นที่คิดว่ามีความแตกต่างอย่างชัดเจน
คุณนิคกี้: การเรียกใช้บริการแท็กซี่ในกรุงเทพแทบจะเป็นปัญหาของทุกคนที่ประสบร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการเรียกแล้วไม่ไป, ส่งรถ, เวลาต้องการกลับไม่มีแท็กซี่, สภาพรถน่ากลัว, คนขับไม่น่าไว้ใจ ฯลฯ หรือ สำหรับพี่แท็กซี่เองก็เหมือนกัน ต่างมีความกังวลในเรื่องความปลอดภัย ในคุณภาพชีวิตและทรัพย์สิน ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีปัญหาเหล่านี้ก็ยังวนเวียนจนเหมือนเราจะต้องทำใจยอมรับสภาพ Easy Taxi จะช่วยบรรเทาปัญหาเหล่านี่ โดยเรามีจุดเด่นคือ สามารถเรียกแท็กซี่ที่อยู่ใกล้เคียงเราที่สุด  ผู้โดยสารมองเห็นตำแหน่งแท็กซี่แบบ Real-Time  แสดงข้อมูลแท็กซี่ครบถ้วน ทั้งทะเบียนรถ, หน้าตาคนขับ พร้อมเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ  ผู้โดยสารสามารถให้คะแนนแท็กซี่ ซึ่งช่วยในเรื่องการควบคุณภาพของคนขับนั้น

อีกด้านนึงจะมาจากเสียงตอบรับของผู้โดยสาร ถ้าคนขับคนไหนมีเรื่องร้องเรียน ก็จะถูกปลดออกจากการร่วมโครงการของ Easy Taxi แต่ถ้าขับดีอันนี้ก็คงต้องฝากให้ผู้ใช้กดบอกสถานะผ่านแอพฯ กันด้วย เพื่อที่คนขับคนนั้นๆ จะได้มีกำลังใจในการทำงานกันต่อไป ในขณะเดียวกันทางเราก็มั่นใจและภูมิใจในคุณภาพการให้บริการของทาง Customer service ซึ่งจะมีการติดตามผล และแนะนำการใช้ Easy Taxi ทั้งแต่ผู้โดยสาร และ คนขับแท็กซี่อย่างใกล้ชิด เพราะเราถือว่าทั้งพี่แท็กซี่ และ ผู้โดยสารก็ต่างเป็นลูกค้าของเรา เรามั่นใจในตัวแอพฯ ที่มี  User interface ,  User experience  ที่ดี และ คุณภาพคนขับแท็กซี่ คือสิ่งที่จะทำให้  Easy taxi  แตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่นได้

thumbsup: ปัจจัยความสำเร็จของธุรกิจประเภทนี้ในบ้านเรามีอะไร อะไรคือความเสี่ยงบ้าง
คุณนิคกี้: จำนวน กับ คุณภาพ แท็กซี่ ที่เข้าร่วมโครงการ และ ปริมาณผู้ใช้ ต้องเจริญเติบโตไปพร้อมๆ กัน ในด้านของความเสี่ยงของธุรกิจเนื่องจากเป็นธุรกิจใหม่ จึงต้องใช้เวลาในการให้ความรู้แก่ทั้งคนขับและผู้โดยสารพอสมควรเลยค่ะ ถึงแม้ว่าจำนวนคนขับที่มี สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะมีอินเทอร์เน็ต ดังนั้นการให้ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันโครการ  Easy Taxi   ให้ประสบความสำเร็จในเมืองไทยได้

thumbsup: แน่นอนว่าหัวใจสำคัญของธุรกิจนี้คือปริมาณของ Taxi ที่เข้าร่วมโครงการ คุณมีวิธี นำเสนอเพื่อดึงเข้าร่วมโครงการอย่างไร
คุณนิคกี้: ทาง Easy Taxi เข้าถึงคนขับแท็กซี่ ด้วยวิธีการที่เราเรียกว่า  DDA (Direct Driver Acquisition) เป็นการเข้าถึงคนขับแท็กซี่แบบตัวต่อตัว ดังนั้นคนขับแท็กซี่ ที่ใช้ Easy Taxi  จึงมีความเข้าใจในการใช้แอพฯ เราพอสมควร เพราะเราเข้าหาโดยตรง และทาง Easy Taxi เข้าใจความต้องการพื้นฐานของคนขับแท็กซี่ ยังมีการติดตามคนขับแท็กซี่อย่างใกล้ชิด ให้ความสนิทสนม  เสมือนเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญเมื่อสร้างการใช้งานที่ดี แล้ว จะทำให้เพิ่มโอกาสการบอกต่อในกลุ่มคนขับด้วยกันได้

thumbsup:  ปิดท้ายอยากให้ฝากอะไรถึงผู้อ่าน
คุณนิคกี้: อยากให้ Easy Taxi Thailand เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเรียกแท็กซี่ของคนไทยค่ะ นอกจากจะสะดวก  ง่ายต่อการใช้งานแล้ว ผู้โดยสารก็มีความปลอดภัย เป็นการร่วมทำให้สังคมน่าอยู่ ถ้าใช้แล้วดีก็ช่วยบอกต่อกันนะคะ
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

จัดเป็นอีกบริการที่น่าจับตาในเชิงการแข่งขันทางธุรกิจที่มีผู้เล่นหลายรายจากต่างประเทศกระโดดเข้ามาในเวลาไล่เลี่ยกันไม่ว่าจะเป็น Uber เอง GrabTaxi เองทั้งเฟ้นหาทีมงาน ทั้งเตรียมตัวเปิดบริการ เรียกว่าร้อนแรงไม่ใช่น้อย และยังเป็นธุรกิจที่นำไปต่อยอดในแง่ของการรายงานผลการจราจรโดยอาศัยพลังจาก crowd-sourcing ได้อีกด้วย อีก 2-3 เดือนข้างหน้าเราจะกลับมาดูความเคลื่อนไหวในธุรกิจนี้กันอีกครั้งว่าเป็นอย่างไรบ้าง ใครจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตลาด