Site icon Thumbsup

ผลสำรวจจับตาดูอีคอมเมิร์ซของไทย สงครามเผาเงินยังไม่จบแบรนด์เตรียมรับมือ

iPrice บริษัทอีคอมเมิร์ซชั้นนำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้สรุปสงครามอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ที่บอกให้รู้ว่าสงครามนี้ยังไม่จบ เพราะ Alibaba ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซยังคงทุ่มเงินอย่างมหาศาลเพื่อกระตุ้นตลาดในไทยให้โตอย่างต่อเนื่อง

โดยการประกาศอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันจันทร์ที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา Alibaba เพิ่มเงินลงทุนใน Lazada กว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อรุกตลาดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งแต่งตั้ง CEO คนใหม่อย่าง Lucy Peng ซึ่งเป็น 1 ใน 18 ผู้ก่อตั้งบริษัท Alibaba ซึ่งเข้ามาแทนที่ CEO คนเก่าอย่าง Max Bittner ซึ่งผันตัวไปดำรงตำแหน่ง Senior Adviser ของ Alibaba

การลงทุนเพิ่มของ Alibaba ในบริษัท Lazada ในครั้งนี้ เป็นการขีดเส้นใต้อย่างชัดเจนแล้วว่า ทาง Alibaba มองเห็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะขึ้นเป็นแถบประเทศที่สำคัญต่อการเติบโตของบริษัท

บริษัท iPrice จึงได้จัดทำการศึกษาเปรียบเทียบการแข่งขันของบริษัทอีคอมเมิร์ซสัญชาติไทยชนต่างประเทศขึ้น โดยได้ทำการเก็บข้อมูล Traffic และ Social Media ตั้งแต่เดือนเมษายน-ธันวาคม 2560 ในการศึกษาที่ชื่อว่า The Map of eCommerce หรือ สงครามอีคอมเมิร์ซ และพบผลการศึกษาที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ย traffic ของร้านค้าอีคอมเมิร์ซโตกว่า 70% จากไตรมาสที่ 2 กล่าวคือร้านค้าอีคอมเมิร์ซมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เข้าชมอย่างรวดเร็วในช่วง 9 เดือน ซึ่งในช่วงปลายปีที่มีกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่องเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าออนไลน์มากยิ่งขึ้น

Chilindo แบรนด์ไทยหนึ่งเดียวที่หวังงัดข้อ Lazada

Chilindo เป็นแบรนด์อีคอมเมิร์ซที่ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทยโดยคุณ Caspar Bo Jensen ซึ่งบริษัทมีโมเดลธุรกิจที่แตกต่างจากร้านค้าอีคอมเมิร์ซอื่นๆอย่างสิ้นเชิง โดยมุ่งเน้นการขายสินค้าในรูปแบบประมูล โดยผู้บริโภคนั้นสามารถประมูลสินค้าเริ่มต้นเพียง 1 บาท

Chilindo มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2560 ที่ผ่านมา โดยในไตรมาสที่ 2 บริษัทอยู่อันดับที่ 4 โดยมี traffic อยู่ที่ 3,056,000 ครั้งต่อเดือน, ไตรมาสที่ 3 ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 3 โดยมี traffic 11,916,883 ต่อเดือน และไตรมาสล่าสุด Chilindo ขึ้นเป็นอันดับที่สอง รองจาก Lazada ยักษ์ใหญ่ โดยมี traffic 13,484,858 ครั้งต่อเดือน

คุณ Caspar CEO บริษัท Chilindo กล่าวว่า บริษัท Chilindo ได้ประโยชน์จากการกลับมาใช้บริการของลูกค้าเก่าอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเราคาดว่าการเติบโตนี้จะสูงขึ้นในปี 2018 โดยแผนการตลาดเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่ม traffic และจำนวนผู้ใช้งานรายใหม่ สุดท้ายแล้ว ทางบริษัทเชื่อในเรื่องของการพัฒนาสินค้า บริษัทใช้เวลากว่า 4 ปีในการพัฒนาเว็บ Chilindo ให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งหนึ่งในแผนก็คือการขยายตลาดไปยังประเทศมาเลเซียและเวียดนามในปี 2017”

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเปรียบเทียบกับบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติอย่าง Lazada ที่ครองตำแหน่งที่หนึ่งในด้าน traffic ตลอดปีที่ผ่านมา ล่าสุด Lazada มี traffic สูงถึง 75 ล้านครั้งต่อเดือน จึงถือว่าไม่ง่ายเลยที่บริษัทอื่น ๆ หรือแม้กระทั่ง Chilindo จะตีเสมอในเร็ว ๆ นี้

Shopee ขึ้นที่หนึ่งแซง Lazada บน App Store

สองยักษ์ใหญ่ที่เข้ามาจากต่างประเทศอย่าง Lazada และ Shopee ก็มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดตลอดมา แต่ถ้าหากพูดถึง Shopee แล้วนั้น ก็คงจะต้องพูดถึงการโฟกัสในระบบแอพพลิเคชั่นมากกว่าถึงจะแฟร์สำหรับเกมนี้

Shopee ให้ความสำคัญกับระบบแอพพลิเคชั่นมากกว่า เนื่องจากว่าผู้บริโภคสินค้าออนไลน์ใหม่ๆ นิยมซื้อสินค้าผ่านทางสมาร์ทโฟน จากข้อมูลจาก App Annie ช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ถึงแม้ Shopee จะเป็นรอง Lazada ตลอดมา แต่ไตรมาสที่ 4 ก็สามารถขึ้น Rank App Store เป็นอันดับหนึ่งที่มียอดดาวน์โหลดแซงหน้า Lazada ไปได้

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันอย่างดุเดือดระหว่างสองยักษ์ใหญ่นี้คงจะยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ เพราะในปีนี้ ยังมีกิจกรรมการส่งเสริมการขายจากทั้งสองบริษัทที่จะโปรโมทให้บริษัทดังเป็นพลุแตกอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นครบรอบวันเกิดของแต่ละบริษัท, แคมเปญ 11.11 และ 12.12 เป็นต้น

การแข่งขันในช่องทางโซเชียลมีเดีย

จากที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าโซเชียลมีเดียเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทางบริษัทใช้ในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งแต่ละบริษัทมีกลยุทธ์ในการเลือกช่องทางการสื่อสารที่แตกต่างกันออกไป โดยมีช่องทางหลักๆดังนี้ Facebook, Instagram, LINE

จากการศึกษาในปีที่ผ่านมาพบว่า

  1. Carnival แบรนด์แฟนชั่นไทยนำแบรนด์เทศใน Instagram 

Instagram ไม่ได้รับความนิยมจากร้านค้าอีคอมเมิร์ซมากนัก เนื่องจาก Instagram เหมาะกับร้านค้าอีคอมเมิร์ซที่ต้องการโชว์ภาพสินค้าแนวแฟชั่นมากกว่า ดังนั้นอีคอมเมิร์ซจึงไม่ให้ความสนใจกับช่องทางนี้

Carnival แบรนด์สตรีทแฟชั่น ให้ความสำคัญกับรูปภาพที่โพสต์บน Instagram โดยคำนึงถึงองค์ประกอบของรูปภาพทั้งด้านแสง, สี และการวางสินค้าที่มีความเป็นเอกลักษณ์ และสามารถถ่ายทอดรายละเอียดของรองเท้าได้เป็นอย่างดี

IG ของ Carnival ที่แสดงภาพสินค้าสุดชิคและให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าอย่างน่าสนใจ

นอกจากนี้แต่ละโพสต์จะมีการบอกรายละเอียดที่ลูกค้าต้องการอย่างชัดเจน อาทิ จำนวนสินค้า, ไซส์ และราคาของสินค้าที่วางขาย รวมถึงช่องทางในการสั่งซื้อที่สะดวก Instagram จึงเป็นจุดแข็งที่ทำให้ Carnival ประสบความสำเร็จในการทำตลาดแฟชั่นด้วย Instagram

  1. Karmart ตีตื้น Lazada ใน LINE

ด้วยเป็นแบรนด์ไทยที่เข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคทั้งทางด้านสินค้า และทางการรับข้อมูล Karmart เลือกใช้ LINE เป็นช่องทางหลักในการสื่อสารกับลูกค้าคนไทย ที่นิยมใช้ LINE เป็นแอพพลิเคชั่นหลัก โดย Karmart มีผู้ติดตามใน LINE กว่า 14 ล้านคน ซึ่ง Lazada ที่มาอันดับหนึ่งนั้นมีผู้ติดตาม 20 ล้านคน

Karmart ให้ข้อมูลและโปรโมชั่นต่างๆ บน Line Chat

ดังนั้น ปี พ.ศ. 2561 นี้ จึงถือว่าเป็นปีที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับตลาดอีคอมเมิร์ซทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เนื่องจากมีข่าวการลงทุนมากมายที่จะเข้ามาเสริมให้ตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศแถบนี้โตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งแน่นอนว่าผลประโยชน์คงตกไปอยู่ที่ผู้บริโภค เนื่องจากผู้บริโภคจะมีตัวเลือกที่มากขึ้นในแง่ของสินค้าและคุณภาพของบริการ และที่สำคัญเงินลงทุนนี้จะเสริมให้ผู้บริโภคหันเข้ามาช้อปออนไลน์มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายเล็กๆ นั่นเอง