Site icon Thumbsup

E-coupon ยุคใหม่ ส่งจากทีวีสู่โทรศัพท์มือถือแบบเรียลไทม์

การชมโทรทัศน์อาจไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อและทำการตลาดยากในยุคที่คนสนใจสมาร์ทโฟนอีกต่อไป เพราะตอนนี้มีเทคโนโลยีใหม่ที่น่าสนใจมากต่อวงการการตลาดในอนาคต โดยเทคโนโลยีนี้จะทำให้ผู้บริโภคได้รับคูปองอิเล็กทรอนิกหรือ E-coupon สินค้าน่าสนใจที่ได้ชมบนรายการโทรทัศน์แบบเรียลไทม์ รวมถึงข้อมูลดิจิตอลอื่นๆของสินค้าได้ทันใจผ่านโทรศัพท์มือถือ

เจ้าของเทคโนโลยีแห่งอนาคตนี้คือ Fujitsu ยักษ์ใหญ่ด้านไอทีและอิเล็กทรอนิกส์สัญชาติญี่ปุ่นนำเทคโนโลยีนี้มาโชว์ตัวในงาน CEATEC 2012 (ย่อมาจาก Combined Exhibition of Advanced Technologies) มหกรรมสินค้าไฮเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มเปิดงานเมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา

จากการสาธิตในงานนี้ ผู้ชมโฆษณาทีวีจะสามารถเล็งโทรศัพท์มือถือของตัวเองไปที่โทรทัศน์ (ซึ่งกำลังฉายโฆษณาที่น่าสนใจอยู่) ด้วยระยะห่าง 2-3 เมตรจากหน้าจอ จากนั้น ระบบจะส่งข้อมูลดิจิตอลที่เกี่ยวกับโฆษณานั้นๆ ทั้งที่อยู่เว็บไซต์ URL, คูปองส่วนลด และข้อมูลอื่นๆมาที่สมาร์ทโฟนของผู้ชมได้แบบเรียลไทม์ทันใจ

เทคโนโลยีของ Fujitsu นั้นช่วยต่อยอดโลกแห่งการโฆษณาบนโทรทัศน์ได้อย่างน่าสนใจ เพราะที่ผ่านมาโฆษณาบนทีวีมักจะสร้างแต่การรับรู้ให้ผู้ชม ซึ่งนักการตลาดได้แต่หวังว่าโฆษณาโทรทัศน์ที่ลงทุนไปมหาศาลนั้น จะช่วยจูงใจให้ผู้บริโภคเดินซื้อหรือใช้บริการกันมากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินค้าและบริการอย่างไม่ต้องสงสัย

เทคโนโลยีของ Fujitsu ที่นำมาโชว์ในงาน CEATEC 2012 นี้สามารถเป็นทางเลือกใหม่แทนการแสดงภาพ QR code บนทีวี โดยระบบของ Fujitsu หันมาใช้การฝังหรือ embed ข้อมูลดิจิตอลบนหน้าจอทีวีในรูปแสงกระพริบหรือ light flashing ในระดับความถี่และความสว่างที่แตกต่างกัน แสงกระพริบนี้ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยสายตามนุษย์ แต่สมาร์ทโฟนสามารถรับรู้ได้

รายงานระบุว่า ข้อมูลดิจิตอลที่เกี่ยวกับโฆษณาทีวีทั้ง URL หรือคูปองส่วนลดนั้นจะถูกส่งเข้าสู่สมาร์ทโฟนของผู้ใช้ในเวลา 2-3 วินาทีหลังจากผู้ใช้เริ่มส่องโฆษณานั้นในมุมที่เหมาะสม ถือเป็นเวลาที่รวดเร็วทันใจจนสามารถเรียกว่าเรียลไทม์ได้อย่างแท้จริง

สำหรับ CEATEC นั้นเป็นงานแสดงเทคโนโลยีสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดขึ้นทุกปีตั้งแต่ปี 2000 ที่ผ่านมา สำหรับงานปีนี้ ผู้จัดคาดว่ายอดผู้ชมงานมีจำนวนมากถึง 200,000 คน ท่ามกลางบริษัทกว่า 624 รายที่ร่วมแสดงนวัตกรรม ซึ่งราว 161 แห่งเป็นบริษัทนอกญี่ปุ่น แม้จะมีบริษัทจีน 22 รายที่ต้องยกเลิกการเข้าร่วมงานไปเพราะข้อขัดแย้งด้านดินแดนระหว่าง 2 ประเทศ

ที่มา: PSFK