Site icon Thumbsup

Elizabeth Warren เห็นอะไร? จึงมุ่งปูพรมบรอดแบนด์ทั่วสหรัฐฯ ดัดหลังบริษัทใหญ่

Elizabeth Warren เป็นวุฒิสมาชิกสหรัฐอเมริกาจากพรรคเดโมแครตที่กำลังสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งปี 2020 ตลอดเวลา Warren มีชื่อเสียงเพราะการแสดงจุดยืนต้องการลดบทบาทบริษัทยักษ์ใหญ่ไอที เนื่องจากไม่ต้องการให้ Big Tech มีผลกระทบกับธุรกิจรายย่อยและการสร้างนวัตกรรมจนไม่เกิดการแข่งขัน

ล่าสุด สว.คนดังประกาศเพิ่มว่าหากชนะการเลือกตั้ง จะปูพรมสร้างบรอดแบนด์สาธารณะทั่วสหรัฐฯ บนงบ 85,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สะท้อนวิสัยทัศน์ไม่ธรรมดาที่อาจจะเปลี่ยนโฉมธุรกิจแดนลุงแซมและโลกไปด้วย

Warren ประกาศต่อสาธารณชนอเมริกันผ่าน โพสต์ของ Medium ว่าเธอจะใช้เงินราว 85,000 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อให้บริการบรอดแบนด์สาธารณะรูปแบบใหม่ โครงการนี้จะสนับสนุนและขยายการเข้าถึงบรอดแบนด์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบทห่างไกลของสหรัฐฯ ซึ่งเชื่อว่าจะเพิ่มการแข่งขันและกระตุ้นเศรษฐกิจให้ชาวอเมริกันได้อย่างจริงจัง

งบประมาณนี้จะครอบคลุม 90% ของค่าใช้จ่ายในการติดตั้งบรอดแบนด์ และจะยิ่งใหญ่ด้วยรัศมีทำการ 100% ของพื้นที่เขตเมืองและชนบท เพื่อให้บริการประชาชนผ่านองค์กรไม่หวังผลกำไร หน่วยงานรัฐบาล และสหกรณ์ในเขตชนบท ทั้งหมดนี้จะอยู่ในรูปข้อตกลงใหม่หรือ New Deal ซึ่งอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ “Franklin Roosevelt” เคยลงทุนใหญ่เพื่อปูพรมบริการด้านไฟฟ้าและโทรศัพท์ในพื้นที่ชนบท ซึ่งปัจจุบัน พื้นที่ดังกล่าวมักจะขาดบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในลักษณะเดียวกัน

 

ปลดล็อกโอกาส

Warren อธิบายว่าหนึ่งในเครื่องมือที่ดีที่สุดสำหรับปลดล็อกโอกาสทางเศรษฐกิจ และการดูแลสุขภาพแบบสะดวกสบายประสิทธิภาพสูงเช่น telemedicine คือการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่เชื่อถือได้ ดังนั้นในศตวรรษที่ 21 บ้านทุกหลังควรมีสิทธิ์เข้าถึงเทคโนโลยีบรอดแบนด์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงนั้นไม่ได้ใกล้เคียงเลยกับฝันสวยหรูนี้

สว. คนเก่งชี้ว่าวันนี้สหรัฐฯกำลังมีช่องว่างในการเข้าถึงบรอดแบนด์ บางส่วนยังต้องใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วขั้นต่ำ 25 Mbps / 3 Mbps เท่านั้น ปัญหานี้มีลักษณะเดียวกับช่วงปี 1930 ที่บริษัทโรงไฟฟ้าหลายรายไม่ยอมลงทุนให้บริการในพื้นที่ชนบท แล้วปล่อยให้คนกลุ่มนี้ไม่มีไฟฟ้าใช้งาน

“เช่นเดียวกับเมื่อ 80 ปีที่แล้ว บริษัทอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ของสหรัฐฯก็มองข้ามพื้นที่ใหญ่ในชนบทไป และยังไม่ยอมแข่งขันกันเองด้วยการพยายามคงที่ค่าบริการให้อยู่ในระดับสูง แถมยังใช้กองทัพนักล็อบบี้เพื่อไม่ให้รัฐสามารถสร้างเครือข่ายของตัวเองได้ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็พยายามดึงเงินภาษีหลายพันล้านเหรียญไปให้ ISP เอกชนเพื่อขยายบรอดแบนด์ไปยังพื้นที่ห่างไกล แต่ผู้ให้บริการเหล่านี้ก็ดำเนินการ “ขั้นต่ำสุด” จนทำให้ความเร็วอินเทอร์เน็ตต่ำกว่าระดับมาตรฐาน” ตามเนื้อความของ Warren ที่แสดงถึงวิสัยทัศน์ตรงกับโลกธุรกิจบรอดแบนด์ของหลายประเทศรวมถึงไทย

สรุปแล้ว Warren ต้องการดัดหลังธุรกิจ ISP ด้วยการวางแผนเปลี่ยนกฎหมายใน 26 รัฐ เป็นการสานต่อจากปี 2015 ที่คณะกรรมการการสื่อสารแห่งชาติ (Federal Communications Commission) ในสมัยประธานาธิบดีโอบามาได้พยายามที่จะคว่ำกฎหมายของรัฐบางอย่าง แต่ศาลปกครองได้ตัดสินว่าหน่วยงานนั้นไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐสภา คาดว่าหากทำได้ประชาชนทั้งประเทศที่อยู่ในและนอกพื้นที่ห่างไกลจะได้รับประโยชน์ เพราะวันนี้อิทธิพลของกลุ่มทุนใหญ่กำลังแทรกแซงการเมืองและทำให้กลไกของรัฐกลายเป็นเครื่องรับใช้เอกชนมากกว่าประชาชน ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ในที่สุด

เสริมการแข่งราคา

Warren ยืนยันว่าจะใช้มาตรการหลากหลายเพื่อเพิ่มการแข่งขันในธุรกิจบรอดแบนด์ เช่น มอบส่วนลดให้ประชาชนยากจนในพื้นที่ห่างไกลได้ใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็ว 100 Mbps/100 Mbps ขณะเดียวกันก็จะห้ามเจ้าของที่หรือ landlord ไม่ให้แอบไปลงนามข้อตกลงพิเศษกับบริษัท ISP โทรคมนาคมอื่นจนทำให้ผู้อาศัยจริงไม่อาจใช้บริการบรอดแบนด์ของรัฐได้

 

นโยบายนี้สะท้อนว่า Elizabeth Warren ตั้งใจชนช้างไม่ไว้หน้าบริษัท ISP รายใหญ่ใด จุดยืนนี้ยิ่งทำให้ Warren ได้รับความสนใจมากขึ้นอีกหลังจากประกาศนโยบายพร้อมจับบริษัทไอทียักษ์ใหญ่อย่าง Google, Facebook, Amazon แยกเป็นบริษัทย่อย เป้าหมายก็เพื่อลดอิทธิพลของบริษัทเหล่านี้ลง ซึ่งเป็นผลจากการทุ่มเงินไล่ซื้อกิจการจนทำให้ธุรกิจรายเล็กแข่งขันไม่ได้ ที่เห็นชัดคือธุรกรรมอีคอมเมิร์ซในสหรัฐฯที่อยู่บน Amazon เกินครึ่ง และทราฟฟิกอินเทอร์เน็ต 70% ไปอยู่กับ Google หรือ Facebook

สำหรับ Elizabeth Ann Warren เกิดในเมืองโอคลาโฮมาเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 1949 เป็นลูกสาวคนที่ 4 ของครอบครัวระดับกลางซึ่งพบวิกฤติช่วงอายุ 12 ปี พ่อของ Warren ซึ่งทำงานเป็นพนักงานขายของบริษัท Montgomery Ward มีอาการหัวใจวาย ทำให้ครอบครัวต้องแบกรับค่ารักษาพยาบาลจำนวนมาก รวมถึงข้อจำกัดที่ทำให้เขาทำงานไม่ได้ ในที่สุดรถยนต์ของครอบครัวก็ถูกยึดคืนเพราะไม่สามารถชำระเงินค่างวด แม่ของ Warren จึงหางานทำพร้อมกับ Warren ในวัย 13 ปีก็เริ่มทำงานที่ร้านอาหารของป้าเพื่อหารายได้เสริม

Warren กลายเป็นดาวเด่นของทีมโต้วาทีที่โรงเรียน Northwest Classen High School และชนะการโต้วาทีระดับมัธยมปลาย นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลทุนโต้วาทีของมหาวิทยาลัย George Washington University ขณะอายุ 16 ปี ซึ่งในตอนแรก Warren ยอมรับว่าหวังจะเป็นอาจารย์ แต่หลังจากเข้าศึกษาที่ GWU เพียง 2 ปีก็หยุดเรียนในปี 1968 เพื่อแต่งงานกับ Jim Warren ซึ่งทั้งคู่พบกันครั้งแรกที่โรงเรียนมัธยม

Warren และสามีย้ายไปพำนักที่ฮูสตัน โดยสามีทำงานที่ IBM ขณะที่เธอลงทะเบียนเรียนที่มหาวิทยาลัยฮูสตันและจบการศึกษาในปี 1970 ด้วยปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาการพูดและโสตวิทยา

Warrens ย้ายไป New Jersey เมื่อ Jim ต้องโอนย้ายงาน ไม่นาน Warrens ก็ตั้งท้องและตัดสินใจที่จะอยู่บ้านเพื่อดูแลลูกสาวชื่อ Amelia หลังจากเด็กน้อยอายุ 2 ขวบ (ภาพเด็กด้านล่าง) Warrens ก็ลงทะเบียนเรียนในโรงเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัย Rutgers University ก่อนจะสำเร็จการศึกษาในปี 1976 ตัว Warrens ก็ตั้งท้องลูกคนที่ 2 คือ Alexander และได้รับปริญญาเอกในเวลาต่อมา

Warrens ตัดสินใจหย่าร้างในปี 1978 ช่วง 2 ปีต่อมาจึงตัดสินใจแต่งงานกับ Bruce H. Mann อาจารย์กฎหมาย แต่ยังเก็บนามสกุลของสามีคนแรกไว้ และขณะนี้ Warrens มีหลานย่าไว้เชยชมแล้ว

ตามแบบฟอร์มการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินสาธารณะที่ยื่นต่อเจ้าหน้าที่การเลือกตั้งระดับชาติในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 สามีและ Warrens มีทรัพย์สินมูลค่าสุทธิรวมกันระหว่าง 4-11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 123-338 ล้านบาท.

ที่มา: : FastCompany