Site icon Thumbsup

10 เคล็ดลับทำ “E-mail Marketing” ให้เลิศ (Infographic)

cats
การทำการตลาดบนอีเมล (E-mail Marketing) ถึงแม้จะเป็นรูปแบบดั้งเดิมที่มีใช้อย่างยาวนาน แต่ก็ยังสามารถคงประสิทธิภาพในการทำงานและความนิยมได้มาจนถึงปัจจุบัน และก่อนหน้านี้ถึงแม้ Thumbsup จะเคยได้นำเสนอเคล็ดลับในการทำการตลาดผ่านอีเมลไปแล้วบ้างก็ตาม แต่ในวันนี้ยังมีเคล็ดลับในการทำตลาดผ่านอีเมลนำเสนอเพิ่มเติมอีกกว่า 10 ข้อจากเว็บไซต์ GDCS เพื่อช่วยให้การทำการตลาดบนอีเมลในยุคปัจจุบันมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

1. นำเสนอรูปแบบบนอีเมลให้เหมาะสมกับภาพลักษณ์ของแบรนด์ หมายถึง รูปแบบและองค์ประกอบที่ใช้ในการนำเสนอบนอีเมลไม่ว่าจะเป็น สีสันและรูปแบบของตัวอักษร จะต้องเป็นหนึ่งเดียวกับแบรนด์ ซึ่งสามารถสะท้อนความเป็นตัวตนของแบรนด์ได้เป็นอย่างชัดเจน

2. ใช้หัวข้ออีเมลที่ดึงดูดความสนใจของผู้รับ หัวข้ออีเมล (E-mail Subject) เรียกได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของอีเมลที่ช่วยดึงดูดความสนใจของผู้รับให้เปิดอ่านเนื้อหายภายใน หัวข้ออีเมลที่ดีนั้นจะต้องสามารถบอกเล่าและเชื่อมโยงถึงเนื้อหาในอีเมลได้อย่างชัดเจน

3. นำเสนอเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ สิ่งสำคัญที่ต้องนึงถึงอยู่เสมอในการนำเสนอบนอีเมล ก็คือ เนื้อหาที่ใช้ต้องมีคุณค่าและเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน นอกจากนี้เนื้อหาควรมีความเรียบง่าย, ไม่ซับซ้อน, สามารถสื่อสารได้เข้าใจง่ายและตรงประเด็น

4. บันเทิง กระชับและเป็นธรรมชาติ ทั้ง 3 คำเป็นคำนิยามที่ต้องให้ความสำคัญในการนำเสนอบนอีเมลอยู่เสมอ ประกอบด้วย เนื้อหาที่นำเสนอจะต้องสอดแทรกด้วยความบันเทิงเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน รวมถึงสั้นกระชับและที่ขาดไม่ได้ คือ จะต้อง มีความเป็นธรรมชาติ หลีกเลี่ยงรูปแบบในการนำเสนอที่คล้ายกับหุ่นยนต์หรือที่มักพบเห็นได้บ่อยบนอีเมลรบกวน

5. ใช้ปุ่ม “Call To Action” ด้วยรูปแบบการนำเสนอข่าวสารผ่านอีเมลที่มักนำเสนอได้เพียงขนาดสั้นๆเท่านั้น ดังนั้นการนำปุ่ม Call To Action มาใช้จะช่วยให้ผู้รับสามารถเชื่อมโยงเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่มีความสมบูรณ์อย่างบล็อกและเว็บไซต์ ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

6. ส่งอีเมลในปริมาณที่เหมาะสม ในการส่งอีเมลไม่ควรส่งบ่อยครั้งหรือถี่จนเกินไป เพราะอาจทำให้ผู้รับเกิดความเบื่อหน่าย และรำคาญ จนทำให้หมดความสนใจต่อแบรนด์นั้นไปโดยสิ้นเชิง

7. ตรวจสอบความถูกต้องของตัวสะกด หลายครั้งที่ผู้รับมักพบเห็นความผิดพลาดของเนื้อหาที่เกิดจากการสะกดคำผิดบนอีเมลกันบ่อยครั้ง ซึ่งความผิดพลาดเหล่านี้เองเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกหงุดหงิด รำคาญใจและอาจทำให้เกิดทัศนคติด้านลบที่มีต่อแบรนด์

8. มีรูปแบบรองรับการใช้งานที่หลากหลาย หมายถึง สามารถรองรับการใช้งานกับอุปกรณ์ได้หลากหลายประเภทไม่ว่าจะเป็น เดสก์ท็อป รวมถึงอุปกรณ์เคลื่อนที่แทบขาดไม่ได้ในยุคนี้ อย่าง “แท็บเล็ตและโทรศัพท์สมาร์ทโฟน”

9. ทดสอบการส่งอีเมลเพื่อตรวจเช็คความถูกต้อง ขั้นตอนการตรวจสอบนั้นจะช่วยให้แบรนด์เช็คได้ว่า อีเมล รวมถึงลิงค์ที่ใช้บนอีเมลนั้นสามารถใช้งานได้จริงหรือไม่ นอกจากนี้ยังเป็นขั้นตอนที่ช่วยตรวจสอบถึงความถูกต้องในการสะกดคำซ้ำอีกครั้งด้วยเช่นกัน

10. สนับสนุนการแชร์ต่อบนโซเชียลมีเดีย ในช่วงท้ายของอีเมลควรมีการกระตุ้นให้ผู้อ่านมีการแชร์ต่อถึงสิ่งที่ได้รับจากการนำเสนอบนอีเมล ไปยังโซเชียลมีเดียอีกหลากหลายช่องทางไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter หรือ Pinterest และหากเนื้อหาที่นำเสนอยิ่งเป็นประโยชน์และมีความน่าสนใจ ก็จะยิ่งเป็นการเปิดโอกาสในการแชร์ต่อมากยิ่งขึ้น

ที่มา: GCDS