Site icon Thumbsup

ปรากฏการณ์ Ensogo crisis โอกาสของแบรนด์บนภาวะวิกฤติของผู้บริโภค

ท่ามกลางความเงียบกริบของ Ensogo หลังมีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เสียงที่ได้ยินดังขึ้นคือฝั่งลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการซื้อดีลไปแล้ว แต่ในความโชคร้ายของผู้บริโภคยังมีหลายแบรนด์ออกมาโอบอุ้มผู้บริโภค ถึงจะต้องเข้าเนื้อตัวเองก็เถอะ เราจึงอยากเรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่าปรากฏการณ์ เพราะมันอาจจะเป็นครั้งแรกๆ ที่ความเสียหายจากธุรกิจหนึ่งกลายเป็นโอกาสให้อีกหลายๆ แบรนด์ลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อชดเชยผลกระทบที่เกิดขึ้น 

หลังมีข่าว Ensogo ปิดกิจการในแถบอาเซียนแบบสายฟ้าแล่บ นอกจากจะต้องเห็นใจพนักงานของ Ensogo ที่ถูกเลย์ออฟแล้ว ผู้บริโภคคือกลุ่มคนอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เพราะยังมีอีกหลายคนที่ซื้อดีลไปแล้ว แต่ยังไม่ได้ใช้ และในตอนนี้ก็เท่ากับว่าเงินที่จ่ายไปกลายเป็นแค่กระดาษที่ไม่มีมูลค่า ดุจสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ไม่ถูกรางวัล และทาง Ensogo เองก็ไม่ได้ออกมาชี้แจงหรือแก้ปัญหาให้ทันท่วงทีอย่างทีควรจะเป็น

ความรู้สึกของคนที่ซื้อดีลในเวลานั้นคงไม่ต่างอะไรกับการถูกลอยแพ และสิ่งที่ตามมาก็คือ กระทู้พันทิปและความโกลาหล ที่เราเห็นตลอดทั้งวันหลังจากการเห็นภาพการปิดบริษัท

แต่ในวิกฤติของ Ensogo ก็ยังเป็นโอกาสของแบรนด์อื่น เพราะตลอดวันนี้มีประกาศจากร้านอาหารหลายๆ เจ้าที่ช่วยให้ผู้บริโภคอุ่นใจมากขึ้น ถึงแม้จะซื้อดีลกับบริษัทที่ปิดกิจการแบบสายฟ้าแล่บ แต่ดีลที่ซื้อไปยังคงใช้งานได้ตามปกติ โดยที่ทางร้านจะไม่ได้เงินคือนจาก Ensogo ตามที่ตกลงกันไว้ นั่นคือส่วนที่แบรนด์เหล่านี้ต้องแบกรับ

นอกจากร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ ก็ยังมีอีกหลายๆ แบรนด์ที่ไม่ได้รับผลกระทบ แต่ก็ออกมาใช้จังหวะนี้ในการเรียกคะแนนนิยมเหมือนกัน

อัปเดตล่าสุด คืนวันที่ 22 มิถุนายน หน้าเว็บไซต์ยังเข้าไปใช้งานได้ตามปกติ ส่วนหน้าแฟนเพจของ Facebook ก็ยังมีอยู่ไม่ได้ปิดไปไหน แต่ไร้การแถลง และโดนถล่มจนเรทติ้งเหลือแค่ 1.2 ดาวเท่านั้น และไม่มีการตอบคำถามของลูกค้าที่เข้ามาทวงถามการชดเชยผลกระทบ ซึ่งก็คาดว่าอาจจะไม่มีพนักงานมานั่งทำหน้าที่แล้ว

เราคงไม่สรุปว่าร้านค้าที่ “เคย” ร่วมทำธุรกิจกับ Ensogo และต้องมารับมือและแบกรับสถานการณ์นี้ว่าถูกหรือผิดในการตัดสินใจในสิ่งที่แบรนด์ทำแต่อย่างใด เพราะการร่วมทำธุรกิจในลักษณะนี้มีความเสี่ยงในการแบกรับต้นทุนที่ทำเพื่อการประชาสัมพันธ์และกระตุ้นให้คนเข้ามาที่ร้านอยู่แล้วเป็นทุนเดิม และสถานการณ์ของแต่ละแบรนด์แต่ละเจ้านั้นไม่เหมือนกัน

แต่เราต้องขอมองในมุมที่สถานการณ์เกิดขึ้นว่า เป็นโอกาสของแบรนด์ที่มองเห็นช่องทางในการเข้าทำการตลาดแบบทันทีทันใดในจังหวะที่เหมาะสม ไม่ใช่แค่การรักษาและคงสิทธิประโยชน์ที่ลูกค้าพึงได้รับเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่เขาได้คือการเยียวยาให้ลูกค้าพร้อมกับการได้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ

หากจะเรียกวิกฤติที่เกิดขึ้นว่าเป็น การฉวยโอกาสทางธุรกิจที่มีทั้งสองหน้า ก็คงไม่ผิดนัก เพราะมันอยู่ที่ว่าแบรนด์จะเลือกฉวยโอกาสกับลูกค้าในด้านไหนมากกว่ากัน…